หนองทะเลสองห้อง Nong Thale Song Hong

nongthalesonghongori4-5-2556

หนองทะเลสองห้อง เป็นแหล่งน้ำธรรมชาติอยู่ใน อ.ห้วยยอด จ.ตรัง ในภาพจากดาวเทียมโดยรอบหนองทะเลสองห้องเห็นเป็นเนินเขาตะปุ่มตะป่ำ และเนินเขาโดดจำนวนมาก ลักษณะเช่นนี้ส่วนมากแสดงถึงบริเวณหินปูนที่น่าสังเกตอีกอย่างคือ ในบริเวณนี้มีลำน้ำอยู่น้อยมาก ทั้งๆที่ จ.ตรังอยู่ในภาคใต้อยู่ในเขตที่ฝนชุกควรจะมีลำน้ำซึ่งเป็นเส้นทางระบายน้ำจำนวนมาก ดังนั้นสภาพที่มีเส้นทางระบายน้ำจำนวนน้อยในเขตที่ฝนชุกจะเป็นข้อสันนิษฐานได้อีกอย่างหนึ่งว่า บริเวณนี้น่าจะเป็นหินปูน เพราะบริเวณหินปูนจะมีโพรงภายในหินซึ่งรองรับอยู่ชั้นล่างจำนวนมากเนื่องจากหินปูนถูกน้ำที่มีคาร์บอนไดออกไซด์ปนอยู่ มีคุณสมบัติเป็นกรดอ่อนๆ ละลายหินปูนให้เกิดเป็นช่องโพรง ทำให้บริเวณหินปูนมีระบบการระบายน้ำใต้ดิน จึงเห็นลำน้ำที่มีจำนวนน้อยจากภาพถ่ายดาวเทียม

ธรณีสัณฐานของหนองทะเลสองห้อง เกิดโพรงขนาดใหญ่หรือถ้ำขนาดใหญ่ในหินปูนซึ่งอยู่ใต้ผิวดิน เมื่อน้ำละลายหินปูนจะขยายโพรงหินให้กว้างเรื่อยๆ ทำให้เพดานโพรงหินซึ่งอยู่ใต้ผิวดินบางลงจนไม่สามารถรับน้ำหนักข้างบนไว้ได้ เพดานโพรงหินจึงยุบพังลงซึ่งเรียนว่า “หุบยุบ” หรือหลุมยุบเชื่อมต่อขนาดใหญ่สำหรับธรณีของหนองทะเลสองห้องนั้น เนื่องจากมีโพรงหินปูนขนาดใหญ่สองโพรงเรียงกันอยู่ตามแนวระบายน้ำใต้ดิน แต่ช่วงที่เชื่อมต่อทั้งสองโพรงมีขนาดไม่กว้างใหญ่ เมื่อเพดานของในแนวนี้ยุบลง จิงเกิดเป็นหลุมสองหลุมขนาดใหญ่เชื่อมต่อด้วยช่องแคบๆเป็นลักษณะสองห้อง เนื่องจากบริเวณนี้มีระดับน้ำใต้ดินสูงจึงมีน้ำขังเป็นหนองตลอดปี และหนองมีขนาดก้างกว้างประมาณ 500-600 เมตร จึงเรียกว่า “ทะเลสองห้อง” แต่ลักษณะธรณีสัณฐานเป็นเพียงหนองหินปูนขนาดใหญ่

บริเวณหินปูนภาคใต้หลายแห่งโดยเฉพาะชายฝั่งทะเลด้านตะวันตก เป็นหินปูนยุคเพอร์เมียน ซึ่งเกิดจากการตกตะกอนของหินปูนและซากสัตว์ในทะเลเมื่อประมาณ 200 กว่าล้านปีมาแล้ว หินปูนเหล่านี้บางส่วนอยู่ใต้พื้นดิน บางส่วยเหลือจากการสึกกร่อนกลายเป็นเนินเขาโดด หรือเป็นกลุ่มเนินเขา บางส่วนเป็นเกาะอยู่ในทะเล เช่นบริเวณอ่าวพังงา บริเวณใกล้เคียงกับหนองทะเลสองห้อง ก็มีเกาะซึ่งเป็นหินปูนลักษณะเดียวกันอยู่หลายแห่งเช่นที่ปากเม็ง อ.สิเกา จ.ตรัง นอกจากนั้นยังมีเนินเขาหินปูนกระจายอยู่ใกล้หนองทะเลสองห้องอยู่เป็นจำนวนมาก สังเกตได้ในภาพจากดาวเทียม คือลักษณะเนินเขาที่กระจัดกระจายไม่เป็นทิวยาว บางเนินอยู่โดดซึ่งเรียกว่า “เนินเขาลอมฟาง”(hay stack) เนินเขาเช่นนี้จะโดดเด่นอยู่บนที่ราบหินปูน มักจะพบหลุมยุบ หุบยุบและหนองน้ำเช่นเดียวกันหนองทะเลสองห้อง

Copyright © 2018 LEARN : อาณาจักรภูมิสารสนเทศ อาณาเขตแห่งการเรียนรู้

LEARN