สะพานพระนั่งเกล้า

TH_PS_01022012_Phra Nangklao
“สะพานพระนั่งเกล้า″ ข้อมูลจากดาวเทียมไทยโชต ระบบ Pan-sharpened บันทึกภาพเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2555

สะพานพระนั่งเกล้า เปิดการจราจรเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2528 เป็นสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาในเขตอำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี โดยเชื่อมการเดินทางระหว่างพื้นที่ตำบลไทรม้ากับตำบลบางกระสอเข้าด้วยกันตามแนวถนนรัตนาธิเบศร์ สะพานมีความยาว 545.10 เมตร โดยช่วงตัวสะพานยาว 329.10 เมตร และเชิงลาดสะพานทั้งสองฝั่ง 216 เมตร ความสูง 7.40 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง มีช่องทางจราจร 4 ช่องทาง

นายไชยวิชิต พรมนิส
สะพานพระนั่งเกล้า
ที่มา http://www.doh.go.th:88

ต่อมาเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2549 ได้ก่อสร้างสะพานคู่ขนานสะพานพระนั่งเกล้า ที่อยู่ด้านเหนือน้ำของสะพานพระนั่งเกล้า ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการก่อสร้างทางหลวงเพื่อแก้ไขปัญหาจราจรในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ตามแนวถนนรัตนาธิเบศร์ – งามวงศ์วาน – เกษตรฯ – นวมินทร์ ให้ประชาชนใช้เส้นทางสัญจรไปมาได้รับความสะดวกไม่ประสบปัญหาการจราจรติดขัด เนื่องจากสะพานพระนั่งเกล้าไม่สามารถรองรับการจราจรที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในชั่วโมงเร่งด่วน ซึ่งกรมทางหลวงเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการ สะพานคู่ขนานสะพานพระนั่งเกล้า เปิดให้ใช้การจราจรเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551 มีช่องทางจราจร 6 ช่องทาง โดยเชื่อมต่อกับช่องทางหลักของถนนรัตนาธิเบศร์ ช่องทางคู่ขนานใช้สะพานเก่า ที่มีความยาวตลอดช่วงสะพานถึง 2 กิโลเมตร ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาและถนนนนทบุรี 1 มีความยาวช่วงกลางแม่น้ำเท่ากับ 229 เมตร ซึ่งถือว่าเป็นสะพานคอนกรีตรูปกล่องที่ก่อสร้างด้วยวิธีคานยื่นสมดุล (balanced cantilever) ที่มีช่วงกลางแม่น้ำยาวที่สุดในประเทศไทย ส่วนความสูงมีความสูงกว่าสะพานพระนั่งเกล้า 9 เมตร

 จากภาพข้อมูลจากดาวเทียมไทยโชต ด้านทิศตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาคือตำบลบางกระสอ มีสะพานพระนั่งเกล้าข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาไปทางตำบลไทรม้าตามแนวถนนรัตนาธิเบศร์ ทางด้านทิศตะวันตกมีหมู่บ้านจัดสรรอยู่หนาแน่นดังปรากฏบนภาพที่มีลักษณะการเรียงตัวของอาคารแบ่งเป็นระเบียบ อยู่ภายในอาณาเขตและมีหลังคาที่มีลักษณะเหมือนหรือคล้ายกัน (ภาพซ้ายบนและซ้ายล่าง) นอกจากนั้นยังมีต้นไม้สลับกับหมู่บ้านจัดสรรดังปรากฏให้เห็นเป็นสีเขียว ส่วนทางด้านทิศตะวันออกมีลักษณะของหลังคาทรงจั่วสีแดง ซึ่งบริเวณนี้ก็คือวัดแจ้งศิริสัมพันธ์

Phra Nangklao map

ที่มา : วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

Copyright © 2018 LEARN : อาณาจักรภูมิสารสนเทศ อาณาเขตแห่งการเรียนรู้

LEARN