การป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง หาดชะอำ จังหวัดเพชรบุรี

"อุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธร"
“อุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธร” ข้อมูลจากดาวเทียมไทยโชต บันทึกภาพวันที่ 6 มีนาคม 2553

การกัดเซาะชายฝั่งทะเลด้านอ่าวไทย ทั้งทางด้านตะวันออกและตะวันตกเกิดขึ้นในพื้นที่ราบน้ำขึ้นถึงบริเวณป่าชาย เลน สำหรับบริเวณหาดทรายส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในพื้นที่แหล่งท่องเที่ยว เขตอุตสาหกรรม และที่อยู่อาศัย จากการสำรวจพบว่าการกัดเซาะชายฝั่งทะเลเกิดขึ้นในทุกจังหวัดรอบอ่าวไทยโดยมีอัตราการกัดเซาะรุนแรงเฉลี่ยมากกว่า 5.0 เมตรต่อปี (ซึ่งจัดเป็นพื้นที่วิกฤติหรือพื้นที่เร่งด่วน) เกิดขึ้นในพื้นที่ชายฝั่ง 12 จังหวัด คือ จันทบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา สมุทรปราการ กรุงเทพมหานคร เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา ปัตตานี และนราธิวาส ระยะทางรวม 180.9 กิโลเมตร หรือประมาณร้อยละ 10.9 ของแนวชายฝั่งทะเลอ่าวไทย นอกจากนี้ยังพบว่ามีการกัดเซาะระดับปานกลางอัตราเฉลี่ย 1.0-5.0 เมตรต่อปี ใน 14 จังหวัด คือ ตราด จันทบุรี ชลบุรี ระยอง สมุทรสาคร สมุทรสงคราม เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา ปัตตานี และนราธิวาส ระยะทางรวม 305.1 กิโลเมตร หรือประมาณร้อยละ 18.4 ของแนวชายฝั่งทะเลอ่าวไทย ทั้งนี้ชายฝั่งทะเลบริเวณอ่าวไทยตอนบนตั้งแต่ปากแม่น้ำบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา จนถึงปากแม่น้ำท่าจีน จังหวัดสมุทรสาคร เป็นพื้นที่ที่มีความอ่อนไหวและมีการกัดเซาะขั้นรุนแรงมากที่สุด บางพื้นที่มีอัตราการกัดเซาะชายฝั่งมากกว่า 25 เมตรต่อปี

จากภาพคือข้อมูลจากดาวเทียมไทยโชต ชายฝั่งทะเลบริเวณอำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี มีถนนสายหลัก คือ ถนนเพชรเกษม ทิศตะวันออกหรือฝั่งขวาของถนนเป็นที่ตั้งของอุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธรและพระราชวังนิเวศน์มฤคทายวันสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงของจังหวัดเพชรบุรีซึ่งอยู่ติดกับชายหาด จากภาพจะเห็นโครงสร้างป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งที่อยู่ตามแนวชายฝั่ง คือ รอดักทราย(กรอย) กำแพงกันคลื่นและเขื่อนกันทรายและคลื่นที่รูปร่างคล้ายพัดยื่นห่างออกมาจากชายฝั่งทะเล ซึ่งทั้งสามโครงสร้างนี้เป็นหนึ่งในมาตรการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งแบบแข็งและนอกจากนั้นบริเวณแถบนี้ยังมีพื้นที่ป่าชายเลนที่คงความอุดมสมบูรณ์ผลจากการอนุรักษ์ของอุทยานสิ่งแวดล้อมฯ ปรากฏเป็นสีเขียวเข้มริมชายหาด และพื้นที่รูปปิดที่มีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยม หรือรูปแบบอื่นๆที่มองเห็นขอบอย่างชัดเจนคือ บ่อน้ำ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาวิจัยเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของอุทยานสิ่งแวดล้อมฯ ส่วนทางด้านซ้ายของฝั่งถนนเพชรเกษมบริเวณพื้นที่สีเขียวคือพื้นที่เกษตรกรรม ซึ่งปะปนอยู่กับบริเวณที่อยู่อาศัย

 

 

มาตรการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง ( Coastal Protection Measures) ที่นิยมใช้ในการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลที่ได้ดำเนินการผ่านมา ประกอบด้วย 2 วิธีการ คือ มาตรการโครงสร้างแบบแข็ง (Hard Solution) และมาตรการโครงสร้างแบบอ่อน (Soft Solution) ดังนี้

1.มาตรการโครงสร้างแบบแข็ง (Hard Solution)

1.1 เขื่อนกันคลื่น (Breakwater) เป็นลักษณะโครงสร้างที่ใช้หินขนาดต่างๆ กัน โดยใช้ก้อนหินขนาดตามที่ออกแบบกองขึ้นเป็นชั้นฐาน (Bedding Layer) และชั้นแกน (Core Layer) หรือแท่งคอนกรีตขนาดใหญ่เป็นชั้นเปลือกนอก   (Armor Unit) ก่อกองขึ้น เพื่อยับยั้งความเร็วของคลื่นที่จะเคลื่อนที่เข้าปะทะฝั่ง

1.2 กำแพงกันคลื่น (Seawall) เป็นโครงสร้างที่ใช้ป้องกันพื้นที่ชายฝั่ง สิ่งปลูกสร้าง และทรัพย์สินด้านในชายฝั่ง อาจก่อสร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก ตอกเข็มพืดเป็นแนว จัดเรียงด้วยหินทิ้ง จัดเรียงด้วยแท่งคอนกรีตหรือท่อคอนกรีต หรือจัดทำด้วยตาข่ายห่อหุ้มหิน

1.3 รอดักทราย (Groin) เป็นโครงสร้างที่มีลักษณะยื่นตั้งฉากออกไปจากชายฝั่งเพื่อให้ตะกอนสะสมตัวอยู่ระหว่างโครงสร้างรอแต่ละแนว ซึ่งมีหลายรูปแบบทั้งแบบ ตัวไอ ตัววาย และตัวที

1.4 ไส้กรอกทราย (Sand Sausage) เป็นโครงสร้างที่ใช้แผ่นใยสังเคราะห์ (Geotextile) บรรจุทรายเข้าไปเพื่อใช้ในการลดความรุนแรงของคลื่น

2. มาตรการโครงสร้างแบบอ่อน (Soft Solution)

2.1 การสร้างหาดทราย ( Beach Nourishment) เป็นการดูดทรายหรือนำทรายมาถมในบริเวณที่ถูกกัดเซาะ ซึ่งวิธีการนี้จะสิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย ในการบำรุงรักษาที่สูงมาก แต่สภาพชายหาดจะสวยงาม

2.2 การสร้างเนินทราย ( Dune Nourishment) เป็นการนำทรายมาถมให้สูงเลียนแบบเนินทรายเดิมที่ถูกทำลายไป และนำพืชบางชนิดที่สามารถขึ้นในเนินทรายมาปลูกเสริมเข้าไป เพื่อดักทรายที่ถูกพัดพาเข้าฝั่ง

2.3 การปลูกป่าชายเลน (Mangrove Afforestation) ทำในพื้นที่ที่มีลักษณะเป็นที่ราบน้ำาขึ้นถึงป่าชายเลน ซึ่งทางฝั่งอ่าวไทยได้มีการนำกล้าไม้ป่าชายเลนมาปลูกขึ้นใหม่ในบริเวณที่ถูกทำลายไป

2.4 การกำหนดระยะร่นถอย ( Setback) เป็นมาตรการเชิงแผนและนโยบาย เพื่อเป็นการลดระดับความเสียหายของสิ่งก่อสร้างบริเวณชายหาด โดยไม่ให้มีสิ่งก่อสร้างบนชายหาดที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยต่อการกัดเซาะ เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาความเสียหายของทรัพย์สินและสิ่งปลูกสร้าง

Siritorn map

Copyright © 2018 LEARN : อาณาจักรภูมิสารสนเทศ อาณาเขตแห่งการเรียนรู้

LEARN