วิธีการแปลตีความข้อมูลภาพถ่ายด้วยสายตานั้น ถ้าจะมองว่าง่ายก็ง่าย จะมองว่ายากก็ยาก ขึ้นอยู่กับขนาดพื้นที่ ระดับการแปล หรือวัตถุประสงค์ของการแปล ถ้าพิจารณาถึงความนิยมของการแปลตีความด้วยสายตาในปัจจุบัน มีส่วนประกอบ ได้แก่
1. นิยามของการแปล เช่น ต้องการแปลพืชอะไร หรือระดับการแปลที่เท่าไร ข้อมูลที่จะต้องบันทึกมีรายละเอียดอะไรบ้าย ขอบเขตพื้นที่ที่ไหน ขนาดเท่าไร และมีรอบของการแปลต่อเนื่องเพื่อติดตามการเปลี่ยนแปลงเท่าไร กี่เดือน กี่ปี เป็นต้น
2. ข้อมูลภาพถ่าย เช่น ข้อมูลภาพถ่ายจาก UAV ข้อมูลภาพถ่ายทางอากาศ ข้อมูลภาพถ่ายจากดาวเทียมรายละเอียดสูงมาก สูง ปานกลาง หรือต่ำ เป็นต้น
3. ข้อมูลเสริมประกอบที่นำมาใช้ช่วยในการแปล เช่น ปฏิทินการเพาะปลูก แผนที่สภาพภูมิประเทศ Google Street View จุดสำรวจภาคสนามในที่ผ่านมาพร้อมรูปภาพประกอบ เป็นต้น
4. คอมพิวเตอร์ ไม่ว่าจะเป็น ประสิทธิภาพของเครื่อง หรือประเภทของคอมพิวเตอร์ เช่น โน๊ตบุ๊ค คอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะส่วนบุคคล เครื่อง Workstation หรือ ทำงานเป็นทีมเป็นกลุ่มผ่าน Server
5. โปรแกรมที่ใช้แปล เช่น ArcGIS, MapInfo, QGIS, MapWindow, uDig เป็นต้น
6. ผู้แปล เช่น ความรู้พื้นฐาน ประสบการณ์ ความชำนาญ ช่วงอายุ ความสามารถของสายตา และจิตใจ เป็นต้น
7. การออกสำรวจภาคสนาม เช่น การวางแผน การเดินทาง การเข้าถึงพื้นที่เป้าหมาย จุดตรวจสอบ เครื่องมือ อุปกรณ์ที่ใช้ รายละเอียดของการบันทึกข้อมูล และวิธีการตรวจสอบผลของการแปล
ในหนึ่งโครงการของงานแปลที่มีพื้นที่ขนาดใหญ่ ต้องใช้หลายคนช่วยในการแปล และมีความถี่ของงานแปลหลายปี จำเป็นต้องมีการออกแบบและวางแผนงานแปลให้ครอบคลุม เพื่อที่จะไม่ให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมาเมื่อนำข้อมูลที่แปลเสร็จแล้วของทุกคนมารวมเข้าด้วยกัน ซึ่งปัญหาที่พบจะมีดังนี้
1. การกำหนดนิยามของงานแปลชัดเจน แต่ขาดรายละเอียดที่จะทำให้ผู้แปลแต่ละคนที่มีประสบการณ์แตกต่างกันเข้าใจเป็นความหมายเหมือนกันได้ เช่น กำหนดให้แปล ไม้ยืนต้น ไม้ผล พืชสวน แต่ไม่ได้ให้รายละเอียดว่าแต่ละอย่างนั้นประกอบไปด้วยพืชอะไรบ้าง ซึ่งผู้แปลบางคนรู้ว่าพื้นที่ดังกล่าวปลูก ลำไย หรือ แก้วมังกร แต่ก็ไม่แน่ใจว่าจะจัดให้อยู่ในกลุ่มไหน ถ้ามีหลายคน ความผิดพลาดก็จะมีมากขึ้น ซึ่งถ้ามีการกำหนดไว้ว่าแต่ละกลุ่มพืชเหล่านั้นประกอบไปด้วยพืชอะไรบ้างก็จะทำให้การตัดสินใจได้ชัดเจนและง่ายขึ้น
2. หนึ่งพื้นที่หนึ่งช่วงเวลาแปลกันหลายคน ทำให้งานแปลไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เช่น ในโครงการต้องการแปลการใช้ประโยชน์ที่ดิน 3 ปี (2557, 2558, และ 2559) จังหวัดเชียงใหม่ นาย A ได้รับมอบหมายให้แปล ปี 2557 นาย B ปี 2558 และ นาย C ปี 2559 เมื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์ร่วมกันจะพบว่าข้อมูลมีการเปลี่ยนแปลงไปมากในแต่ละปีและไม่มีความต่อเนื่องกัน ซึ่งถ้าเป็นไปได้ควรจะกำหนดให้ทุกคนแปลทั้ง 3 ปีเหมือนกัน แต่แบ่งพื้นที่การแปลให้เท่ากัน จะทำให้การแปลในแต่ละพื้นที่ในแต่ละปีนั้นเป็นไปในทิศทางเดียวกัน นั่นคือให้ นาย A แปล 8 อำเภอ (อำเภอที่ 1 – 8) ทั้ง 3 ปี นาย B แปล 8 อำเภอ (อำเภอที่ 9 – 16) ทั้ง 3 ปี และ นาย C แปล 9 อำเภอ (อำเภอที่ 17 – 25) ทั้ง 3 ปี
3. การแปลที่ไม่มีความต่อเนื่อง ตรงช่วงรอยต่อระหว่างพื้นที่รับผิดชอบของแต่ละคน จากตัวอย่างในข้อที่ 2 ถ้านำพื้นที่ของ นาย A นาย B และ นาย C มาร่วมกันเป็นทั้งจังหวัดเชียงใหม่ สักหนึ่งปี คือ ปี 2555 จะพบว่า การแปลการใช้ประโยชน์ที่ดินตรงบริเวณรอยต่อของอำเภอที่ 1 – 8, 9 – 16, และ 17 – 25 จะไม่ต่อกันอย่างถูกต้อง เช่น รอยต่อของอำเภอที่ 1 – 8 แปลเป็นลำไย พอข้ามมาเป็นอำเภอที่ 9 – 16 กลายเป็นมะม่วง หรืออาจจะเป็นลำไยเหมือนกันแต่เส้นเขตไม่ตรงกัน ซึ่งจำเป็นจะต้องมีการปรับแก้ โดยอาจจะเลือกปรับแก้ช่วงอำเภอที่อยู่ตรงกลาง โดยอ้างอิงแนวเขตจากอำเภอด้านบนและด้านล่างเป็นต้น จะทำให้ได้ข้อมูลรอยต่อที่มีความถูกต้องทั้งจังหวัด
ที่มา : https://gi4u.wordpress.com/