พื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดอุทกภัย

การจัดทำพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดอุทกภัยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นับแต่อดีตมาสภาวะน้ำท่วมที่เกิดขึ้นในพื้นที่มักเกิดขึ้นในพื้นที่ซ้ำซาก โดยเฉพาะบริเวณลำน้ำขนาดใหญ่ และด้วยผลจากการสร้างสิ่งปลูกสร้าง รวมไปถึงการเข้าไปตั้งถิ่นฐานที่อยู่อาศัยของประชาชนใกล้แหล่งน้ำมากขึ้น จึงทำให้สภาวะน้ำท่วมมีความรุนแรงขึ้นตามลำดับส่งผลให้รัฐบาลต้องเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมากในการเข้าช่วยเหลือผู้ประสบภัย ซึ่งในอดีตการจัดทำบัญชีพื้นที่ประสบอุทกภัยเป็นไปด้วยความยากลำบาก ใช้เวลาดำเนินการนาน และบางครั้งไม่เข้าถึงผู้ประสบภัยที่แท้จริง ด้วยเหตุนี้ศูนย์ภูมิสารสนเทศเพื่อการพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จึงได้จัดทำการประเมินพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดอุทกภัยโดยวิเคราะห์จากประวัติการเกิดน้ำท่วม 3 ปี คือพื้นที่ประสบอุทกภัย พ.ศ. 2544 2545 และ 2546(ตีความพื้นที่น้ำท่วมจากภาพถ่ายดาวเทียมเรดาร์แซท) จากความซ้ำซากของตำแหน่งที่เกิดน้ำท่วมจึงสามารถแบ่งระดับความเสี่ยงของการเกิดอุทกภัยออกเป็น 4 ระดับ คือ เสี่ยงอุทกภัยสูงมากเสี่ยงสูง เสี่ยงปานกลาง และเสี่ยงต่ำ โดยมีขั้นตอนการศึกษาพอสังเขปดังภาพ

ภาพแสดงขั้นตอนการศึกษาพอสังเขป ที่มา : ศูนย์ภูมิสารสนเทศเพื่อการพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (2549)
ภาพแสดงขั้นตอนการศึกษาพอสังเขป
ที่มา : ศูนย์ภูมิสารสนเทศเพื่อการพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (2549)

ผลการวิเคราะห์แสดงพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดอุทกภัยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แสดงให้เห็นว่าพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดอุทกภัยในระดับเสี่ยงสูงมาก และเสี่ยงสูง ปรากฏตามแนวลำน้ำขนาดใหญ่ คือแม่น้ำชี และแม่น้ำมูล โดยเฉพาะต่ำแหน่งที่เป็นจุดบรรจบของลำน้ำบริเวณแม่น้ำชีสบมูล เป็นต้น สำหรับสัดส่วนพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดอุทกภัย ระดับเสี่ยงสูงมาก สูง ปานกลาง และต่ำ เท่ากับ 1.08 2.3 7.76 และ 88.79 จากพื้นที่ทั้งภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ลักษณะการใช้ประโยชน์ที่ดินที่ได้รับผลกระทบมากคือพื้นที่เกษตรกรรมประเ ภทนาข้าวมากที่สุด เนื่องจากพื้นที่เพาะปลูกนาข้าวเป็นบริเวณที่มีระดับความสูงต่ำ ส่วนใหญ่มีลักษณะภูมิสัณฐานเป็นที่ราบน้ำท่วมถึง หรือที่ราบขั้นบันไดระดับต่ำ โดยจังหวัดที่มีพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดอุทกภัยที่ระดับเสี่ยงสูงมากที่สุด คือ จังหวัดร้อยเอ็ด แสดงดังภาพพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วมจะถูกนำไปใช้ในการวางแผนป้องกันอุทกภัยที่จะเกิดขึ้น โดยให้ความสำคัญกับจังหวัดที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดอุทกภัยสูง

ภาพแสดงพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดอุทกภัยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่มา : ศูนย์ภูมิสารสนเทศเพื่อการพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (2549)
ภาพแสดงพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดอุทกภัยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ที่มา : ศูนย์ภูมิสารสนเทศเพื่อการพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (2549)

ที่มา : ตำราเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศศาสตร์

Copyright © 2018 LEARN : อาณาจักรภูมิสารสนเทศ อาณาเขตแห่งการเรียนรู้

LEARN