การติดตามการเกิดไฟป่ารายวันด้วยข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียม Suomi NPP

เป็นระยะเวลากว่า 15 ปี ในการใช้ข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียม Terra และ Aqua ขององค์การนาซ่า ในระบบเซ็นเซอร์ Moderate Resolution Imaging Spectroradiometer หรือที่รู้จักกันในชื่อ MODIS ซึ่งเป็นการติดตามการเกิดจุดความร้อนบนพื้นผิวโลกแบบรายวัน แต่ตั้งแต่ปี 2012 เป็นต้นมา ได้มีเครื่องมือชื่อ Visible Infrared Imaging Radiometer Suite (VIIRS) ซึ่งติดตั้งบนดาวเทียม Suomi NPP ทำให้การติดตามสถานการณ์บนพื้นผิวโลกได้ดีมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการติดตามการเกิดจุดความร้อน (Hotspot/fire)

ทั้ง MODIS และ VIIRS เป็นระบบที่ติดตั้งบนดาวเทียมที่มีวงโคจรคล้ายกัน แต่มีความแตกต่างกันในด้านความละเอียดของข้อมูล (Spatial Resolution) ของเซ็นเซอร์การตรวจจับความร้อน โดยระบบ MODIS ตรวจพบจุดความร้อน (Hot spot) จากชั้นข้อมูลรายละเอียด 1000 เมตรต่อพิกเซล ในขณะที่ระบบ VIIRS ตรวจพบจุดความร้อนจากชั้นข้อมูลที่มีรายละเอียด 375 เมตรต่อพิเซล เป็นผลให้จำนวนจุดความร้อนจากระบบ VIIRS มีมากว่าจำนวนจุดความร้อนจากระบบ MODIS ประมาณ 3 เท่า ซึ่งเป็นผลมาจากความสามารถในการตรวจจับจุดที่มีขนาดเล็กหรือความร้อนต่ำได้

1
ข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียม Aqua MODIS บันทึกภาพเมื่อ 6 พฤศจิกายน 2558

2

ข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียม Suomi NPP VIIRS บันทึกภาพเมื่อ 6 พฤศจิกายน 2558

จากภาพด้านบนทั้ง 2 ภาพ จะเห็นถึงความแตกต่างของประสิทธิภาพของเซ็นเซอร์ทั้งระบบ MODIS และระบบ VIIRS ซึ่งภาพตัวอย่างทั้ง 2 เป็นภาพการเผาไหม้พื้นที่การเกษตร ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศจีน บันทึกภาพในช่วงเวลาเดียวกัน เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2558 โดยระบบ MODIS จะให้ผลลัพธ์จุดความร้อนที่ต่ำกว่าระบบ VIIRS ดังภาพ

ซึ่งความละเอียดที่ดีขึ้นนี้ จะเป็นผลดีในการใช้สังเกตุการณ์เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลที่ถูกต้อง รวมไปถึงสามารถนำไปสร้างแบบจำลองเพื่อคาดการณ์การเปลี่ยนแปลงหรือพฤติกรรมของไฟได้เป็นอย่างดี

อ้างอิงจาก :

NASA. (2015, December 08). A Clearer View of Fire. Retrieved February 24, 2016, from http://earthobservatory.nasa.gov/IOTD/view.php?id=87111

Copyright © 2018 LEARN : อาณาจักรภูมิสารสนเทศ อาณาเขตแห่งการเรียนรู้

LEARN