กิจกรรม อยากให้น้องลอง “บิน” ณ โรงเรียนแสนสุข จ.ชลบุรี

สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือจิสด้า ร่วมกับ ศูนย์ภูมิภาคเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ ภาคตะวันออก คณะภูมิสารสนเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา, Drone Academy Thailand และ DevDroneMapper เปิดโอกาสให้เยาวชนได้สัมผัสกับเทคโนโลยีโดรนในกิจกรรม อยากให้น้องลอง “บิน” ภายใต้โครงการสร้างความตระหนักด้านเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ ระดับเยาวชน วันที่ 20 ธันวาคม 2560 ณ โรงเรียนแสนสุข จ.ชลบุรี เพื่อให้เยาวชนมีโอกาสเข้าถึงเทคโนโลยีโดรน ส่งเสริมให้มีความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับเทคโนโลยี แนะนำการประยุกต์ใช้โดรนเพื่อการเรียนการสอนในโรงเรียน และที่สำคัญที่สุดคือการสร้างแรงบันดาลใจต่อยอดสู่การการพัฒนาประเทศด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในอนาคต โดยมีน้องๆระดับมัธยมศึกษาตอนปลายที่มีใจรักด้านอากาศยานเข้าร่วมจำนวน 104 คน

นายสุพัฒน์ จิรัสคามินผู้อำนวยการโรงเรียน ชำนาญการพิเศษ โรงเรียนแสนสุข ได้ให้เกียรติกล่าวต้อนรับคณะวิทยากรอย่างอบอุ่นและเป็นกันเอง โดยท่านยังเน้นย้ำถึงความสำคัญของเทคโนโลยีอวกาศที่ไม่ไกลเกินเอื้อมอีกต่อไป เป็นประโยนช์ต่อมนุษยชาติในอนาคตอย่างแน่นอน และกิจกรรมในวันนี้นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการช่วยจุดประกายความชอบของเยาวชนที่จะสามารถต่อยอดสู่ความเป็นมืออาชีพในด้านเทคโนโลยีอวกาศต่อไปในอนาคต

กิจกรรมอยากให้น้องลอง “บิน” ประกอบด้วยฐานการเรียนรู้ต่างๆมากมายที่ออกแบบมาเพื่อให้น้องๆได้เรียนรู้และแสดงทักษะความสามารถที่หลากหลาย รวมถึงโอกาสที่จะได้รับฝึกฝนทักษะโดยตรงกับผู้เชี่ยวชาญ อาทิเช่น การควบคุมโดรนผ่านโปรแกรมจำลองการบิน การสาธิตการบินโดรนจากมือชีพ การเรียนรู้การบินโดรนให้ปลอดภัยและถูกกฏหมาย การเรียนรู้การควบคุมโดรนขนาดเล็กด้วยรีโมทคอนโทรลและ Mobile application การเรียนรู้โครงสร้างและการทำงานของส่วนประกอบต่างๆโดรน หลักการพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์การบิน รวมทั้งการทำแผนที่จากโดรน  เป็นต้น โดยวิทยากรจากจิสด้า Drone Academy Thailand และ DevDroneMapper ซึ่งได้รับการตอบรับจากน้องๆและอาจารย์โรงเรียนแสนสุขเป็นอย่างดียิ่งสร้างความสนใจเสียงหัวเราะและความสนุกสนานกับการเรียนและเล่นได้ตลอดทั้งวันอีกทั้งน้องๆยังสามารถแสดงทักษะด้านการบินหรือควบคุมโดรนได้อย่างน่าเหลือเชื่อพิชิตอุปสรรคต่างๆที่ทีมวิทยากรตั้งเตรียมไว้ได้อย่างง่ายดาย

การฝึกหัดควบคุมโดรนผ่านโปรแกรมจำลองการบิน นับเป็นทักษะแรกที่น้องๆได้เรียนรู้ โดย วีรวัฒน์ จันทวงษ์ นักวิชาการเผยแพร่ GISTDA เพื่อสร้างฝึกทักษะการควบคุมและสร้างความคุ้นชินกับคำศัพท์เฉพาะที่เกี่ยวกับการบิน ก่อนที่เด็กจะได้มีโอกาสควบคุมโดรนของจริง ฝึกทักษะการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าและพร้อมที่จะรับมือกับสถานการณ์ในขณะทำการบินโดรนและสามารถแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นขณะทำการบินจริง เพื่อเป็นการป้องกันอุบัติเหตุที่จะเกิดขึ้นได้  โดยโจทย์ที่นักเรียนแต่ละคนต้องทำให้ได้คือนำเครื่องขึ้นและลงอย่างปลอดภัยไม่ให้เกิดความเสียหายแก่อากาศยานจึงจะถือว่าผ่านไปสู่ฐานอื่นๆได้

การฝึกบินโดรนรุ่นเล็กเพื่อผ่านอุปสรรคต่างๆด้วยรีโมทคอนโทรลและ Mobile Application เป็นสิ่งที่น้องๆโรงเรียนแสนสุขทุกคนสามารถทำได้ ไม่เกินความสามารถที่มาพร้อมกับความสนุกสนานและรอยยิ้มตลอดกิจกรรม ส่วนการเรียนรู้การควบคุมด้วย Mobile Application นั้นเพื่อเป็นการเชื่อมโยงไปสู่การเขียนโปรแกรมควบคุมโดรน ซึ่งเป็นทักษะที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับโลกในอนาคตอีกไม่กี่ปีข้างหน้า และยังสอดคล้องกับการเรียนรู้แบบ STEM สร้างคนเพื่อสนับสนุนนโยบาย Thailand 4.0

ในฐานการสาธิตการบินโดรน นำทีมโดยคุณปราณสาย ชีวะคำนวณ Drone Engineer จาก Drone Academy Thailand  มาสร้างแรงบันดาลใจให้กับเด็กๆด้วยตนเองแถมยังใจดีให้โอกาสน้องๆได้ลองควบคุมโดรนรุ่นต่างๆที่ระดับมืออาชีพใช้งานจริง อาทิเช่น โดรนรุ่น DJI Phantom, DJI Mavic, Parrot Disco เป็นต้น ภายใต้การควบคุมจากทีมงาน Drone Academy Thailand อย่างใกล้ชิด  เพื่อให้เด็กเข้าใจหลักการเตรียมการบินโดรนเทคนิคการควบคุมโดรนและเรียนรู้ข้อปฎิบัติการบินโดรนให้ถูกต้องตามกฏหมายข้อบังคับเกี่ยวกับโดรน

กิจกรรมดังกล่าวได้สร้างประสบการณ์แรงบันดาลใจและเป็นเวทีแสดงความสามารถให้กับน้องๆได้เป็นอย่างดีไม่เพียงแต่น้องๆเด็กผู้ชายเท่านั้นยังรวมถึงเด็กผู้หญิงที่แสดงความสามารถเรียนรู้และเข้าใจหลักการควบคุมโดรนได้อย่างรวดเร็วและคล่องแคล่วอีกทั้งสามารถสอนเพื่อนๆต่อได้ในทันทีทั้งๆที่ไม่เคยมีประสบการณ์การควบคุมโดรนมาก่อนนับเป็นศักยภาพของเด็กไทยที่ซ่อนอยู่ภายในและได้แสดงออกมาให้เห็นอย่างชัดเจนจากโอกาสในครั้งนี้

ในส่วนของฐานฝึกปฎิบัติการการทำแผนที่ด้วยอากาศยานไร้คนขับ รับผิดชอบโดยทีมวิทยากรจากคณะภูมิสารสนเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ทีมนิสิตม.บูรพาและ DevDroneMapper ที่ล้วนเป็นผู้เชี่ยวชาญในด้านการทำแผนที่ด้วยโดรนที่มีผลงานหลากหลาย แต่ก็สามารถนำทีมสร้างสีสันและถ่ายทอดองค์ความรู้สู่น้องๆได้เป็นอย่างสนุกสนาน ทำให้เด็กๆเกิดการรับรู้อีกหนึ่งประโยชน์จากโดรนที่นอกจากจะใช้แค่ถ่ายวีดีโอ แต่โดรนยังสามารถนำประยุกต์ใช้เป็นหนึ่งในเครื่องมือวิทยาศาสตร์ในการเก็บภาพจากมุมสูงเพื่อทำแผนที่ได้อีกด้วย

ในฐานนี้ ลำดับแรกน้องๆได้เรียนรู้ในอาคารเกี่ยวกับหลักการพื้นฐานที่ควรรู้เกี่ยวกับการทำแผนที่ด้วยโดรน หลักการเบื้องต้นในการทำแผนที่สามมิติ การวางแผนงานจริงก่อนการบินถ่ายภาพรวมไปถึงข้อควรระมัดระวังทั้งก่อน ระหว่างและหลังการบิน  แต่ที่น่าตื่นเต้นที่สุดคือน้องๆได้มีโอกาสชมผลงานจากมืออาชีพ ที่ใช้โดรนสำรวจฝูงพะยูน จนเด็กหลายคนบอกว่า นี่เป็นครั้งแรกที่ได้เห็นลักษณะการเคลื่อนที่ของพะยูนอย่างใกล้ชิด ทำให้เห็นและเข้าใจถึงธรรมชาติของพะยูนด้วยภาพเคลื่อนไหวที่มีความชัดเจนสูงจากโดรนของทีมมหาวิทยาลัยบูรพา

Credit ภาพ : ดร.กฤษนัยน์ เจริญจิตร มหาวิทยาลัยบูรพา

หลังจากที่น้องๆได้ซักซ้อมวางแผนการบินโดรนพื่อทำแผนที่ ด้วย Mobile Application จากนั้นน้องๆได้รับชมการสาธิตการบินจริงจากพี่ๆ และยังได้รับความรู้เกี่ยวกับเทคนิคการบินโดรนขั้นพื้นฐานอย่างไรให้ปลอดภัย ก่อนที่จะเป็นโอกาสของน้องๆที่มีศักยภาพที่จะได้ควบคุมโดรนด้วยตัวเองภายใต้การควบคุมจากพี่ๆอย่างใกล้ชิด

โดยหลังจากนี้ทางผู้บริหารของโรงเรียนแสนสุขมีความสนใจอย่างยิ่งที่จะนำโดรนเข้ามาเป็นหนึ่งในเครื่องมือการสอนสำหรับนักเรียนโรงเรียนแสนสุขต่อไป เพื่อร่วมกับทางจิสด้าในการสร้างคนยุคใหม่ให้สามารถนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อการพัฒนาประเทศ ต่อไป ในส่วนของ จิสด้า ก็ยังคงให้การสนับสนุนในด้านดังกล่าวอย่างต่อเนื่องเพื่อให้สร้างบุคคลากรให้ทันยุคทันสมัยรองรับการเปลี่ยนแปลงของประชาคมโลกต่อไป

กำหนดการกิจกรรมอยากให้น้องลอง “บิน”
วันพุธที่ 20 ธันวาคม 2560 ณ โรงเรียนแสนสุข จ.ชลบุรี

  • 08.30 – 09.00  ลงทะเบียน
  • 09.00 – 09.30  พิธีเปิด โดย ผู้อำนวยการโรงเรียนแสนสุข
  • 09.30 – 10.30  เข้าประจำฐานกิจกรรม
                             – ฐานที่ 1 ฝึกบินผ่านโปรแกรมจำลองการบิน และ เรียนรู้ส่วนประกอบของอากาศยานไร้คนขับ โดย ทีมวิทยากร GISTDA และศูนย์ภูมิภาคฯ
                             – ฐานที่ 2 สาธิตการการปฏิบัติงานด้วยอากาศยานไร้คนขับในรุ่นต่างๆ และ ฝึกการควบคุมอากาศยานไร้คนขับโดย ทีมวิทยากร Drone Academy Thailand
                             – ฐานที่ 3 การทำแผนที่ด้วยอากาศยานไร้คนขับ  โดย ทีมวิทยากร DevDrone Mapper
  • 10.30 – 10.45  พักตามอัธยาศัย
  • 10.45 – 11.45  เข้าประจำฐานกิจกรรม (ต่อ)
  • 11.45 – 13.00  พักรับประทานอาหารกลางวัน
  • 13.00 – 14.00  เข้าประจำฐานกิจกรรม (ต่อ)
  • 14.00 – 14.15  พักตามอัธยาศัย
  • 14.15 – 14.45  สรุปกิจกรรม มอบของรางวัล สร้างเครือข่ายกลุ่มเยาวชน และพิธีปิด

หมายเหตุ: กำหนดการสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามความเหมาะสม

Copyright © 2018 LEARN : อาณาจักรภูมิสารสนเทศ อาณาเขตแห่งการเรียนรู้

LEARN