การศึกษาและวิเคราะห์วางแผนการผลิตทางการเกษตร ให้สอดคล้องกับสภาพดิน ฟ้า อากาศ แหล่งน้ำประเภทของเกษตรกรรม รายได้ และความต้องการของตลาด โดยการนำเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศมาเป็นเครื่องมือในการกำหนดเขตเกษตรเศรษฐกิจ
วัตถุประสงค์ : เพื่อกำหนดเขตเศรษฐกิจสำหรับสินค้าเกษตร
วิธีการศึกษา การกำหนดเขตเกษตรเศรษฐกิจสำหรับสินค้าเกษตร มีขั้นตอนในการดำเนินงาน 4 ขั้นตอน ได้แก่
1) การกำหนดเป้าหมายการผลิต พิจารณาแหล่งผลิต แนวโน้ม และความต้องการของตลาด
2) จัดสรรพื้นที่ให้เหมาะสมกับเป้าหมายการผลิต โดยใช้ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ วิเคราะห์จาก 9 ปัจจัย คือ ลุ่มน้ำ ชุดดิน ปริมาณน้ำฝน เขตชลประทาน การใช้ประโยชน์ที่ดินปัจจุบัน ขอบเขตการปกครอง เส้นทางคมนาคม ขอบเขตป่าไม้ตามกฎหมาย และระดับความสูงของพื้นที่
3) การวิเคราะห์หาความเหมาะสมของพื้นที่
– วิเคราะห์ระดับความเหมาะสมของดินและความสูงของพื้นที่ที่มีต่อการปลูกแต่ละชนิด
– วิเคราะห์ระดับความเหมาะสมของปริมาณน้ำที่มีต่อการปลูกแต่ละชนิด
– วิเคราะห์ระดับความเหมาะสมของดินและน้ำต่อการปลูกพืช
– วิเคราะห์และกำหนดเขตพื้นที่ตามระดับความเหมาะสม โดยจำแนกพื้นที่ออกเป็น 4 เขต คือ เขตเกษตรกรรม (Agricultural zone) เขตป่าเศรษฐกิจ (Economic forest zone) เขตป่าอนุรักษ์ (Conservative forest zone) และเขตอื่นๆ (Other zone) สำหรับเขตเกษตรกรรมได้จำแนกความเหมาะสมเป็น 4 ระดับ คือ พื้นที่เหมาะสมที่สุดในเขตเกษตรกรรม พื้นที่เหมาะสมปานกลางในเขตเกษตรกรรม พื้นที่เหมาะสมเล็กน้อยในเขตเกษตรกรรม พื้นที่ไม่เหมาะสม
4) วิเคราะห์ความสัมพันธ์ของปัจจัยทางกายภาพและปัจจัยทางเศรษฐกิจ เพื่อจัดทำแผนที่แสดงระดับของศักยภาพในการผลิตสินค้าเกษตรแต่ละชนิด
– พื้นที่ความเหมาะสมทางกายภาพ ในอำเภอนั้นมีพื้นที่ที่เหมาะสมที่สุด และเหมาะสมปานกลางกับการปลูกปาล์มน้ำมัน
- ระดับที่ 1 (2 คะแนน) มีความเหมาะสมที่สุด ตั้งแต่ 25,000 ไร่ ขึ้นไป
- ระดับที่ 2 (1 คะแนน) มีความเหมาะสมปานกลาง ตั้งแต่ 25,000 ไร่ ขึ้นไป
– พื้นที่ปลูกในปัจจุบัน ในอำเภอนั้นมีพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันในปัจจุบัน
- ระดับที่ 1 (2 คะแนน) ตั้งแต่ 20,000 ไร่ ขึ้นไป
- ระดับที่ 2 (1 คะแนน) ตั้งแต่ 2,000-19,999 ไร่
– ผลผลิตต่อไร่ พื้นที่ที่มีการปลูกปาล์มน้ำมันมีผลผลิตต่อไร่
- ระดับที่ 1 (2 คะแนน) ตั้งแต่ 2,500 กิโลกรัมต่อไร่ ขึ้นไป
- ระดับที่ 2 (1 คะแนน) ตั้งแต่ 2,000-2,499 กิโลกรัมต่อไร่
– ระยะทางห่างจากโรงงาน พื้นที่ที่มีการปลูกปาล์มน้ำมันมีระยะทางห่างจากโรงงานสกัดน้ำมันปาล์ม
- ระดับที่ 1 (2 คะแนน) ไม่เกิน 50 กิโลเมตร
- ระดับที่ 2 (1 คะแนน) ตั้งแต่ 51-100 กิโลเมตร
5) การกำหนดค่าถ่วงน้ำหนัก
เนื่องจากองค์ประกอบทั้ง 3 ประเภทดังกล่าวข้างต้นมีระดับความสำคัญที่จะนำมาพิจารณาไม่เท่ากันจึงได้กำหนดค่าถ่วงน้ำหนัก ดังนี้
– ปัจจัยที่ 1 พื้นที่เหมาะสมทางกายภาพ = 0.40
– ปัจจัยที่ 2 พื้นที่ปลูกในปัจจุบัน = 0.20
– ปัจจัยที่ 3 ผลผลิตต่อไร่ = 0.20
– ปัจจัยที่ 4 ระยะทางห่างจากโรงงาน = 0.20
รวม = 1.00
เมื่อเอาคะแนนคูณด้วยน้ำหนักในแต่ละอำเภอ ถ้าคะแนนอยู่ระหว่าง 1.5-2 คะแนน กำหนดให้อยู่ในศักยภาพอันดับที่ 1 ถ้าคะแนนอยู่ระหว่าง 1-1.49 คะแนน กำหนดให้อยู่ในศักยภาพอันดับที่ 2 จากนั้นจึงพิจารณาผลผลิตในแต่ละศักยภาพให้สอดคล้องกับเป้าหมายการผลิต
ตารางเกณฑ์การให้น้ำหนัก คะแนนของปัจจัยต่างๆ ของสินค้าเกษตรจำนวน 12 สินค้า
ผลการศึกษา
ผลการกำหนดเขตเศรษฐกิจสินค้าเกษตรได้ดำเนินการกำหนดเขตเศรษฐกิจเป็น 2 ลักษณะ คือ
1) การกำหนดเขตเกษตรเศรษฐกิจเป็นรายสินค้า (Commodities approach)
2) การกำหนดเขตเกษตรเศรษฐกิจตามศักยภาพการผลิตของพื้นที่ (Area approach) เศรษฐกิจสำหรับพืชแต่ละชนิด
ที่มา : ตำราเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศศาสตร์