บันทึกนักสำรวจ ที่ 016 “ภูเขาไฟพนมรุ้ง”

11120509_586107821492078_7175339652727540473_o
ภูเขาไฟพนมรุ้งเป็นภูเขาไฟหินบะซอลต์แบบกรวยลาวา อยู่ห่างจากอำเภอเมืองบุรีรัมย์ ประมาณ 70 กิโลเมตรไปทางทิศใต้ เป็นเนินภูเขาไฟโดดเด่นบริเวณโดยรอบเป็นทุ่งราบ มีรูปร่างคล้ายเต่ายักษ์ยื่นหัวไปทางทิศเหนือ กว้างประมาณ 4 กิโลเมตร ยาวประมาณ 6 กิโลเมตร พื้นที่เขตภูเขาไฟและลาวาหลากกินพื้นที่ประมาณ 36 ตารางกิโลเมตร ยอดเขาเป็นแนวสันของปากปล่อง จุดสูงสุดมีค่า 386 เมตรจากระดับทะเลปานกลาง สูงจากที่ราบโดยรอบประมาณ 180 เมตร ปากปล่องอยู่ที่ศูนย์กลางเนินภูเขาไฟ มีความกว้างประมาณ 300 เมตร รูปร่างคล้ายชาม มีความลึกจากขอบปล่องประมาณ 70 เมตร สามารถขังน้ำได้เกิดเป็นหนองน้ำเล็กๆ อยู่ภายในปล่อง เป็นแหล่งน้ำจืดสำคัญสำหรับผู้อาศัยอยู่ในเขตปราสาทหินพนมรุ้งตั้งแต่อดีตกาล

หินที่พบในเขตภูเขาไฟพนมรุ้ง เป็นหินบะซอลต์สีเทา-ดำและมีรูพรุนเป็นส่วนมาก เกิดจากลาวาที่ค่อนข้างหนืดข้นมากจึงทำให้ก่อตัวเป็นเนินภูเขาไฟที่ค่อนข้างชัน เพราะลาวาจะเย็นตัวเร็วจึงไหลแผ่ออกไปไม่ไกล มีการก่อตัวในทางดิ่งมากกว่าภูเขาไฟลูกอื่นๆ ในเขตอีสานใต้

บนขอบปากปล่องภูเขาไฟพนมรุ้งด้านทิศใต้ มีปราสาทหินพนมรุ้งตั้งอยู่ ปราสาทหินนี้จัดเป็นเทวาลัยของศาสนาฮินดู สร้างติดต่อกันหลายศตวรรษ คือ ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 15 จนถึงต้นพุทธศตวรรษที่ 18 ปราสาทหินแห่งนี้มีความงดงามทางสถาปัตยกรรมมากและเด่นสง่าที่สุดในประเทศ

ที่มา ธรณีสัณฐานประเทศไทยจากห้วงอวกาศ

11209747_586108011492059_5867510613224604302_n
ปราสาทหินพนมรุ้ง
20902_586108018158725_6895424690877792363_n
ปราสาทหินพนมรุ้ง
11071167_586107998158727_5595830489802195165_n
ปราสาทหินพนมรุ้ง
11018316_586108024825391_2038005806955945025_n
ปล่องภูเขาไฟพนมรุ้ง
10430376_586107988158728_8153638224803528144_n
แมกมาและลาวา
11265263_586108014825392_8493074041603729842_n
อดีตปล่องภูเขาไฟพนมรุ้ง

Copyright © 2018 LEARN : อาณาจักรภูมิสารสนเทศ อาณาเขตแห่งการเรียนรู้

LEARN