กว๊านพะเยา

kwan phayoa
ข้อมูลจากดาวเทียมไทยโชต รายละเอียดภาพ 2 เมตร บันทึกภาพวันที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

กว๊านพะเยา อยู่ในเขตอำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา เป็นทะเลสาบน้ำจืดใหญ่เป็นอันดับ 1 ในภาคเหนือ และ อันดับ 4 ของประเทศไทย (รองจากบึงบอระเพ็ด, หนองหาน และบึงละหาน) คำว่า “กว๊าน” ตามภาษาพื้นเมืองหมายถึง “บึง” เป็นแหล่งน้ำธรรมชาติอยู่ใจกลางเมืองพะเยา มีทิวเขาเป็นฉากหลัง เกิดจากน้ำที่ไหลมาจากห้วยต่างๆ 18 สาย มีปริมาณน้ำเฉลี่ยปีละ 29.40 ล้านลูกบาศก์เมตร มีพันธ์ปลาน้ำจืดกว่า 48 ชนิด มีเนื้อที่ 12,831 ไร่ เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลาต่างๆ ทัศนียภาพโดยรอบกว๊านพะเยา มีส่วน ทำให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวตามธรรมชาติ ที่สวยงามประทับใจผู้พบเห็น จนอาจจะกล่าวได้ว่าหัวใจของเมืองพะเยาอยู่ที่กว๊านพะเยานี่เอง

1
กว๊านพะเยา

ริมกว๊านพะเยาเป็นร้านอาหารและสวนสาธารณะให้ประชาชนพักผ่อนหย่อนใจ กว๊านพะเยาในอดีตแต่เดิมเคยเป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำมีสายน้ำอิงไหลพาดผ่านคดเคี้ยวทอดเป็นแนวยาวไปตลอด จากทิศเหนือจรดขอบกว๊านฯ ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ประกอบกับมีหนองน้ำน้อยใหญ่หลายแห่งและร่องน้ำหลายสายที่ไหลลงมาจากขุนเขาดอยหลวงแล้วเชื่อมติดต่อถึงกัน ทำให้พื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำแห่งนี้จึงมีความอุดมสมบูรณ์ยิ่งนักและมีผู้คนเข้ามาตั้งถิ่นฐานอาศัยอยู่เป็นชุมชนนานนับตั้งแต่โบราณ

กว๊านพะเยาเป็นระบบนิเวศน้ำจืดแบบกึ่งปิด ค่อนข้างตื้น เป็นบึงที่มีการไหลเวียนของน้ำแบบไม่ต่อเนื่อง พบนกอย่างน้อย 14 ชนิด เช่น นกเป็ดผีเล็ก (Tachybaptus ruficollis) นกยางกรอกพันธุ์จีน (Ardeola bacchus) นกยาง ไฟธรรมดา (Ixobrychus cinnamomeus) นกกวัก (Amaurornis phoenicurus) นกอีล้ำ (Gallinula chloropus) เป็นนกประจำ ถิ่น 8 ชนิด นกอพยพ 2 ชนิด เป็นทั้งนกประจำถิ่นและนก อพยพ 3 ชนิด นกเหล่านี้ส่วนใหญ่มีความชุกชุมน้อย ที่ชุกชุม มาก คือ นกนางแอ่นบ้าน (Hirundo rustica) พบปลาอย่างน้อย 47 ชนิด ชนิดที่อยู่ในสถานภาพมีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ (vulnerable) ได้แก่ ปลาดุกด้าน (Clarias batrachus) ปลาเศรษฐกิจ ได้แก่ ปลาหมอไทย (Anabas testudineus) ปลากดเหลือง (Hemibagrus nemurus) ปลาช่อน (Channa striatus) ปลาดุกอุย (Clarias macrocephalus) ปลาตะเพียนขาว (Barbodes gonionotus) ปลากราย (Chitala ornata) ปลาสลาด (Notopterus notopterus)
พบพันธุ์พืชน้ำอย่างน้อย 14 ชนิด มีสาหร่ายกระจายอยู่ใต้น้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณที่ตื้น พบพืชลอยน้ำหนาแน่นมากที่สุดตามขอบกว๊าน ได้แก่ ผักตบชวา (Eichhornia crassipes) ผักบุ้ง (Ipomoea aquatica) แพงพวยน้ำ (Jussiaea repens) จอกหูหนู (Salvinia cucullata) และแหน (Lemna perpusilla) พืชชายน้ำพบตามริมกว๊าน ได้แก่ หญ้าปล้อง (Hymenachne pseudointerrupta) และไมยราบยักษ์ (Mimosa pigra)

4
วัดติโลกอาราม
3
เวียนเทียนกลางน้ำ วัดติโลกอาราม
ที่มา : www.bannaisoi.com

บริเวณกลางกว๊านพะเยา มีการพบซากประวัติศาสตร์เป็นวัดโบราณที่สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าติโลกราช มีชื่อว่า “วัดติโลกอาราม” ในวันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา และวันอาสาฬหบูชา จะมีการเวียนเทียนกลางน้ำรอบวัด เป็นแห่งเดียวในโลก นอกจากนั้นยังมีวัดคู่บ้านคู่เมืองของพะเยา คือ “วัดศรีโคมคำ” หรือชาวบ้านนิยมเรียกว่า “วัดพระเจ้าตนหลวง” ซึ่งเป็นที่ประดิษฐาน “พระเจ้าตนหลวง” พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของชาวพะเยา

ข้อมูลจากดาวเทียมไทยโชต บันทึกภาพเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2553 สังเกตได้ว่าบริเวณรอบกว๊านพะเยาเป็นพื้นที่สีเขียวซึ่งบริเวณนี้ส่วนใหญ่จะเป็นหญ้าปล้องและไมยราบยักษ์ พื้นที่สีน้ำตาลอ่อนทางด้านทิศตะวันตก มีการจัดสรรพื้นที่อย่างเป็นระเบียบซึ่งก็คือพื้นที่สำหรับเกษตรกรรม เช่น นาข้าว เป็นต้น แต่ช่วง เวลาที่ดาวเทียมไทยโชตบันทึกภาพ อยู่ในช่วงที่เพิ่งจะเก็บเกี่ยวผลผลิต สีน้ำตาลอ่อนในภาพจึงเป็นสีของดิน  สีฟ้าโทนสว่างเกาะกลุ่มกันทางด้านทิศตะวันออกของกว๊านพะเยา คือ สิ่งก่อสร้างที่เรียงตัวกันอย่างหนาแน่นหรือเขตเมืองซึ่งเป็นแหล่งชุมชนขนาดใหญ่ และเส้นสีฟ้าเทาทอดตัวในแนวทางเหนือ-ใต้คือถนนพหลโยธินที่ตัดผ่านตัวเมือง

ที่มา :  วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี / http://chm-thai.onep.go.th

 

Copyright © 2018 LEARN : อาณาจักรภูมิสารสนเทศ อาณาเขตแห่งการเรียนรู้

LEARN