ข้อมูลสารสนเทศภูมิศาสตร์ (Geographic Information Data)

ข้อมูลสารสนเทศภูมิศาสตร์จัดเป็นข้อมูลเชิงพื้นที่ (Spatial data) ประกอบด้วย ข้อมูลที่เป็นข้อมูลเชิงภาพ (Graphic data) และข้อมูลลักษณะประจำ (Attribute data) โดยข้อมูลเชิงภาพนั้นสามารถจำแนกออกได้ตามลักษณะโครงสร้างของข้อมูลได้เป็นข้อมูลแบบเชิงเส้น (Vector data) และข้อมูลกริดหรือแรสเตอร์ (Grid or raster data) ซึ่งข้อมูลทั้งสองลักษณะนี้ต่างก็มีข้อดีและข้อด้อยแตกต่างกัน

ข้อมูลแบบเชิงเส้นเป็นข้อมูลที่ถูกจัดเก็บในลักษณะของค่าพิกัดของจุดข้อมูลซึ่งอาจแสดงถึง ลักษณะที่เป็นจุด (Point feature) หรือข้อมูลอาจเรียงต่อกันเป็นอนุกรมเพื่อแสดงถึงลักษณะเชิงเส้น (Linear features) หรือรูปปิดซึ่งแสดงถึงลักษณะเชิงพื้นที่ (Area features) ก็ได้ ตัวอย่างเช่น แผนที่ลายเส้น (Line map) เช่น แผนที่ภูมิประเทศ (Topographic map) ข้อมูลประเภทนี้มีข้อได้เปรียบในการจัดการเนื่องจากใช้เนื้อที่ในการจัดเก็บน้อย สามารถนำข้อมูลเข้าสู่ระบบสารสนเทศได้ง่าย อุปกรณ์มีราคาไม่แพง แต่การนำเข้าต้องอาศัยวิธีการนำเข้าด้วยมือเป็นส่วนใหญ่ จึงเหมาะกับภารกิจที่มีข้อมูลที่จะต้องบริหารจัดการไม่มากจนเกินไป

ข้อมูลแรสเตอร์เป็นข้อมูลที่ถูกจัดเก็บในลักษณะของตารางข้อมูลย่อย (Grid cell) ยิ่งขนาดของตารางข้อมูลย่อยมีขนาดเล็ก ปริมาณของข้อมูลที่จะต้องจัดเก็บก็จะมีมากเป็นทวีคูณ แต่ขณะเดียวกันข้อมูลที่ได้ก็จะมีความใกล้เคียงกับรายละเอียดจริงมากยิ่งขึ้น ข้อมูลแรสเตอร์นี้ต้องการใช้พื้นที่จัดเก็บเป็นจำนวนมาก เพราะแฟ้มข้อมูลมีขนาดใหญ่ ทำให้สิ้นเปลืองเนื้อที่ในการจัดเก็บ แต่ก็มีข้อดีคือ เนื่องจากข้อมูลมีลักษณะโครงสร้างเป็นแบบตารางจึงทำให้สามารถทำการเปลี่ยนแปลงแก้ไข ปรับปรุงข้อมูลได้สะดวกง่ายดายกว่าข้อมูลที่มีโครงสร้างเป็นแบบข้อมูลเชิงเส้น

 

ที่มา : ตำราเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศศาสตร์

Copyright © 2018 LEARN : อาณาจักรภูมิสารสนเทศ อาณาเขตแห่งการเรียนรู้

LEARN