จากข้อมูลการสำรวจของกรมทรัพยากรธรณีเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2555 พบว่า ประเทศไทยมีรอยเลื่อนมีพลังทั้งหมด 14 กลุ่ม วางตัวพาดผ่านพื้นที่ จํานวน 1,406 หมู่บ้าน 308 ตําบล 107 อําเภอ 22 จังหวัด โดยในเขตภาคเหนือเป็นเขตที่มีการพบรอยเลื่อนมีพลังอยู่มากที่สุดของประเทศไทย มีจำนวนมากถึง 9 รอยเลื่อน หนึ่งในนั้นก็คือ รอยเลื่อนแม่อิง
รอยเลื่อนแม่อิง พาดผ่านอำเภอเทิง อำเภอขุนตาล และอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ในแนวทิศตะวันออกเฉียงเหนือ-ตะวันตกเฉียงใต้ มีความยาวประมาณ 57 กิโลเมตร เป็นรอยเลื่อนที่มีพลังและยังเป็น 1 ใน 5 รอยเลื่อนที่นักวิชาการจับตาอย่างใกล้ชิดหลังจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวเชียงราย เมื่อปี 2557 นับว่าครั้งที่รุนแรงที่สุดในไทย ซึ่งรอยเลื่อนแม่อิงนี้ได้รับแรงเค้นการสั่นไหวของกลุ่มรอยเลื่อนพะเยา แต่ที่ต้องจับตามากเป็นพิเศษคือ รอยเลื่อนแม่จัน ซึ่งอยู่ใกล้รอยเลื่อนพะเยามากที่สุด
ภาพถ่ายจากดาวเทียมไทยโชตภาพนี้บันทึกภาพบริเวณอำเภอเชียงของและอำเภอขุนตาล จังหวัดเชียงราย มีลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ราบหุบเขาขนานไปกับภูเขา ซึ่งแถบนี้เป็นจุดที่มีรอยเลื่อนอิงพาดผ่านไปตามแนวเดียวกับถนนหมายเลข 1020 หรือตามแนวเทือกเขานั่นเอง จากภาพจะเห็นได้ว่าตลอดแนวรอยเลื่อนหรือบริเวณตีนเขาจะมีหมู่บ้านตั้งอยู่ตลอดสองฝากฝั่งถนน
ประชาชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณที่รอยเลื่อนมีพลังพาดผ่าน จึงควรต้องศึกษาทำความเข้าใจเรื่องรอยเลื่อนที่พาดผ่านในจังหวัด หรือหมู่บ้านของตัวเอง เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับแผ่นดินไหวที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต เพราะปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์ยังไม่สามารถทำนายได้ว่า แผ่นดินไหวในอนาคตจะเกิดที่ขึ้นไหน และเกิดขึ้นเมื่อไหร่
แผนที่รอยเลื่อนในจังหวัดเชียงราย >>http://www.dmr.go.th/dow…/article/article_20100625093557.jpg
ตรวจสอบรายชื่อหมู่บ้านที่มีรอยเลื่อนมีพลังพาดผ่าน จังหวัดเชียงราย >>http://www.dmr.go.th/…/…/freetemp/article_20100628095121.pdf
ที่มา geothai.net และ กรมทรัพยากรธรณี