การฝึกอบรม Training for Trainer on Aerospace for STEM Educationสำหรับโรงเรียนต้นแบบในภาคตะวันออก

สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือจิสด้า ร่วมกับศูนย์ภูมิภาคเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ ภาคตะวันออก มหาวิทยาลัยบูรพา  Drone Academy Thailand และ DevDroneMapper ร่วมกันจัดฝึกอมรมหลักสูตร Training for Trainer on Aerospace for STEM Education ภายใต้กิจกรรม Aerospace Smart School โครงการสร้างความตระหนักด้านเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ ระดับเยาวชน วันที่ 19 ธันวาคม 2560 ณ คณะภูมิสารสนเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา โดยมีโรงเรียนต้นแบบที่จะนำโดรนเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการสอน ในภูมิภาคตะวันออก จำนวน 10 โรงเรียน

การฝึกอบรมดังกล่าวจะเน้นตัวอย่างแนวคิดและวิธีใหม่ๆในการประยุกต์ใช้โดรนเพื่อส่งเสริมการศึกษาในรูปแบบ STEM ในระดับมัธยมศึกษา อาทิเช่น การควบคุมโดรนด้วยการเขียนโปรแกรมอย่างง่าย การเก็บข้อมูลวิทยาศาสตร์ด้วยโดรน และการสร้างแผนที่จากโดรน เป็นต้น อันจะเป็นการส่งเสริมให้มีการประยุกต์ใช้และพัฒนาเทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับ ต่อยอดไปถึงการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศของไทยในอนาคต อีกทั้งเพื่อสนับสนุนการเรียนรู้และพัฒนากระบวนความคิดของเยาวชนไทย ผ่านกลไลการเรียนรู้ตามความสนใจหรือชมรม Aerpspace ในโรงเรียนตามรูปแบบ STEM ภายใต้การดูแลอย่างใกล้ชิดจากผู้เชี่ยวชาญ 

โรงเรียนต้นแบบจากภาคตะวันออกที่ผ่านการคัดเลือก ประกอบด้วย ร.ร.ชลบุรี “สุขบท” ร.ร.ชลราษฎรอำรุง ร.ร.วัดพลา ร.ร.เบญจมราชรังสฤษฏิ์ ร.ร.สระแก้ว ร.ร.วัดป่าประดู่ ร.ร.ตราษตระการคุณ ร.ร.จุฬาภรณ์ราชวิทยาลัย ชลบุรี ร.ร.อนุบาลธรรมศิริวิทยาคาร สระแก้ว และร.ร.มาบตพุดพิทยาคาร ซึ่งในอนาคตโรงเรียนเหล่านี้จะจัดตั้งชมรม Aerospace เพื่อเป็นทางเลือกให้นักเรียนที่สนใจในด้านวิทยาศาสตร์การบินได้มีโอกาสในการพัฒนาความชอบสู่การเป็นมืออาชีพต่อไป

ในการฝึกอบรมดังกล่าวได้รับเกียรติจากคุณวรัญญา ชนะสงคราม รักษาการหัวหน้าสำนักงานคณบดี คณะภูมิสารสนเทศศาสตร์กล่าวต้อนรับและแสดงความยินดีต่อคณะนักเรียนและอาจารย์จากโรงเรียนต้นแบบ

ในชั่วโมงแรกของการฝึกอบรม คณะนักเรียนและอาจารย์ได้รับฟังการนำเสนอเกี่ยวกับกิจกรรม Aerospace Smart School โดย นายจักรพงษ์ ทะวะละ นักวิชาการเผยแพร่ GISTDA เพื่อสร้างความเข้าใจถึงวัตถุประสงค์โครงการและแผนงานร่วมกัน  ซึ่งจักรพงษ์กล่าวว่าการอบรมในครั้งนี้เป็นเพียงการสร้างความเข้าใจถึงแผนงานตลอดปี เพื่อทำให้ทุกท่านเห็นภาพของการนำโดรนซึ่งเป็นหนึ่งในเทคโนโลยี AEROSPACE ที่กำลังได้รับความนิยมในปัจจุบัน มาปรับปรับใช้ในการเรียนการสอนในรูปแบบ STEM ในโรงเรียนได้อย่างไร และสิ่งที่ทุกคนได้ลองเล่นในวันนี้จะถูกปรับลงสู่กิจกรรมของชมรม Aerospace ต่อไป และเมื่อนั้นทุกคนในชมรมจะได้เรียนรู้ในเชิงลึกอีกต่อไป

คุณปราณสาย ชีวะคำนวณ Drone Engineer จาก Drone Academy Thailand ได้นำทีมฝึกให้น้องๆได้ทดลองเขียนโปรแกรมควบคุมโดรนขนาดเล็ก ซึ่งใช้เวลาอุ่นเครื่องไม่ถึงสิบนาที น้องก็สามารถเขียนโปรแกรมควบคุมโดรนให้ทำงานได้อย่างรวดเร็วตามโจทย์ที่ให้ไว้ อีกทั้งยังสามารถควบคุมการเคลื่อนไหวของโดรนได้หลากหลายท่าทาง สร้างเสียงหัวเราะและสนุกสนานในห้องเรียนได้เป็นอย่างยิ่ง

กฏข้อบังคับต่างๆที่เกี่ยวข้องกับโดรนก็นับเป็นสิ่งสำคัญสำหรับนักเรียนทุกคนควรจะต้องรู้และปฎิบัติตาม การอบรมในครั้งนี้จึงเป็นการทบทวรเรื่องกฏหมายเกี่ยวกับโดรนแบบเข้าใจง่ายให้นักเรียนและอาจารย์อีกครั้ง โดยนายอัตชัย สุวรรณ์ นักวิชาการเผยแพร่ GISTDA ทั้งนี้ข้อระเบียบดังกล่าวก็จะมีการออกแบบให้ถ่ายทอดสู่นักเรียนระหว่างทำกิจกรรมชมรมต่อไป

นอกเหนือจากการเขียนโปรแกรมควบคุมโดรนและเรื่องของกฏหมายโดรนแล้ว นักเรียนที่เข้าร่วมกิจกรรมทุกคนยังได้มีโอกาสได้เรียนรู้การประมวลผลข้อมูลจากภาพถ่ายจากโดรนเพื่อการทำแผนที่ โดย ดร.กฤษนัยน์ เจริญจิตร และทีมงาน Devdronemapper เนื่องจากในปัจจุบันโดรนเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการถ่ายภาพมุมสูงซึ่งภาพแนวดิ่งสามารถนำมาทำเป็นแผนที่รายละเอียดสูงได้ด้วย จึงทำให้การทำแผนที่ด้วยโดรนกำลังเป็นที่นิยมในกลุ่มนักวิชาการภูมิสารสนเทศในปัจจุบัน และก็จะเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการเก็บข้อมูลสำหรับชมรม AEROSPACE ในอนาคตอีกด้วย

หลังจากการประมวลผลเพียงไม่นาน ความตั้งใจของน้องๆก็เป็นผล ได้ออกมาเป็นผลงานแผนที่สนามกีฬาาภายในมหาวิทยาลัยบูรพาที่เป็นผลงานของน้องๆจากโรงเรียนต้นแบบในภาคตะวันออก ทั้งรูปแบบ 2D และ 3D นับเป็นความสามารถของเด็กไทยในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีด้านอากาศยานได้อย่างค่องแคล่ว ขอเพียงแค่มีโอกาสในการแสดงออกของเยาวชนเท่านั้น

การทำแผนที่ 3 มิติ และ 2มิติ ในพื้นที่มหาวิทยาลัยบูรพา โดยอาจารย์กฤษนัยน์

โดยหลังจากนี้กลุ่มโรงเรียนต้นแบบ 7 โรงเรียนนี้ต้องกลับไปดำเนินการจัดตั้งชมรม AEROSPACE เพื่อเป็นกลไกการขับเคลื่อนองค์ความรู้ดังกล่าวให้แพร่หลายในโรงเรียน และเป็นต้นแบบให้กับโรงเรียนอื่นๆทั่วประเทศ โดยจิสด้าและเครือข่ายจะให้การสนับสนุนองค์ความรู้อย่างต่อเนื่อง เพื่อนำไปสู่การประยุกต์ใช้โดรนในโรงเรียนอย่างเป็นรูปธรรม และต่อยอดสู่การแข่งขันทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ และเพื่อเตรียมบุคลากรให้พร้อมต่อการพัฒนาประเทศด้วยนวัตกรรม ขับเคลื่อนเทคโนโลยีอวกาศของประเทศไทยให้ก้าวไกลในอนาคต

 

กําหนดการ

การฝึกอบรม Training for Trainer on Aerospace for STEM Education
ภายใต้กิจกรรม Aerospace Smart School
วันอังคารที่ 19 ธันวาคม 2560 ระยะเวลาการฝึกอบรม 1 วัน
ณ ห้อง QS2-508V คณะภูมิสารสนเทศศาสตร์ อาคาร 60 พรรษามหาราชินี 2
มหาวิทยาลัยบูรพา จ.ชลบุรี

  • 08.30 – 09.00 ลงทะเบียน
  • 09.00 – 09.15 พิธีเปิด กล่าวต้อนรับโดย ศูนย์ภูมิภาคเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ ภาคตะวันออก มหาวิทยาลัยบูรพา
  • 09.15 –  10.00 แนะนำ รายละเอียดกิจกรรม Aerospace Smart Schoolโดย จักรพงษ์ ทะวะละ นักวิชาการเผยแพร่ GISTDA
  • 09.30 – 10.00 กฏข้อบังคับที่ควรรู้เกี่ยวกับ UAVโดย อัตชัย สุวรรณ์ นักวิชาการเผยแพร่ GISTDA
  • 10.00 – 10.15 พักรับประทานอาหารว่าง
  • 10.15 – 11.15 การประยุกต์ใช้งาน UAV เพื่อประโยชน์ในงานด้านการศึกษา ใน รูปแบบ STEM โดย ทีมวิทยากร จาก Drone Academy Thailand
  • 11.15 – 12.00 ปฏิบัติการ: เรียนรู้การเขียนโปรแกรมควบคุม UAV ผ่านโปรแกรมอัจฉริยะ โดยทีมวิทยากร จาก Drone Academy Thailand
  • 12.00 – 13.00 พักรับประทานกลางวัน
  • 13.00 – 13.30 กฏข้อบังคับที่ควรรู้เกี่ยวกับ UAV โดย อัตชัย สุวรรณ์ นักวิชาการเผยแพร่ GISTDA
  • 13.30 การทำแผนที่อย่างมืออาชีพ ด้วยภาพถ่ายจาก UAV โดย ดร.กฤษนัยน์ เจริญจิตร อาจารย์ประจำคณะภูมิสารสนเทศศาสตร์ ม.บูรพา
  • 14.30 – 14.45 พักรับประทานอาหารว่าง
  • 14.45 – 15.45 ปฏิบัติการ: การทำแผนที่ด้วยภาพถ่ายจาก UAV โดย ดร.กฤษนัยน์ เจริญจิตร อาจารย์ประจำคณะภูมิสารสนเทศศาสตร์ ม.บูรพา
  • 15.45 – 16.30 สรุปกิจกรรม
    – การจัดตั้งชมรม AEROSPACE
    – การส่งโครงงานเข้าประกวดโครงงานศึกษาและเรียนรู้สิ่งแวดล้อมด้วยอากาศยานไร้คนขับ
    – การสนับสนุนจาก GISTDA และ ศูนย์ภูมิภาคฯ ภาคตะวันออก (ม.บูรพา)

ดาวน์โหลดเอกสารประกอบการฝึกอบรม

Copyright © 2018 LEARN : อาณาจักรภูมิสารสนเทศ อาณาเขตแห่งการเรียนรู้

LEARN