ปัจจุบันระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ได้กลายเป็นที่รู้จักกันมากขึ้น ทำให้มีการศึกษาที่แตกต่างกันออกไปหลายแขนง สำหรับงานด้านระบาดวิทยาถือเป็นอีกศาสตร์หนึ่งที่เริ่มมีการใช้ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์เข้ามาประยุกต์ใช้ในการศึกษา เนื่องจากโปรแกรมทางด้านสารสนเทศได้ปรับปรุงให้มีฟังก์ชันช่วยในการทำงานและวิเคราะห์ที่เหมาะกับศาสตร์ที่แตกต่างกันออกไป การวิเคราะห์ด้านระบาดวิทยาส่วนใหญ่นิยมศึกษาการกระจายตัว ความหนาแน่นแนวโน้มการแพร่กระจายของโรค เพื่อนำมาใช้ในการกำหนดพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดโรค และควบคุมมิให้มีการแพร่ขยายต่อไป ตัวอย่างของการศึกษาด้านนี้ ดังเช่น การศึกษาการกระจายตัวของโรคพยาธิใบไม้ในตับ การวิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงต่อการระบาดของโรคไข้หวัดนก โรคไข้มาลาเรีย โรคฉี่หนู และอื่นๆ
งานด้านสาธารณสุขกับระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ ได้แก่ การศึกษาของ Prathmchai, K.(2004) ได้ประยุกต์ใช้ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ในการวางแผนด้าน Healthcare ในประเทศลาวเนื่องจากพื้นที่บางส่วนของประเทศลาวยังคงประสบปัญหาความขาดแคลนของบริการสาธาณสุขเนื่องจากข้อจำกัดหลายประการในการเข้าถึงสถานที่ผู้ศึกษาจึงพยายามพัฒนาระบบฐานข้อมูลสารสนเทศ สำหรับการวางแผนให้บริการด้านสาธารณสุขแก่ประชาชนในพื้นที่เข้าถึงยากในจังหวัดSavanakhet ทำการศึกษาโดยรวบรวมข้อมูลที่จำเป็น เช่น ข้อมูลตำแหน่งโรงพยาบาล พื้นที่ให้บริการ ความสามารถในการให้บริการ สิ่งอำนวยความสะดวก และจำนวนผู้ป่วยต่อพนักงานสาธารณสุขวิเคราะห์ข้อมูลที่เกี่ยวข้องเหล่านี้ในระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ดังแสดงในภาพ

ที่มา : Prathumchai, K. (2004)
เกณฑ์พิจารณาตำแหน่งอำเภอที่มีความขาดแคลนโรงพยาบาล คือ ระยะเวลาในการเดินทางไปโรงพยาบาล (Travel time) อุปกรณ์ทางการแพทย์ (Facilities) เมื่อได้พื้นที่อำเภอขาดแคลนแล้วขั้นตอนต่อมาคือการประเมินหาระบบงานที่เหมาะสมกับพื้นที่ มูลค่าการลงทุน และจำนวนผู้ป่วยต่อการให้บริการ

ที่มา : Prathumchai, K. (2004)
ผลการศึกษานี้ได้แสดงให้เห็นถึงคุณประโยชน์ในการใช้ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์เป็นเครื่องมือช่วยในการวินิจฉัยการกระจายตัวของสถานพยาบาล และวิเคราะห์มูลค่าการลงทุนสถานพยาบาลในอนาคต
ที่มา : ตำราเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศศาสตร์