ข้อมูล (Data) : มาตรฐานระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS standards)

การตระหนักถึงเรื่องมาตรฐานระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ เกิดจากแนวโน้มการเบนทิศทางเข้ามาร่วมกันของเทคโนโลยี การประยุกต์ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ และกลุ่มผู้ใช้ รวมทั้งข้อมูลเชิงพื้นที่ การจัดตั้งคณะกรรมการวิชาการที่ 211 ขององค์การมาตรฐานสากลในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ.1994 นั้น มีส่วนกระตุ้นให้เกิดกิจกรรมเกี่ยวกับการพัฒนามาตรฐานภูมิสารสนเทศทั่วโลก รองรับด้วยการเกิดการจัดตั้งกรรมการมาตรฐานระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ในองค์กรอาชีพระดับชาติ ระดับภูมิภาค และระดับนานาชาติขึ้นเรื่อยๆ เพื่อร่วมในการพัฒนามาตรฐานดังกล่าวการเข้ามามีส่วนร่วมในระดับประเทศผ่านองค์กรระดับชาติ สำหรับองค์กรระดับภูมิภาคและระดับนานาชาตินั้น ทำได้โดยการมีสถานภาพเป็นสมาชิกสมทบ ซึ่งไม่สามารถออกเสียงในกระบวนการนี้ แต่สามารถร่วมประชุมและพัฒนาได้

มาตรฐานระบบสารสนเทศ หมายถึง มาตรฐานของเทคโนโลยีสารสนเทศ และ/ หรือมาตรฐานข้อมูลเชิงพื้นที่ การพัฒนามาตรฐานระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์สะท้อนแนวโน้มของโลกแห่งมาตรฐาน นั่นคือ (1) การพัฒนามาตรฐานที่เกิดจากการคาดการล่วงหน้า (Anticipatory development) (2) การเพิ่มการมีส่วนร่วมของกลุ่มผู้ใช้และ (3) การบูรณาการของมาตรฐาน (Integration of standards) การพัฒนามาตรฐานที่ดำเนินการตามหลักดังกล่าวจะเป็นสิ่งที่ประกันได้ว่าได้มาตรฐานที่มีความเหมาะสม

มาตรฐานระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์อาจได้มาโดยการรับเอามาโดยตรง (Adoption) หรือการดัดแปลง(Adaptation) มาจากสิ่งที่มีอยู่แล้ว เช่น มาตรฐานการประยุกต์ใช้ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ ในมาตรฐานเทคโนโลยีสารสนเทศ (Information technology standard) ตัวอย่างการรับมาใช้ ได้แก่ การใช้ SQL เป็นมาตรฐาน ส่วนการดัดแปลง SQL ให้ใช้ได้กับการประยุกต์ใช้ในระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ เป็นตัวอย่างของการดัดแปลงของมาตรฐานในระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์นั้น ยังมีมาตรฐานข้อมูลเชิงพื้นที่ด้วย มาตรฐานข้อมูลเชิงพื้นที่กำหนดขึ้นมาเพื่อการกำหนด อธิบาย และดำเนินการเกี่ยวกับข้อมูลเชิงพื้นที่ ตัวอย่างของข้อมูลเชิงพื้นที่ในระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ ได้แก่ มาตรฐานการโอนย้ายข้อมูลเชิงพื้นที่ (Spatial Data Transfer Standard : SDTS) และมาตรฐานองค์ประกอบหรือเนื้อหา (Content standard) สำหรับ Digital geospatial metadata เป็นต้น

ในการพัฒนามาตรฐานนั้น โดยปกติแล้วจะพิจารณาการรับเอามาตรฐานที่มีอยู่แล้วมาใช้หรือดัดแปลงแก้ไขมาตรฐานที่มีอยู่เพื่อนำมาใช้ให้เหมาะกับแต่ละสถานการณ์ ส่วนการพัฒนาขึ้นมาใหม่ทั้งหมดนั้น เป็นวิธีการสุดท้ายที่ควรจะทำเนื่องจากเวลาที่ต้องใช้ในกระบวนการนี้ยาวนาน มาตรฐานต้องมีอยู่เมื่อต้องการใช้ ดังนั้นการพัฒนามาตรฐานควรเกิดขึ้นจากการคาดการณ์ไปข้างหน้า แล้วพัฒนาให้เกิดขึ้นแทนที่จะให้เกิดความต้องการแล้วจึงพัฒนาเพราะจะไม่ทันเวลาที่สำคัญ การรวมเอามาตรฐานอื่นๆ มาร่วมพิจารณาในระหว่างการพัฒนามาตรฐานนั้นเป็นการทำให้แน่ใจว่ามาตรฐานที่จะเกิดขึ้นสามารถใช้ร่วมกันได้ และจะทำให้มีการย้ำเน้น (Confirm) กับมาตรฐานต่างๆ ที่สามารถใช้ในการดำเนินการได้อย่างสะดวกและมีความมั่นใจยิ่งขึ้น

วัตถุประสงค์ของการนำเสนอนี้เพื่อให้เกิดความเข้าใจเกี่ยวกับมาตรฐานระบบสารสนเทศ ความเข้าใจนี้จะใช้เป็นพื้นฐานของการมีส่วนร่วมในการพัฒนา และการใช้มาตรฐานระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ เพื่อการจัดทำและบริหารจัดการข้อมูลเชิงพื้นที่เพื่อการประยุกต์ใช้ในการแก้ปัญหาระดับโลกที่กำลังเผชิญอยู่

 

ที่มา : ตำราเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศศาสตร์

Copyright © 2018 LEARN : อาณาจักรภูมิสารสนเทศ อาณาเขตแห่งการเรียนรู้

LEARN