26 มิถุนายน เปลี่ยนชื่อ “เมืองกุย” เป็น “เมืองประจวบคีรีขันธ์”

TH_MS_06032010_Prachuap Khilikhanข้อมูลจากดาวเทียมไทยโชต ระบบหลายช่วงคลื่น บันทึกภาพวันที่ 6 มีนาคม 2553

จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ในอดีตเป็นเมืองชั้นจัตวาเล็กๆ ที่รวมกันอยู่ภายใต้การปกครองของเมืองเพชรบุรี พอถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย จึงได้โปรดเกล้าฯ ตั้งเมืองชื่อว่า เมืองบางนางรม ที่ปากคลองบางนางรม แต่ที่ดินไม่เหมาะสมแก่การเพาะปลูกจึงย้ายเมืองไปตั้งที่เมืองกุย ซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์และมีการตั้งบ้านเรือนหนาแน่นกว่า

เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2398 ในสมัยรัชกาลที่ 4 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่อจาก “เมืองกุย” เป็น “เมืองประจวบคีรีขันธ์” โดยรวมเมืองกุย เมืองคลองวาฬ เมืองบางนางรมเข้าด้วยกัน ต่อมา พ.ศ. 2441 จึงย้ายมาอยู่ที่บ้านเกาะหลัก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงจัดการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาล เมืองประจวบคีรีขันธ์จึงได้เป็นเมืองชั้นจัตวาที่ขึ้นตรงกับเมืองเพชรบุรี และมีสถานะเป็นอำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์สังกัดเมืองเพชรบุรี ในช่วงนี้เมืองปราณบุรีซึ่งมีอาณาเขตติดต่อกับอำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ทางด้านทิศเหนือ ที่เคยมีฐานะเป็นเมืองชั้นจัตวาขึ้นกับเมืองเพชรบุรี ก็ได้จัดตั้งเป็นอำเภอเมืองปราณบุรีสังกัดเมืองเพชรบุรีด้วย และวันที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2449 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้มีพระบรมราชโองการเหนือเกล้าให้รวมอำเภอเมืองปราณบุรี อำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ ของจังหวัดเพชรบุรี และอำเภอกำเนิดนพคุณ ของจังหวัดชุมพร ซึ่งเป็นเมืองชั้นจัตวามาก่อนเข้ารวมเป็นจังหวัดปราณบุรี และในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงมีการเปลี่ยนชื่อเมืองปราณบุรีเป็นเมืองประจวบคีรีขันธ์ หลังจากการยกเลิกระบบการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาล เมืองประจวบคีรีขันธ์จึงไม่ได้ขึ้นตรงกับเมืองเพชรบุรีและมณฑลราชบุรีอีก

จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ตั้งอยู่ในภาคกลางตอนล่างของประเทศไทย ได้รับสมญานามว่า “ประตูสู่ภาคใต้” ซึ่งมีพื้นที่ประมาณ 6,357.62 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 3,973,512.50 ไร่ รูปร่างของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มีลักษณะยาวและแคบตามแนวเหนือใต้ ส่วนที่แคบที่สุดของประเทศไทยอยู่ที่ตำบลคลองวาฬ อำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ วัดจากชายฝั่งทะเลด้านตะวันออกบริเวณบ้านหว้าโทนไปจดชายแดนสหภาพพม่าที่ด่านสิงขรทางด้านทิศตะวันตก ซึ่งมีความกว้าง 12 กิโลเมตรและส่วนที่กว้างที่สุดของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์อยู่ที่อำเภอหัวหิน กว้างประมาณ 60 กิโลเมตร

ลักษณะภูมิประเทศของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มีความลาดเอียงจากทิศตะวันตกซึ่งเป็นเทือกเขาตะนาวศรีที่กั้นพรม แดนระหว่างประเทศไทยกับสหภาพพม่า ลาดลงสู่ด้านทิศตะวันออกบริเวณอ่าวไทย ด้านทิศตะวันตกเป็นภูเขาสลับซับซ้อน และพื้นที่ราบส่วนมากเป็นที่ราบเชิงเขา บางตอนเป็นที่ราบต่ำ ด้านชายฝั่งทะเลภูเขาทางทิศตะวันตกเป็นภูเขาหินแกรนิตส่วนภูเขาทางทิศตะวันออกเป็นภูเขาหินปูน

ลักษณะทางธรณีวิทยา บริเวณทิศตะวันออกจะเป็นที่ราบกว้างกว่าทางทิศตะวันตก ซึ่งเป็นแหล่งเกษตรกรรมและแหล่งประกอบอาชีพที่สำคัญของจังหวัด ประกอบด้วยกรวด ดินตะกอน โคลน ที่ถูกน้ำพัดพามาทับถมตามที่ราบชายฝั่ง ทาง บริเวณที่ราบชายฝั่งตะวันออกจะมีภูเขาเตี้ยๆ เป็นหย่อมๆ เป็นภูเขาหินปูน เช่น เขาตาม่องล่าย เขาเต่า เขาไกรลาส เขาล้อมหมวก เกาะทะลุ เกาะหลัก เขาสามร้อยยอด เขาตะเกียบ เกาะจาน เป็นหินสีเทา บางแห่งพบเป็นสีเทาอมน้ำเงิน อมเหลืองและอมขาว เป็นทั้งหินปูนเนื้อแน่นเป็นชั้นที่มีบรรพชีวิน

Map-Prachuap

 

ข้อมูลจากดาวเทียม ไทยโชต
ระบบ หลายช่วงคลื่น
รายละเอียดภาพ 15 เมตร
บันทึกภาพ วันที่ 6 มีนาคม 2553

Copyright © 2018 LEARN : อาณาจักรภูมิสารสนเทศ อาณาเขตแห่งการเรียนรู้

LEARN