ภาพดลใจ

พระบรมฉายาลักษณ์ของในหลวงรัชกาลที่ 9 ภาพหนึ่ง ที่ปรากฏในห้องโถงของหออัครศิลปิน

พระบรมฉายาลักษณ์ของในหลวงรัชกาลที่ 9 ภาพหนึ่ง ที่ปรากฏในห้องโถงของหออัครศิลปิน อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี เป็นจุดหนึ่งที่ผู้มาเยือนสถานที่แห่งนี้ นิยมใช้เป็นมุมสำหรับถ่ายภาพ ในภาพนั้น พระองค์ประทับยืนอยู่ท่ามกลางพสกนิกร พร้อมกับอุปกรณ์ 2 สิ่งที่หลายคนคงเคยได้เห็นเป็นภาพชินตา นั่นคือ “กล้องถ่ายภาพและแผนที่”

การถ่ายภาพ คือ Photography (อ่านว่า โฟโตกราฟฟี) มาจากการผสมคำกรีกสองคำ คือ คำว่า phos ซึ่งแปลว่า แสง กับคำว่า graphis หรือ graphê ซึ่งแปลว่า การเขียน เมื่อรวมกันแล้ว จึงมีความหมายตรงตัวว่า การวาดภาพด้วยแสง ในหลวงรัชกาลที่ 9 พระองค์ทรงเป็นนักวาดภาพด้วยแสง เป็นศิลปินนักถ่ายภาพที่ได้รับการยอมรับจากช่างภาพระดับครู

ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ของในหลวง รัชกาลที่ 9

“ผมได้เรียนรู้มากมายจากพระองค์ท่าน ไม่เฉพาะการถ่ายรูปเท่านั้น แต่เป็นแนวทางการใช้ชีวิต ผมจึงยึดพระองค์ท่านเป็นต้นแบบ ผมรู้สึกตื้นตันใจมาก สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณตลอดเวลา” อาจารย์สงคราม โพธิ์วิไล ช่างภาพผู้เคยถวายงานให้กับในหลวง ได้เคยกล่าวไว้กับหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน

แม้ว่าพระองค์จะทรงมีอัจฉริยภาพทางด้านการถ่ายภาพ แต่พระองค์ก็ไม่ได้ใช้กล้องถ่ายภาพเพื่อทำงานศิลปะสวยงามเท่านั้น กล้องถ่ายภาพยังถูกใช้เป็นเครื่องมือในการทรงงานของมหาราชในดวงใจของคนไทยพระองค์นี้ มาตลอดระยะเวลา 70 ปี อีกด้วย

นอกจากกล้องถ่ายภาพแล้ว แผนที่ก็เป็นอีกหนึ่งเครื่องมือชิ้นสำคัญของพระองค์ ยามเสด็จไปเยี่ยมเยียนประชาชน เพื่อใช้ในการเชื่อมโยงสภาพภูมิประเทศและนำมาสู่การแก้ปัญหาความเดือนร้อนขัดสนในแต่ละพื้นที่ อาจนับได้ว่าพระองค์คือ ผู้ที่ใช้ภาพถ่ายและแผนที่ ในการทำประโยชน์เพื่อสังคมโดยส่วนรวม ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ยิ่งกว่า “นักภูมิสารสนเทศ” คนใดได้เคยทำมา

นักภูมิสารสนเทศ คือ ผู้ที่ทำหน้าที่รวบรวม วิเคราะห์ แปลตีความภาพถ่าย และนำเสนอข้อมูลในรูปแบบแผนที่ จะว่าไปก็คล้ายๆ จะเป็นช่างภาพ ที่มีกล้องเป็นวัตถุเหนือพื้นโลกเรียกกันว่า “ดาวเทียมสำรวจโลก”

ดาวเทียมสำรวจโลก จะบันทึกภาพจากระยะเหนือพื้นโลกหลายร้อยกิโลเมตร ดาวเทียมแต่ละดวงจะบันทึกภาพในรายละเอียดที่แตกต่างกันตามแต่ภารกิจ ข้อมูลภาพที่ได้จากดาวเทียมเหล่านี้ เป็นข้อมูลตั้งต้นที่สำคัญสำหรับการสร้างแผนที่ยุคใหม่ สามารถบันทึกภาพความเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ในแต่ละช่วงเวลาได้ จึงถูกนำมาเป็นเครื่องมือในการติดตาม และตัดสินใจในประเด็นปัญหาของพื้นที่ในด้านต่าง ๆ เช่น ปัญหาการใช้ที่ดิน เขตป่าสงวน ภัยพิบัติ ฯลฯ

หนึ่งในดาวเทียมสำรวจโลกที่สำคัญดวงหนึ่งบนฟากฟ้า คือดาวเทียมไทยโชต “ไทยโชต (Thaichote)” คือนามที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 พระราชทานแก่ดาวเทียมสำรวจโลกดวงแรกของประเทศไทยดวงนี้ อันหมายถึง “ดาวเทียมที่ทำให้ประเทศไทยรุ่งเรือง”

ในหลวงรัชกาลที่ 9 พระราชทานพระบรมราชวโรกาส ให้นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี นำคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ หรือ กยอ. และคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ หรือ กยน. เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทกราบบังคมทูลรายงานเรื่องของการวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ และการวางแผนเพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศจากเหตุอุทกภัย ปี 2554 ภาพจาก เว็บไซต์มติชนออนไลน์

“พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงสนพระราชหฤทัยในเรื่องอวกาศอย่างยิ่ง และพระองค์ทรงงานด้านนี้มาก่อนที่สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศจะก่อตั้งขึ้นด้วยซ้ำ”

“พระองค์ทอดพระเนตรภูเขา แม่น้ำ หนอง บึง ก็สามารถเชื่อมโยงว่าบริเวณนั้นมีความลาดชันอย่างไร จะดำเนินการใด ๆ ได้บ้าง พระอัจฉริยภาพตรงนี้ คนทั่วไปไม่สามารถทำได้” ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ “จิสด้า” ได้เคยให้สัมภาษณ์เมื่อครั้งที่เคยร่วมคณะเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ทูลเกล้าฯ ถวายภาพถ่ายดาวเทียมที่แสดงให้เห็นสภาพน้ำท่วมครั้งใหญ่ในปี 2554

ในหลวงรัชกาลที่ 9 อาจจะไม่ได้จบการศึกษาทางด้านการถ่ายภาพ การแผนที่ หรือภูมิสารสนเทศ มาโดยตรง แต่พระองค์เป็นยิ่งกว่าช่างภาพ เป็นยิ่งกว่านักภูมิสารสนเทศ พระองค์ใช้ศาสตร์เหล่านี้ สร้างความผาสุก อยู่ดีกินดี ให้พสกนิกรของพระองค์มาแล้วกว่าสี่พันโครงการ

โครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่ตำบลเขาหินซ้อน อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา จากพื้นที่ที่สภาพเสื่อมโทรม มีการตัดไม้ทำลายป่า ทำให้ดินขาดความอุดมสมบูรณ์ ในหลวงท่านเข้ามาพัฒนาทั้งแหล่งน้ำ ฟื้นฟูสภาพป่า พัฒนาดิน รวมทั้งพัฒนาอาชีพ ส่งเสริมศิลปะหัตกรรม ทำให้ชาวบ้านมีความเป็นอยู่ดีขึ้น และกลายเป็นต้นแบบของการพัฒนาให้พื้นที่อื่น ๆ

ภาพถ่ายจากดาวเทียมไทยโชต ปี พ.ศ. 2556
โครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
ตำบลเขาหินซ้อน อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา โดย จิสด้า

โครงการประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่ตำบลทรงคะนอง อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ เป็นโครงการที่ลดผลกระทบจากภาวะที่น้ำเหนือไหลหลากเข้าท่วมเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เพราะลดระยะทางการไหลของแม่น้ำเจ้าพระยาช่วงคดเคี้ยว จาก 18 กิโลเมตร ให้เหลือ 600 เมตร ลดเวลาการเดินทางของน้ำจาก 5 ชั่วโมง ให้เหลือ 10 นาที ทำให้น้ำไหลลงสู่ทะเลได้สะดวกและรวดเร็วขึ้น

ภาพถ่ายจากดาวเทียม จากโปรแกรม Google Earth
โครงการประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์อันเนื่องมาจากพระราชดำริ
ตำบลทรงคะนอง อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ

การเดินทางอันยาวไกลพร้อมกับกล้องถ่ายภาพและแผนที่ไม่ใช่การเดินทางท่องเที่ยวเพื่อความสนุกสนานเบิกบาน แต่ทุกก้าวย่างของพระองค์มีเป้าหมาย คือ ทำให้ประชาชนไทยมีความสุข พ้นจาก ความยากจนข้นแค้น มีอาชีพสุจริต สร้างความยั่งยืนและมั่งคงอย่างพอเพียงให้กับชีวิตของตนและครอบครัวได้ เทคโนโลยีอาจเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว

นักภูมิสารสนเทศอาจจะใช้แผนที่ ใช้ภาพถ่ายดาวเทียมช่วยเหลือและแก้ปัญหาของประชาชนไทยได้มากมาย ถึงอย่างไรก็ไม่อาจเทียบได้กับกษัตริย์ของไทย และกษัตริย์ของโลกพระองค์นี้ ผู้เชื่อมโยงสรรพสิ่งบนแผ่นดิน และบูรณาการสรรพวิชาต่าง ๆ เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม ได้อย่างแท้จริง

แม้ว่าพระองค์จะจากเราไปแล้ว แต่เชื่อแน่ว่าไม่มีคนไทยคนไหนจะลืมพระองค์ได้ ภาพของในหลวงทุกภาพที่หออัครศิลปิน และภาพจำในใจของพสกนิกรชาวไทยทุกคนจะยังคงดำรงอยู่นานเท่านาน ดำรงอยู่เพื่อสร้างแรงดลใจ ให้เราทำทุกอย่างเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม เพื่อประโยชน์ของแผ่นดิน เหมือนที่ “พ่อ” ได้ทำมาตลอดพระชนม์ชีพ

หมายเหตุ หออัครศิลปิน เป็นแหล่งเรียนรู้ทางด้านศิลปวัฒนธรรม ตั้งอยู่ที่ถนนเลียบคลองห้า ตำบลคลองห้า อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี เวลาทำการ วันอังคาร-วันอาทิตย์ เวลา 9.30-16.00 น. โทรศัพท์ 0-2986-5020-4 พิกัด GPS: 14° 4’ 19.23” N 100° 42’ 16.80” E

หออัครศิลปิน ภาพโดย สุรสา ณ หนองคาย

*** “ภาพดลใจ” เป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้งานเขียน “สารคดี” ของการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการในโครงการถ่ายทอดงานศิลป์กับศิลปินแห่งชาติ “ลายลักษณ์วรรณศิลป์ รุ่น ๓” จัดโดยหออัครศิลปิน กรมส่งเสริมวัฒนธรรม  ระหว่างวันที่ ๑๐ – ๑๓ มิถุนายน ๒๕๖๐ ณ หออัครศิลปิน ตำบลคลองห้า อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี

ลายลักษณ์วรรณศิลป์เป็นการถ่ายทอดความรู้ ประสบการณ์ ในการสร้างสรรค์ผลงานของศิลปินแห่งชาติ ให้แก่ บุคลากรด้านการศึกษา นักเรียน นักศึกษา เยาวชน และผู้ที่มีความสนใจในศิลปะการใช้ภาษาไทย การประพันธ์ นวนิยาย เรื่องสั้น กวีนิพนธ์ และสารคดี เป็นการต่อยอดความรู้ เสริมสร้างประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญในการสร้างสรรค์งานวรรณศิลป์ และเป็นการเจริญรอยตามเบื้องพระยุคลบาทของอัครศิลปินในงานด้านวรรณศิลป์ 

รูปแบบของการฝึกอบรมมีทั้งการบรรยายกลุ่มใหญ่และแบ่งกลุ่มการเรียนรู้ ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม 1. กวีนิพนธ์  2. เรื่องสั้น และ 3. สารคดี กลุ่มการเรียนรู้ “สารคดี” นี้ มีอาจารย์ธีรภาพ โลหิตกุล ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ (สารคดี) พุทธศักราช ๒๕๕๘ และอาจารย์วีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง ผู้ทรงคุณวุฒิด้านวรรณศิลป์และนักเขียนประจำกองบรรณาธิการ นิตยสารสารคดี ร่วมถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ ***

Copyright © 2018 LEARN : อาณาจักรภูมิสารสนเทศ อาณาเขตแห่งการเรียนรู้

LEARN