
ภาพถ่ายจากดาวเทียมคลุมบริเวณแอ่งที่ราบเชียงใหม่ – ลำพูน และหุบเขารอยเลื่อนแม่ทา แอ่งที่ราบนี้มีภูเขาล้อมรอบ จัดเป็นแอ่งทับถมตะกอนในหุบเขา บริเวณแอ่งที่ราบมีขอบเขตโค้งป่องไปทางตะวันออก ทำให้เห็นรูปร่างในภาพถ่ายจากดาวเทียมคล้ายรูปกระเพาะ แนวโค้งป่องเป็นรูปกระเพาะนี้เห็นได้ทั้งขอบเขตบริเวณที่ราบน้ำท่วม ถึงแนวเชิงเขาด้านตะวันออก และแนวหุบเขารอยเลื่อนแนวโค้งแม่ทา ธรณีสัณฐานของแอ่งที่ราบนี้เป็นหลักฐานที่แสดงว่าการเกิดแอ่งที่ราบน่าจะสัมพันธ์กับการเกิดรอยเลื่อนแนวโค้งแม่ทา โดยบริเวณแอ่งด้านตะวันตกทรุดต่ำลงกว่าด้านตะวันออก และบริเวณภูเขาด้านตะวันตกมีลักษณะลาดชันกว่าบริเวณภูเขาทางตะวันออก
ตะกอนที่เกิดจาการกัดกร่อนบริเวณภูเขาถูกพัดพามาทับถมในบริเวณแอ่ง ในช่วงเวลาที่มีการทำงานไปพร้อมๆกันของการยกตัวของบริเวณภูเขา การทรุดตัวของแผ่นดิน และการทำงานของแม่น้ำที่มีการกัดกร่อน การพัดพาและการทับถมของตะกอนทำให้เกิดธรณีสัณฐานแบบต่างๆ ในบริเวณแอ่งที่ราบเชียงใหม่ ที่สำคัญ ได้แก่ ที่ราบน้ำท่วมถึงแม่น้ำปิง อยู่บริเวณส่วนกลางของแอ่งซึ่งมีแม่น้ำปิงไหลผ่าน
บริเวณภูเขาดอยสุเทพและบริเวณที่ต่อลงมาทางใต้ที่ราบน้ำท่วมถึงแม่น้ำกวงและแม่น้ำปิงซึ่งเป็นแม่น้ำขนาดใหญ่ไหลลงสู่แอ่งที่ราบเชียงใหม่เป็นบริเวณที่น่าจะได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมไหลบ่าเป็นประจำ
ที่มา หนังสือธรณีสัณฐานประเทศไทยจากห้วงอวกาศ