การนำเข้าข้อมูลแบบเชิงเส้น (Vector data input)

ข้อมูลเชิงเส้นจะถูกนำเข้าสู่ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ด้วยอุปกรณ์ที่เรียกว่า ตัวแปลงเป็นเลข ซึ่งถูกออกแบบมาเพื่อภารกิจนี้โดยเฉพาะ ซึ่งประกอบด้วยอุปกรณ์หลักที่สำคัญ 3 ส่วนคือ 1) กระดานอิเล็กทรอนิกส์(Electronic tablet) 2) อุปกรณ์ชี้เล็งพร้อมปุ่มกดบังคับ (Pointing device หรือ Cursor with buttons) 3) อุปกรณ์จอแสดงผลอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic display)

ข้อมูลที่ถูกนำเข้าสู่ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ในรูปแบบของแผนที่จะถูกนำไปติดตั้งบนกระดานอิเล็กทรอนิกส์ จากนั้นผู้ปฏิบัติงาน (Operator) จะใช้อุปกรณ์ตัวชี้ตำแหน่ง (Cursor) พร้อมที่เล็ง (Cross-hair) ทำการวางลงบนตำแหน่งของแผนที่ที่ต้องการจัดเก็บข้อมูลเข้าสู่ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ และกดปุ่มบังคับที่ได้กำหนดไว้ข้อมูลในรูปของพิกัดของกระดานอิเล็กทรอนิกส์ก็จะถูกแสดงบนจอแสดงผลและส่งผ่านทางช่องรับ-ส่งข้อมูลแบบอนุกรมใช้ร่วม (Universal Serial Bus: USB) เข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์เพื่อรอการประมวลผลต่อไป

ในกรณีที่ข้อมูลมีลักษณะเป็นเชิงเส้น (Arc) หรือรูปหลายเหลี่ยม (Polygon) ผู้ปฏิบัติงานจะต้องทำการบันทึกข้อมูลในแบบจุดต่อจุดไล่เรียงกันไปเรื่อยๆ จนถึงจุดสุดท้ายหรือย้อนกลับมายังจุดแรกที่เป็นจุดเริ่มต้นอีกครั้งเมื่อทุกอย่างเรียบร้อยแล้วจึงเริ่มต้นเก็บข้อมูลของชุดใหม่ต่อไป การจัดเก็บข้อมูลในลักษณะแบบนี้เรียกว่าเป็นการจัดเก็บข้อมูลแบบทำด้วยมือ (Manual data capturing) ซึ่งเหมาะกับกรณีที่มีปริมาณข้อมูลไม่มากและไม่ซับซ้อนจนเกินไปในกรณีที่ข้อมูลค่อนข้างซับซ้อนและมีปริมาณมาก ผู้ปฏิบัติงานสามารถเลือกใช้อุปกรณ์อัตโนมัติที่เรียกว่า เครื่องแปลงเป็นเลขสำหรับเส้นแบบอัตโนมัติ (Automatic line-following digitizer) ก็ได้ โดยอุปกรณ์ดังกล่าวจะทำหน้าที่แปลงข้อมูลของเส้นใดๆ บนแผนที่ที่ถูกกำหนดไว้ล่วงหน้าโดยอัตโนมัติ

ปัจจุบันการนำเข้าข้อมูลโดยวิธีการแปลงข้อมูลเป็นเลขด้วยมือไม่ค่อยได้รับความนิยมเนื่องจากเป็นงานที่ซ้ำซาก ล่าช้าและสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายเป็นอย่างมาก ทำให้ผู้ปฏิบัติเปลี่ยนไปนิยมใช้การนำเข้าโดยวิธีกราดภาพซึ่งเป็นการนำเข้าอัตโนมัติแทน เพราะใช้เวลาน้อยกว่า ถึงแม้ว่าเครื่องกราดภาพจะยังมีราคาค่อนข้างสูงอยู่ก็ตาม

 

ที่มา : ตำราเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศศาสตร์

Copyright © 2018 LEARN : อาณาจักรภูมิสารสนเทศ อาณาเขตแห่งการเรียนรู้

LEARN