Food miles

วันนี้ดูช่อง Thaipbs เห็นข่าวเรื่องfood miles ประมาณว่าการหาระยะทางของสินค้าเกษตรตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทางเสียค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง กระทบสิ่งแวดล้อมเท่าไหร่ เลยคิดว่าน่าจะใช้  gis มาศึกษาได้ ตอนนี้พิมพ์จาก iPhone ไม่สะดวกเลยขอติดไว้ก่อน หรือลองsearch google ดูได้ถ้าผมสะดวกใช้คอมจะมาอัพเดพให้ฟังนะครับ

Update ที่มา: http://www.greenworld.or.th/library/environment-vocabulary/1867

Food miles หรือ ระยะทางอาหาร คือระยะทางที่อาหารถูกขนส่งจากแหล่งผลิตจนถึงผู้บริโภค โดยคำนวณจากระยะทางน้ำหนักเฉลี่ย (ระยะทางและปริมาณอาหารที่ขนส่ง) ซึ่งระยะทางอาหารจะมากหรือน้อยสามารถวัดได้จากระยะที่อาหารเดินทางจากแหล่งผลิตถึงผู้บริโภคขั้นสุดท้าย หรือวัดจากปริมาณการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ระหว่างการขนส่ง รวมถึงสามารถวัดได้จากผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ที่เกิดจากการขนส่งอาหาร

แม้ระยะทางอาหารจะมีความสัมพันธ์กับการขนส่ง การใช้พลังงาน และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม แต่การขายสินค้าในปัจจุบันที่เป็นไปในลักษณะการแข่งขันกันในตลาดสมบูรณ์ ก็ทำให้การกำหนดราคาสินค้าไม่ได้ใช้ต้นทุนเป็นพื้นฐาน  (Cost-plus-pricing) แต่จำต้องขายสินค้าในราคาใกล้เคียงกัน แม้ต้นทุนจะต่างกัน  ผู้บริโภคจึงไม่สามารถรับรู้ได้ถึงต้นทุนทางสิ่งแวดล้อมที่แท้จริงของอาหารที่ขนส่งมาไกล

นอกจากนี้ การที่ประเทศพัฒนาแล้วนำเข้าอาหารที่ผลิตจากประเทศกำลังพัฒนา ยังกระตุ้นให้เกษตรกรในประเทศเหล่านั้นมุ่งปลูกพืชเศรษฐกิจเพียงไม่กี่ชนิด จนทำให้พันธุ์พืชพื้นถิ่นหายไป ก่อให้เกิดการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ

ด้วยเหตุนี้ ในต่างประเทศจึงมีการรณรงค์ให้ผู้บริโภคเลือกซื้ออาหารที่ผลิตในท้องถิ่นหรือในพื้นที่ใกล้เคียง จนเกิดการรวมตัวกันในนามกลุ่ม “100 miles diet” เพื่อสร้างแนวร่วมของการบริโภคอาหารที่ผลิตได้ในท้องถิ่นระยะไม่เกิน 100 ไมล์ (160 กิโลเมตร) ภายใต้นโยบาย “Eating locally and thinking globally” ขณะที่ UK Soil Association หนึ่งในองค์กรพัฒนาเอกชนประเทศอังกฤษ ก็เห็นว่าสินค้าเกษตรอินทรีย์ที่มี Food Miles เกินระยะทางที่กำหนด ไม่ควรจัดเป็นสินค้าเกษตรอินทรีย์ เพราะถือว่าสินค้านั้นมีส่วนสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม แม้ในกระบวนการผลิตจะรักษาสิ่งแวดล้อมก็ตาม

อย่างไรก็ดี มีการตั้งข้อสังเกตว่า ถึงแม้ระยะทางอาหารจะมีส่วนสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม แต่ก็เป็นเพียงหนึ่งในหลายปัจจัย เนื่องจากพลังงานที่ใช้ในการขนส่งอาหารเป็นเพียงพลังงานส่วนหนึ่งที่ใช้ในกระบวนการผลิตอาหารทั้งหมด ตัวอย่างงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงข้อสังเกตดังกล่าวคือ การศึกษาเปรียบเทียบการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์จากการนำเข้าอาหารของประเทศสหราชอาณาจักร โดยศึกษานับตั้งแต่การผลิต แปรรูป บรรจุ และขนส่ง พบว่าอาหารที่ผลิตในสหราชอาณาจักรปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์มากกว่าอาหารที่นำเข้าจากนิวซีแลนด์ ทั้งที่อาหารจากนิวซีแลนด์เดินทางมาไกลกว่า ซึ่งสิ่งนี้สะท้อนให้เห็นว่า นอกจากระยะทางอาหารแล้ว ก็ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่มีส่วนสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น การใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช รูปแบบการใช้แรงงานและการลงทุน เป็นต้น

ที่มา : https://geo2ass.wordpress.com/

Copyright © 2018 LEARN : อาณาจักรภูมิสารสนเทศ อาณาเขตแห่งการเรียนรู้

LEARN