โครงการประกวดสื่อภูมิสารสนเทศ ครั้งที่ 5 ประจำปี 2559

จัดโดย

สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน)
ร่วมกับ ศูนย์ภูมิภาคเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศทั้ง 5 แห่งทั่วประเทศ


หลักการและเหตุผล

สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) : สทอภ. ในฐานะหน่วยงานกลางด้านเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศได้เล็งเห็นความสำคัญและต้องการส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ผ่านการสร้างสื่อภูมิสารสนเทศ สทอภ. ได้กำหนดจัดการแข่งขันโครงการประกวดสื่อภูมิสารสนเทศ ครั้งที่ 5 ประจำปี 2559 ขึ้น เพื่อให้กลุ่มเยาวชนในระดับมัธยมศึกษาได้เรียนรู้และพัฒนาการจัดทำสื่อโดยใช้ข้อมูลภูมิสารสนเทศเพื่อให้เกิดประโยชน์ในการศึกษา และเผยแพร่สื่อต้นแบบไปยังกลุ่มเยาวชนต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อสร้างความตระหนักและความเข้าใจถึงประโยชน์ของเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศซึ่งจะเป็นการเพิ่มพูนความรู้ สร้างเสริมประสบการณ์และการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ ต่อไป

 

วัตถุประสงค์

  1. เพื่อพัฒนาทักษะความคิดริเริ่มในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศเพื่อการศึกษาอันจะเป็นรากฐานที่สำคัญยิ่งต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมอวกาศในอนาคต
  2. เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการพัฒนาการสร้างสื่อภูมิสารสนเทศในระดับมัธยมศึกษา
  3. เพื่อสร้างและพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ความสามารถทางด้านการสร้างสื่อภูมิสารสนเทศให้สามารถเกิดประโยชน์ในการนำไปใช้ในด้านอื่นๆ ต่อไป
  4. เพื่อสร้างเวทีการแข่งขันและสร้างความสนใจสำหรับเยาวชนที่มีความสามารถด้านคอมพิวเตอร์และการสร้างสรรค์สื่อเพื่อการเรียนการสอนทางด้านภูมิศาสตร์
  5. เพื่อให้ได้สื่อภูมิสารสนเทศต้นแบบที่หลากหลายซึ่งสามารถนำไปเผยแพร่เป็นสื่อที่ทุกโรงเรียนสามารถดาวน์โหลดนำไปใช้ในห้องเรียนได้

 

เป้าหมาย

  1. สนับสนุนโครงการพัฒนาสื่อภูมิสารสนเทศจากทั่วประเทศ ปีละ 18 โครงการ มีนักเรียนระดับมัธยมศึกษาเข้าร่วมในโครงการรวมทั้งสิ้นไม่น้อยกว่า 100 คน
  2. สร้างเวทีการแข่งขันด้านสื่อภูมิสารสนเทศระดับเยาวชนและระดับชาติ ตลอดจนนำผลงานไปสู่เชิงสังคมต่อไป
  3. สนับสนุนและส่งเสริมการพัฒนาการสร้างสื่อภูมิสารสนเทศให้แพร่หลายอันจะนำไปสู่การเข้าใจถึงประโยชน์ของเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศอย่างแท้จริง

 

รูปแบบการแข่งขัน

การประกวดสื่อภูมิสารสนเทศแบ่งออกเป็น 2 ระดับ ได้แก่

  1. ระดับภูมิภาค
  • การแข่งขันในระดับภูมิภาคนี้จะเปิดโอกาสให้นักเรียนระดับมัธยมศึกษาจากทั่วประเทศได้สร้างสื่อการสอนทางด้านภูมิศาสตร์ ในรูปแบบคลิปวีดีโอความยาว 7-10 นาที โดยไม่จำกัดเนื้อหา และส่งสื่อไปยัง สทอภ. และศูนย์ภูมิภาคเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ 5 แห่ง
  • การคัดเลือกรอบแรก คณะกรรมการในแต่ละศูนย์จะต้องคัดเลือก 3 ทีม เพื่อเป็นตัวแทนของแต่ละศูนย์ฯ ซึ่งมีทีมที่ผ่านการคัดเลือก ทั้งหมด 18 ทีม และเข้ารับการฝึกอบรมโดยแต่ละทีมจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับ เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศเพื่อการเรียนการสอน, การสร้างสื่อภูมิสารสนเทศด้วย Google Earth, เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ (3S), เทคนิคการเขียนบทและตัดต่อ จากผู้เชี่ยวชาญ และได้ศึกษาดูงานการรับสัญญาณและผลิตข้อมูลจากดาวเทียมสำรวจทรัพยากร ณ สถานีควบคุมและรับสัญญาณดาวเทียมไทยโชต พร้อมเข้าเยี่ยมชม Space Inspirium เป็นเวลา 1 สัปดาห์ และได้รับเงินสนับสนุนการสร้างสื่อทีมละ 3,000 บาท
  1. ระดับประเทศ
  • การคัดเลือกรอบที่ 2 หลังจากฝึกอบรมแล้วแต่ละทีมต้องกลับไปพัฒนาสื่อภูมิสารสนเทศ เพื่อบอกเล่าเรื่องราว ปรากฏการณ์ หรือภูมิประเทศในท้องถิ่นที่ล้วนแล้วแต่มีที่มาและประวัติอันน่าสนใจและแตกต่างกันออกไปในแต่ละพื้นที่ทั่วทั้งประเทศไทย ด้วยการสร้างแผนที่ในโปรแกรมทางด้านภูมิศาสตร์ และลำดับการนำเสนออย่างสมเหตุสมผล และต้องส่งกลับมาที่ สทอภ. เพื่อให้กรรมการคัดเลือกตัดสิน โดยจะตัดสินเลือกเพียง 10 ทีม ที่จะได้เข้าสู่รอบการแข่งขันระดับประเทศต่อไป
  • การแข่งขันรอบชิงชนะเลิศ ทีมที่ผ่านเข้ารอบจำนวน 10 ทีมหรือโรงเรียน ต้องนำเสนอสื่อภูมิสารสนเทศบนเวทีต่อหน้าคณะกรรมการ ในวันที่ 25 พฤศจิกายน 2559 ณ อาคารศูนย์ภูมิสารสนเทศสิริธร อุทยานรังสรรค์นวัตกรรมอวกาศ ตำบลทุ่งสุขลา อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี โดยมีคณะกรรมการตัดสินการประกวดสื่อฯ 5 ท่าน ได้แก่ ผศ.ดร.พรรณี ชีวินศิริวัฒน์ (อาจารย์ภาควิชาภูมิศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย), นายธีระยุทธ เฉยทิม (ผู้บริหาร ทรูปลูกปัญญา), นายศุภรัฐ บุญมาแย้ม (ผู้กำกับภาพยนตร์), ดร.ฐนิตา เสือป่า (หัวหน้าฝ่ายพัฒนาหลักสูตรและสื่อการสอน สทอภ.) และ นายกวิน กิ้มยก (นักพัฒนาธุรกิจ สทอภ.) โดยมีผลการตัดสินดังนี้

 

รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ทีม IndoChina Team โรงเรียนเชียงยืนวิทยา จังหวัดนครพนม
ผลงานสื่อฯ “สนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศสกับอธิปไตยเหนือเกาะกลางแม่น้ำโขง”

 

รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1  ได้แก่ ทีม PV Focus โรงเรียนพิมานวิทย์นราธิวาส จังหวัดนราธิวาส
ผลงานสื่อฯ “ดินแดนแห่งบางนรา”

 

รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2  ได้แก่ ทีม SMD THE GANGS Gen2 โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น ฝ่ายมัธยมศึกษา (มอดินแดง) จังหวัดขอนแก่น
ผลงานสื่อฯ ” THE POWER OF OLYMPIC “

 

รางวัลทีม Top Vote ได้แก่ ทีม Power Team โรงเรียนสหศาสตร์ศึกษา จังหวัดเชียงราย
ผลงานสื่อฯ “ชนเผ่าอาข่ากับการศึกษา”

รางวัลการแข่งขัน

  • ระดับภูมิภาค ทุนผลิตสารคดี 18 ทีมที่ผ่านรอบแรก รางวัล ละ 3,000 บาท
  • ระดับประเทศ
    • รางวัลชนะเลิศ อันดับที่ 1 ทุนผลิตสื่อฯ 50,000 บาท
    • รางวัลชนะเลิศ อันดับที่ 2 ทุนผลิตสื่อฯ 30,000 บาท
    • รางวัลชนะเลิศ อันดับที่ 3 ทุนผลิตสื่อฯ 20,000 บาท
    • รางวัลทีมยอดนิยม ทุนผลิตสื่อฯ 10,000 บาท

 

Copyright © 2018 LEARN : อาณาจักรภูมิสารสนเทศ อาณาเขตแห่งการเรียนรู้

LEARN