การฝึกอบรม Training for Trainer on Aerospace for STEM Educationสำหรับโรงเรียนต้นแบบในภาคกลาง

สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือจิสด้า ร่วมกับศูนย์ภูมิภาคเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศทั้ง 5 และ Drone Academy Thailand ร่วมกันจัดฝึกอมรมหลักสูตร Training for Trainer on Aerospace for STEM Education ภายใต้กิจกรรม Aerospace Smart School โครงการสร้างความตระหนักด้านเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ ระดับเยาวชน ณ สทอภ.(บางเขน) เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2560 ให้กับโรงเรียนต้นแบบจากภาคกลาง จำนวน 7 โรงเรียนที่จะนำเทคโนโลยีทางด้าน AEROSPACE เข้าไปเป็นหนึ่งในเครื่องมือการสอนให้กับนักเรียน โดยปีนี้จะเริ่มต้นโครงการกันด้วย “โดรน”

การฝึกอบรมดังกล่าวจะเน้นตัวอย่างแนวคิดและวิธีใหม่ๆในการประยุกต์ใช้โดรนเพื่อส่งเสริมการศึกษาในรูปแบบ STEM ในระดับมัธยมศึกษาและอาชีวศึกษา อาทิเช่น การควบคุมโดรนด้วยการเขียนโปรแกรมอย่างง่าย การเก็บข้อมูลวิทยาศาสตร์ด้วยโตรน และการสร้างแผนที่จากโดรน เป็นต้น อันจะเป็นการส่งเสริมให้มีการประยุกต์ใช้และพัฒนาอากาศยานไร้คนขับ เพื่อสนับสนุนการเรียนรู้และพัฒนากระบวนความคิดของเยาวชนไทย ผ่านกลไลการเรียนรู้ตามความสนใจหรือชมรมในโรงเรียนตามรูปแบบ STEM ภายใต้การดูแลอย่างใกล้ชิดจากผู้เชี่ยวชาญทั้งจากจิสด้าและเครือข่ายตลอดทั้งปี และในปลายปีก็จะมีเวทีให้โรงเรียนได้แสดงออกความสามารถในการประชุม Thailand Aerospace Youth Forum ที่มีกำหนดจะจัดขึ้นในช่วงเดือนกันยายน 2561

พิธีเปิดการฝึกอบรมได้รับเกียรติจาก น..ปราณปริยา วงค์ษา รักษาการผู้อำนวนการสถาบันพัฒนาและถ่ายทอดองค์ความรู้  GISTDA กล่าวต้อนรับนักเรียนและอาจารย์จากโรงเรียนต้นแบบ ทั้งยังกล่าวถึงความสำคัญของส่งเสริมการศึกษาเกี่ยวกับเทคโนโลยีในระดับเยาวชน โดยเฉพาะในด้านเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ เพื่อให้เป็นกำลังสำคัญที่จะผลักดันให้ประเทศไทยก้าวสู่ไทยแลนด์ 4.0 ได้อย่างเต็มรูปแบบ

ในส่วนรายละเอียดของกิจกรรม AEROSPACE SMART SCHOOL ตลอดจนแผนงานหรือแนวทางการสนับสนุนให้โรงเรียนต้นแบบที่จะนำเทคโนโลยีโดรนไปเป็นหนึ่งในเครื่องมือการสอนในโรงเรียนนั้น นำเสนอโดยนายจักรพงษ์ ทะวะละ และนายอัตชัย สุวรรณ์ นักวิชาการเผยแพร่ GISTDA หนึ่งในทีมงานของโครงการฯ เพื่อให้โรงเรียนต้นแบบทั้ง 7 โรงเรียนในภาคกลางเกิดความเข้าใจตรงกันถึงแนวทางการทำงานร่วมกับผู้เชื่ยวชาญจากจิสด้าและเครือข่ายต่างๆในอนาคต ที่จะร่วมกันผลักดันองค์ความรู้ดังกล่าวสู่เยาวชนรุ่นใหม่ต่อไป

หนึ่งในวัตถุประสงค์ของโครงการคือส่งเสริมให้โรงเรียนต้นแบบจัดตั้งชมรม AEROSPACE ขึ้นในโรงเรียนเพื่อเป็นทางเลือกให้กับนักเรียนที่มีความสนใจทางด้านวิทยาศาสตร์การบินและเทคโนโลยีอวกาศ เป็นกลไกผลักดันให้เยาวชนรุ่นใหม่มีทักษะความสามารถ และจินตนาการในการประยุกต์ใช้และพัฒนาเทคโนโลยีอากาศยานของประเทศไทยในอนาคต นับว่าเป็นการสร้างคนรุ่นใหม่ให้มีความพร้อมสำหรับโลกแห่งนวัตกรรมในอนาคต

แม้กระทั้งสำหรับนักเรียนที่กำลังอยู่ในช่วงค้นหาตัวเอง หรือยังไม่มีความสามารถทางด้านคอมพิวเตอร์ ก็สามารถเข้าร่วมกิจกรรมเพื่อสร้างแรงบันดาลใจในเทคโนโลยี Aerospace ได้ เนื่องจากเนื้อหาการเรียนการสอนในชมรมจะออกแบบให้ครอบคลุมนักเรียนทุกระดับความสามารถ โดยทางผู้เชี่ยวชาญจากจิสด้าและอาจารย์ผู้ควบคุมชมรมจะร่วมกันออกแบบต่อไป เพื่อสามารถเปิดการสอนได้ในปีการศึกษา 2561 นี้

ตามแผนงานนั้นชมรม AEROSPACE จะจัดตั้งขึ้นทั้งหมด 60 ชมรมกระจายตามทั่วทุกภูมิภาค ภูมิภาคละ 10 ชมรม ภายใต้การสนับสนุนของศูนย์/สถานภูมิภาคเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ ทั้ง 5 แห่งทั่วประเทศ  โดย จิสด้า จะดูแลโรงเรียนในกลุ่มภูมิภาคภาคกลางและร่วมดูแลในภูมิภาคอื่นๆด้วย โดยการฝึกอบรมในครั้งนี้จัดขึ้นสำหรับโรงเรียนต้นแบบจากภาคกลางเท่านั้น ในส่วนภูมิภาคอื่นๆก็จะมีการเดินสายอบรมให้กับโรงเรียนต้นแบบต่อไป

คุณจรรยวรรธน์ ชาติอนุลักษณ์ ผู้อำนวยการ Drone Academy Thailand หนึ่งในเจ้าภาพร่วมและผู้สนับสนุนโครงการ ให้เกียรตินำเสนอมุมมองใหม่ของการประยุกต์ใช้โดรนเพื่อการศึกษาในรูปแบบ STEM จากประสบการณ์ตรงและตัวอย่างทั้งในและต่างประเทศ อีกทั้งนำทีมพาน้องๆสนุกสนานไปกับการเขียนโปรแกรมควบคุมโดรน ซึ่งได้รับการตอบรับอย่างดียิ่ง ทำให้เด็กสนุกสนานพร้อมยังได้เรียนรู้ไปด้วย

ทักษะการเขียนโปรแกรมควบคุมอุปกรณ์ต่างๆนับเป็นสิ่งที่ประเทศไทยจำเป็นต้องสร้างให้กับเยาวชนรุ่นใหม่เป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากเป็นทักษะที่สำคัญต่อการพัฒนาประเทศด้วยนวัตกรรมในอนาคต ภายใต้โครงการนี้จึงบรรจุเนื้อหาการเขียนโปรแกรมควบคุมโดรนลงไปด้วยเพื่อให้นักเรียนมีทักษะพื้นฐานที่เพียงพอในการต่อยอดในระดับสูงต่อไป

กฏข้อบังคับต่างๆที่เกี่ยวข้องกับโดรนก็นับเป็นสิ่งสำคัญสำหรับนักเรียนทุกคนควรจะต้องรู้และปฎิบัติตาม การอบรมในครั้งนี้จึงเป็นการทบทวรเรื่องกฏหมายเกี่ยวกับโดรนแบบเข้าใจง่ายให้นักเรียนและอาจารย์อีกครั้ง โดยนายอัตชัย สุวรรณ์ นักวิชาการเผยแพร่ GISTDA ทั้งนี้ข้อระเบียบดังกล่าวก็จะมีการออกแบบให้ถ่ายทอดสู่นักเรียนระหว่างทำกิจกรรมชมรมต่อไป

นอกเหนือจากการเขียนโปรแกรมควบคุมโดรนและเรื่องของกฏหมายโดรนแล้ว นักเรียนที่เข้าร่วมกิจกรรมทุกคนยังได้มีโอกาสได้เรียนรู้การประมวลผลข้อมูลจากภาพถ่ายจากโดรนเพื่อการทำแผนที่ โดย นายวีรวัฒน์ จันทวงษ์ นักวิชาการเผยแพร่ GISTDA เนื่องจากในปัจจุบันโดรนเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการถ่ายภาพมุมสูงซึ่งภาพแนวดิ่งสามารถนำมาทำเป็นแผนที่รายละเอียดสูงได้ด้วย จึงทำให้การทำแผนที่ด้วยโดรนกำลังเป็นที่นิยมในกลุ่มนักวิชาการภูมิสารสนเทศในปัจจุบัน และก็จะเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการเก็บข้อมูลสำหรับชมรม AEROSPACE ในอนาคตอีกด้วย

ในการอบรมครั้งนี้นักเรียนและอาจารย์ได้ทดลองลงมือฝึกปฎิบัติสร้างแผนที่ และทำแบบจำลองความสูง ได้ด้วยข้อมูลที่ทางวิทยากรได้จัดเตรียมไว้แล้ว เพื่อให้เข้าใจการประมวลผลข้อมูลอย่างคร่าวๆ เป็นไอเดียไว้สำหรับเป็นหนึ่งในกิจกรรมหลักที่จะสามารถประยุกต์ใช้สอนได้ในโรงเรียนต่อไป โดยทางจิสด้าก็จะมีการประกวดโครงงานเกี่ยวกับการพัฒนาและประยุกต์ใช้โดรนในช่วงปลายปี 2561 ภายใต้งานที่ชื่อว่า Thailand Aerospace Youth Forum เพื่อเป็นเวทีแสดงผลงานความสามารถของนักเรียนจากชมรม AEROSPACE จากทั่วประเทศต่อไป

โดยหลังจากนี้กลุ่มโรงเรียนต้นแบบ 7 โรงเรียนนี้ต้องกลับไปดำเนินการจัดตั้งชมรม AEROSPACE เพื่อเป็นกลไกการขับเคลื่อนองค์ความรู้ดังกล่าวให้แพร่หลายในโรงเรียน และเป็นต้นแบบให้กับโรงเรียนอื่นๆทั่วประเทศ โดยจิสด้าและเครือข่ายจะให้การสนับสนุนองค์ความรู้อย่างต่อเนื่อง เพื่อนำไปสู่การประยุกต์ใช้โดรนในโรงเรียนอย่างเป็นรูปธรรม และต่อยอดสู่การแข่งขันทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ และเพื่อเตรียมบุคลากรให้พร้อมต่อการพัฒนาประเทศด้วยนวัตกรรม ขับเคลื่อนเทคโนโลยีอวกาศของประเทศไทยให้ก้าวไกลในอนาคต

ดาวน์โหลดเอกสารประกอบการฝึกอบรม

Copyright © 2018 LEARN : อาณาจักรภูมิสารสนเทศ อาณาเขตแห่งการเรียนรู้

LEARN