เขาพนมรุ้ง จังหวัดบุรีรัมย์

TH_Phanomrung
ทดสอบ Caption

 ข้อมูลจากดาวเทียมไทยโชต รายละเอียดภาพ 2 เมตร บริเวณเขาพนมรุ้ง จังหวัดบุรีรัมย์

ภูเขาไฟพนมรุ้งเป็นภูเขาไฟหินบะซอลต์แบบกรวยลาวาอยู่ห่างจาก อ.เมืองบุรีรัมย์ ประมาณ 70 กิโลเมตร เป็นเนินภูเขาไฟโดดเด่นบริเวณโดยรอบเป็นทุ่งราบ มีรูปร่างคล้ายเต่ายักษ์ยื่นหัวไปทางทิศเหนือ กว้างประมาณ 3 กิโลเมตร ยาวประมาณ 6 กิโลเมตร พื้นที่เขตภูเขาไฟและลาวาหลากประมาณ 36 ตารางกิโลเมตร ยอดเขาเป็นแนวสันขอบปากปล่อง จุดสูงสุดมีค่า 386 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง สูงจากที่ราบโดยรอบประมาณ 180 เมตร ความลาดมีค่าเฉลี่ยประมาณ 3o ถึง 8o ด้านชันมากที่สุดอยู่ในทิศอะซิมุท 83o มีคึความลาด 8o 40’ ด้านที่ลาดเอียงมากที่สุดอยู่ในทิศอะซิมุข 12o มีค่าความลาด 2o 50’ ปากปล่องอยู่ที่ศูนย์กลางเนินภูเขาไฟ มีความกว้างประมาณ 300 เมตร รูปร่างคล้ายชาม มีความลึกจากขอบปล่องประมาณ 70 เมตร สามารถขังน้ำได้ เกิดเป็นหนองน้ำเล็กๆ อยู่ภายในปล่อง เป็นแหล่งน้ำจืดสำคัญ สำหรับผู้อาศัยอยู่ในเขตปราสาทหินพนมรุ้งตั้งแต่อดีตกาล แหล่งน้ำนี้เป็นต้นกำเนิดของน้ำตกที่อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ

003

ที่มา : นายทวีชัย เจาวัฒนา เว็บไซต์ siam360.org

หินที่พบในเขตภูเขาไฟพนมรุ้ง เป็นหินบะซอลต์สีเทา-ดำ และมีรูพรุนเป็นส่วนมาก หินบริเวณใกล้ปากปล่องมักออกสีม่วง-แดง และมีหินกรวดเหลี่ยมภูเขาไฟ (Volcanic breccia) ปะปนพวกเถ้าธุลีภูเขาไฟ และฝุ่นภูเขาไฟ (Volcanic dust) หินบะซอลต์ประกอบด้วยแร่โอลิวีนไพรอกซีน เฟลด์สปาร์ชนิดแอนดีซินและอัลไบต์ จัดเป็นหินบะซอลต์พวกฮาวายไอต์ หินบะซอลต์เหล่านี้เกิดจากลาวาที่ค่อนข้างหนืดข้นมาก จึงทำให้ก่อตัวเป็นหินภูเขาไฟที่ค่อนข้างชัน เพราะลาวาจะเย็นตัวเร็วจึงไหลแผ่ออกไปไม่ไกล มีการก่อตัวในทางดิ่งมากกว่าภูเขาไฟลูกอื่นๆ ในเขตอีสานใต้

ระบบระบายน้ำของเขตภูเขาไฟพนมรุ้ง เป็นแบบรูปทางน้ำรัศมีร่องระบายน้ำแผ่กระจายเป็นรัศมีจากบริเวณปากปล่องภูเขาไฟออกไปโดยรอบ มีการสร้างเขื่อนกับเก็บน้ำกระจายอยู่ทั่วไป ด้านทิศตะวันออกมีอ่างเก็บน้ำหนองบัวลาย เป็นที่รับน้ำจากคันดินปิดกั้นน้ำจากภูเขาไฟที่สร้างขึ้นในสมัยขอม เป็นหลักฐานแสดงถึงภูมิปัญญาเรื่องของชลประทานของคนสมัยนั้นได้เป็นอย่างดี

บนขอบปากปล่องภูเขาไฟพนมรุ้งด้านทิศใต้ มีปราสาทหินพนมรุ้งตั้งอยู่ ปราสาทหินนี้จัดเป็นเทวาลัยของศาสนาฮินดู สร้างติดต่อกันหลายศตวรรษ คือ ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 15 จนถึงต้นพุทธศวรรษที่ 18 ปราสาทหินแห่งนี้มีความงดงามทางสถาปัตยกรรม และเด่นสง่าที่สุดในประเทศ

GE_Phanomrung

ภาพจาก Google Earth

ภูเขาไฟพนมรุ้ง อยู่ในเขตอำเภอเฉลิมพระเกียรติ และอำเภอประโคนชัย ห่างจากตัวจังหวัด ประมาณ 70 กิโลเมตร มีเนื้อที่ประมาณ 24 ตารางกิโลเมตร กว้าง 4 กิโลเมตร ยาว 6 กิโลเมตร มีลักษณะเป็นเนินเขาอยู่โดเดี่ยวล้อมรอบด้วยที่ราบจุดสูงสุดประมาณ 383 เมตร จากระดับน้ำทะเล รูปร่างเป็นเนินคล้ายหลังเต่า วางตัวเป็นแนวเหนือ – ใต้ มีหุบปล่องปะทุระเบิดกว้างประมาณ 800 เมตร และลึกประมาณ 60 เมตร ลักษณะเกือบกลมที่ขอบปล่องทางทิศใต้เป็นที่ตั้งปราสาทหินพนมรุ้ง แอ่งปะทุมีน้ำขังตลอดปี เรียกว่า ทะเลสาบปล่องภูเขาไฟ (Crater lake) น้ำภายในทะเลสาบจะไหลสู่หุบเขาทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ เกิดเป็นลำธารที่ไหลอยู่บนไหล่เขาที่สูงชัน เป็นต้นกำเนิดของลำห้วยหลายสายไหลลงสู่ลำปะเทีย ลำชี และไหลไปรวมกับลำมาศ ลงสู่แม่น้ำมูล

Map_Phanomrung

ที่มา : หนังสือธรณีสัณฐานประเทศไทยจากห้วงอวกาศ
https://www.facebook.com/pages/Buriram-Lifestyle

ผู้รวบรวมข้อมูล นายณัฐพล สมจริง

Copyright © 2018 LEARN : อาณาจักรภูมิสารสนเทศ อาณาเขตแห่งการเรียนรู้

LEARN