ฝั่งทะเลตะวันตก จังหวัดพังงาและภูเก็ต

แนวชายฝั่งทะเลตะวันตกบริเวณอ่าวพังงา เกาะภูเก็ต และเกาะอื่นๆ แสดงให้เห็นถึงลักษณะเว้าของชายฝั่งทะเลและมีเกาะมากมาย ลักษณะดังกล่าวเป็นลักษณะของชายฝั่งจมน้ำหรือลดตัว ทำให้แผ่นดินเดิมที่เคยอยู่เหนือน้ำจมอยู่ใต้น้ำ และโผล่ให้เห็นเป็นเกาะและอ่าวเว้าลึก เช่น เกาะภูเก็ต เป็นต้น เทือกเขาทางด้านทิศตะวันตกของอ่าวพังงาเป็นภูมิประเทศหินแกรนิต ส่วนทางด้านทิศตะวันออกและเกาะต่างๆ เป็นภูมิประเทศเขาหินปูน มีลักษณะพิเศษเฉพาะตัว คือ มีหน้าผาสูงชัน มีถ้ำและเกาะต่างๆ ในอ่าวพังงา เช่น เขาพิงกัน ถ้ำลอด เกาะปันหยี เขาตะปู เป็นต้น ซึ่งมีภูมิทัศน์แปลกตาเป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยว

ที่มา http://park.dnp.go.th

สำหรับฝั่งทะเลที่เว้าเข้าไปเป็นอ่าว เป็นที่ราบน้ำทะเลขึ้นถึงมีป่าชายเลนอยู่ทั่วไป บริเวณเหล่านี้จะเป็นช่วงที่น้ำจืดไหลมาปะทะกับน้ำเค็ม แล้วผสมกลมกลืนกับน้ำเค็ม ทำให้น้ำมีสภาพเป็นน้ำกร่อย และจะเค็มมากขึ้นเมื่อออกสู่ทะเล ฝั่งทะเลลักษณะ เช่น อ่าวพังงา นี้เรียกว่า ชะวากทะเล ส่วนพื้นที่ดินตะกอนบริเวณปากอ่าวทั้งหมดเรียกว่า ดินดอนสามเหลี่ยมชะวากทะเล ลักษณะดินตะกอนบริเวณนี้เป็นดินตะกอนเนื้อละเอียดผสมปนกับเศษรากพืช มีลักษณะเป็นดินเลนสีเทาปนน้ำเงิน มีเกลือและสารประกอบกำมะถันมาก ป่ามีลักษณะค่อนข้างสมบูรณ์จัดเป็นป่าชายเลน ไม้สำคัญที่ขึ้น ได้แก่ โกงกางใบใหญ่, โกงกางใบเล็ก, แสม, ลำพู, ตะบูน, ปรง, ประสก และถั่วต่างๆ เป็นต้น ไม้ป่าชายเลนเหล่านี้ล้วนแต่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจและที่สำคัญคือ มีผลต่อสิ่งแวดล้อมหรือระบบนิเวศ ป่าชายเลนนอกจากเป็นที่อาศัยของสัตว์น้ำวัยอ่อน เช่น กุ้ง หอย ปู ปลา ก่อนที่จะออกสู่ทะเล เพื่อเจริญวัยแล้วยังทำหน้าที่เป็นหม้อกรองขนาดใหญ่ เพื่อกรองสิ่งต่างๆ ก่อนออกสู่ทะเล และป้องกันไม่ให้ชายฝั่งทะเลเกิดการชะล้างพังทลาย ตลอดจนป้องกันคลื่นและลมให้มีความเร็วลดลง เมื่อปะทะกับชายฝั่ง ด้วยเหตุดังกล่าวจึงสมควรอย่างยิ่งที่จะต้องอนุรักษ์เอาไว้

อุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา ตั้งอยู่บริเวณชายฝั่งทะเลอันดามันของประเทศไทยในท้องที่อำเภอเมืองพังงา อำเภอตะกั่วทุ่ง และอำเภอเกาะยาว มีพื้นที่ประมาณ 250,000 ไร่ ส่วนใหญ่เป็นทะเล และเกาะน้อยใหญ่ มีเขาหินปูนลักษณะต่าง ๆ ที่มีความงามแตกต่างกันไปตามลักษณะของหิน สมบูรณ์ด้วยป่าชายเลน และยังเป็นแหล่งขยายพันธุ์สัตว์น้ำอีกด้วย โดยได้รับการประกาศให้เป็นเขตอุทยานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2524

003
ที่มา http://img214.imageshack.us
002
ที่มา http://img248.imageshack.us

ที่มา: http://travel.kapook.com/view36093.html
รวบรวมเนื้อหาโดย ณัฐพล สมจริง

MAP_Phangnga

Copyright © 2018 LEARN : อาณาจักรภูมิสารสนเทศ อาณาเขตแห่งการเรียนรู้

LEARN