สกายแล็บ 2: ภารกิจที่บรรลุเป้าหมาย !

สำหรับบทความ 3 บทแรกในมินิซีรี่ส์นี้ได้กล่าวถึงเหตุการณ์ที่เกือบจะเป็นหายนะในช่วงที่ปล่อยสถานีอวกาศสกายแล็บขึ้นสู่อวกาศ รวมถึงการทำงานอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยของนาซ่าและทีมก่อสร้างในการรักษาการทำงานของโปรแกรม โดยที่จุดสิ้นสุดของภารกิจนี้ไม่ได้แตกต่างจากจุดเริ่มต้นมากนักลูกเรือของยานสกายแล็บ 2 นำโดยผู้บัญชาการชาร์ลส์ “พีท” คอนราด นักบินพอล เจ วิทซ์ และนักบินวิทยาศาสตร์โจเซฟ พี เคอร์วิน ได้ถูกส่งตัวขึ้นไปยังสถานีอวกาศสกายแล็บเมื่อ 25 พฤษภาคม 2516 และในตอนแรกพวกเขาไม่สามารถระบุได้อย่างแน่นอนว่าจะปฏิบัติภารกิจให้บรรลุเป้าหมายทั้งหมดได้ภายใน 28 วันตามที่วางแผนไว้ เนื่องจาก 11 วันก่อนหน้านี้มีเหตุการณ์ที่สกายแล็บได้รับความเสียหายอย่างใหญ่หลวงขณะถูกปล่อยสู่ห้วงอวกาศ ทำให้แผ่นป้องกันความร้อนและสะเก็ดดาวได้หลุดออกมาจากสถานีซึ่งส่งผลให้สถานีเกิดความร้อนสูงและพลังงานลดต่ำลง แผงรับพลังงานแสงอาทิตย์หลักที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าเกิดขัดข้องไปหนึ่งแผงส่วนอีกแผงได้หลุดหายไป นาซ่าและทีมผู้ก่อสร้างจากศูนย์ปฏิบัติการทางอวกาศจอห์นสัน (JSC) จึงได้สร้างและจัดเก็บร่มกันแดดที่ถูกออกแบบโดยเฉพาะจากศูนย์การบินอวกาศมาร์แชลและศูนย์ปฏิบัติการทางอวกาศเคเนดี้ไว้ในส่วนยานบังคับการของสกายแล็บ 2 ขึ้นในช่วง 10 วันระหว่างการปล่อยตัวสถานีอวกาศทั้ง 2 ครั้ง โดยลูกเรือได้นำร่มกันแดดออกมาติดตั้งในวันที่ 2 ของการโคจรเพื่อทำให้สถานีอวกาศสกายเเล็บมีอุณหภูมิที่เย็นลง นอกจากนี้ในวันที่ 7 มิถุนายนคอนราดและเคอร์วินได้สร้างสิ่งประดิษฐ์ที่สามารถใช้เพื่อออกจากตัวยานอวกาศเพื่อไปดำเนินการแก้ไขข้อขัดข้องที่เกิดขึ้นกับแผงรับพลังงานแสง อาทิตย์ซึ่งจะทำให้สถานีอวกาศสกายแล็บมีพลังงานเพียงพอที่จะปฏิบัติภารกิจได้สำเร็จลุล่วง รวมถึงทำให้สามารถรักษาโปรแกรมต่างๆที่อยู่ภายในสถานีไว้ได้ด้วย

ในช่วงครึ่งหลังของภารกิจนี้ คอนราด วิทซ์ และเคอร์วินให้ความสำคัญกับการบรรลุเป้าหมายด้านวิทยาศาสตร์ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้เพราะงานวิจัยคือเป้าหมายหลักของโครงการสกายแล็บ ถึงแม้ว่าในช่วงแรกของภารกิจอาจจะมีความล่าช้าไปบ้าง อย่างไรก็ตามเมื่อภารกิจนี้สิ้นสุดลงลูกเรือทั้ง 3 สามารถบรรลุเป้าหมายในการสำรวจพลังงานแสงอาทิตย์ด้วยกล้องโทรทรรศน์อะพอลโล (ATM) ไปได้กว่าร้อยละ 81 ของแผนการที่วางไว้ อีกทั้งเลือกใช้แพ็คเกจทดสอบทรัพยากรโลกเพื่อสำรวจโลกจากบนอวกาศไปได้ร้อยละ 88 และยังทำการทดลองทางการแพทย์ต่างๆไปได้มากกว่าร้อยละ 90 ซึ่งผลของการทดลองชี้ให้เห็นว่าลูกเรือทั้งหมดยังคงมีสุขภาพแข็งแรงตลอดระยะเวลาร่วมเดือนที่พวกเขาต้องใช้ชีวิตอยู่ในอวกาศ แต่น้ำหนักของทั้ง 3 คนกลับลดลงเช่นกันโดยเฉพาะในส่วนของมวลกล้ามเนื้อ จากข้อมูลดังกล่าวจึงทำให้แพทย์ประจำภารกิจขึ้นบินเลือกเตรียมความพร้อมให้กับลูกเรือของภารกิจสกายแล็บชุดต่อไปโดยการเพิ่มทั้งปริมาณแคลอรี่และปริมาณการออกกำลังกายก่อนขึ้นบิน

ภาพเอ็กซเรย์ดวงอาทิตย์ที่ได้จากกล้องโทรทรรศน์ ATM (ซ้าย) ; ภาพจากสถานีอวกาศสกายแล็บแสดงพื้นที่บริเวณแหลมแคนาแวรัลและศูนย์ปฏิบัติการทางอวกาศเคเนดี้ (กลาง) ; ภาพขณะที่วิทซ์กำลังปฏิบัติหนึ่งในการทดลองทางการแพทย์ให้กับเคอร์วิน (ขวา)

ในวันที่ 18 มิถุนายน ลูกเรือของสกายแล็บ 2 ได้ทำลายสถิติเดิมของทีมลูกเรือโซยุส 11 ซึ่งเป็นโครงการสถานีอวกาศของสหภาพโซเวียตเมื่อปีพ.ศ. 2514 ในการใช้ชีวิตอยู่บนอวกาศด้วยความอดทนได้ถึง 24 วัน โดย 2 วันต่อมาคอนราดพร้อมทั้งวิทซ์ใช้เวลา 1 ชั่วโมง 36 นาที ในการปฏิบัติภารกิจเดินออกจากยานอวกาศเพื่อไปนำฟิล์มจากกล้อง ATM กลับมายังโลกพร้อมทั้งเปลี่ยนฟิล์มอันใหม่เข้าไปที่กล้องโทรทรรศน์ได้จนสำเร็จ ในช่วง 2 วันต่อจากนี้เหล่าลูกเรือจะทำการเตรียมสถานีอวกาศสกายแล็บให้มีความพร้อมในช่วงที่จะไม่มีเจ้าหน้าที่ประจำการบนสถานีระหว่างรอลูกเรือชุดที่ 2 ขึ้นไปในเดือนกรกฎาคม ซึ่งในวันที่ 22 มิถุนายน เมื่อทีมลูกเรือได้ทำการเก็บภาพระหว่างการสำรวจรอบบริเวณสถานีอวกาศสกายแล็บและเตรียม พร้อมออกจากตัวสถานีแล้ว พวกเขาจึงจุดเครื่องยนต์ที่ยานบริการเพื่อส่งตัวพวกเขากลับลงมายังโลกหลังจากที่ได้โคจรรอบโลกครบ 404 รอบแล้ว ยานบังคับการ (CM) ได้ตกลงมาห่างจากบริเวณทางตะวันตกเฉียงใต้ของซานดิเอโกไปประมาณ 800 ไมล์และห่างจากเรือกู้ชีพอย่างเรือบรรทุกเครื่องบินติคอนเดอโรกาของกองทัพเรือสหรัฐอเมริกาไปประมาณ 6.5 ไมล์ ซึ่งในตอนนั้นคอนราด วิทซ์ และ เคอร์วินได้สร้างสถิติใหม่ในการเป็นมนุษย์ที่ใช้ชีวิตบินอยู่บนอวกาศได้นานที่สุดถึง 28 วัน 50 นาที เจ้าหน้าที่ของกองทัพเรือได้ยกยานบังคับการขึ้นมาจากน้ำส่วนลูกเรือทั้ง 3 ออกมาจากแคปซูล แม้จะทรงตัวได้ยังไม่ดี 100{8645ed30ebfee2716765f004cf3f74a8c4ef5e59d5d4d4ef1cf40763c4bdb1fe} แต่พวกเขาก็สามารถเดินได้ด้วยตนเองโดยไม่จำเป็นต้องมีผู้ช่วย ถึงแม้ว่าภารกิจบนอวกาศจะสิ้นสุดลงแล้ว แต่ภารกิจด้านวิทยาศาสตร์ยังคงดำเนินต่อไปโดยมีลูกเรือทั้ง 3 คนเป็นอาสาสมัครในการทดลองทางการแพทย์ โดยเริ่มดำเนินการครั้งแรกในห้องทดลองเคลื่อนที่ของโครงการสกายแล็บบนเรือติคอนเดอโรกา และต่อมาจึงกลับไปทำการทดลองที่ศูนย์ปฏิบัติการทางอวกาศจอห์นสัน (JSC) ในฮูวสตันซึ่งเป็นการทดลองติดตามการตอบสนองต่อสภาพแวดล้อมบนพื้นโลกของลูกเรือทั้ง 3 คน

ภาพสถานีอวกาศสกายแล็บถ่ายโดยลูกเรือของสกายแล็บ 2 ขณะออกจากสถานีหลังภารกิจทำลายสถิติสิ้นสุดลง (ซ้าย) ; ภาพขณะยกยานบังคับการของสกายแล็บ 2 พร้อมทั้งลูกเรือขึ้นบนเรือติคอนเดอโรกาของกองทัพเรือสหรัฐฯ (ขวา)

ทั้งนี้เหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันได้เกิดขึ้นหลังจากที่ลูกเรือเดินทางกลับถึงพื้นโลกได้ไม่นาน เมื่ออดีตประธานาธิบดีริชาร์ด มิลเฮาส์ นิกสันได้เชิญให้ลูกเรือทั้ง 3 คนเข้าพบ ณ คฤหาสน์ส่วนตัวที่ได้รับการขนานนามว่าเป็นทำเนียบขาวเเห่งทิศตะวันตกใน ซาน เคลเมนเต รัฐเเคลิฟอร์เนีย ขณะที่เขากำลังประชุมร่วมกับอดีตเลขาธิการแห่งสหภาพโซเวียตอย่าง เลโอนิด เบรจเนฟ โดยมีเฮลิคอปเตอร์มารับทั้งลูกเรือพร้อมแพทย์ประจำภารกิจเพื่อพาไปพบกับผู้นำระดับโลกทั้งสอง หลังจากที่ลูกเรือลงจอดบนผิวน้ำได้เพียง 2 วันซึ่งเป็นช่วงที่เรือ ติคอนเดอโรกา แล่นเข้าสู่ซาน ดิเอโกพอดี โดยเหล่านักบินอวกาศได้มอบขวัญเป็นธงชาติและแถบสัญลักษณ์บนเครื่องแบบของชุดนักบินซึ่งถูกจัดใส่ไว้ในกรอบอย่างเร่งด่วนโดยเจ้าหน้าที่บนเรือ โดยลูกเรือจำเป็นต้องฝ่าฝืนกฏทางการแพทย์ด้วยการถอดหน้ากากที่ใส่ไว้เพื่อป้องกันการติดเชื้อในตอนที่เข้าพบ นิกสัน และ เบรจเนฟ ซึ่งสร้างความกังวลให้แก่แพทย์ประจำภารกิจไม่น้อย เมื่อการเข้าพบสิ้นสุดลงเฮลิคอปเตอร์ได้พาพวกเขากลับไปยังเรือบรรทุกเครื่องบิน และในวันต่อมาเครื่องบินขนส่งก็ได้มารับพวกเขากลับไปยังฮูวสตันเพื่อใช้เวลาอยู่กับครอบครัวอีกครั้งรวมถึงทำการทดลองทางการแพทย์เพิ่มเติมอีกด้วย

ภาพของลูกเรือสกายแล็บ 2 (เรียงจากซ้ายไปขวา) วิทซ์ เคอร์วิน และคอนราดขณะก้าวออกจากยานบังคับการไปยังดาดฟ้าเรือ ติคอนเดอโรกาของกองทัพเรือสหรัฐอเมริกา (ซ้าย) ภาพขณะที่ลูกเรือสกายแล็บ 2 ในชุดเครื่องแบบทหารเรือสีขาว (เรียงจากซ้ายไปขวา)วิทซ์ คอนราด และเคอร์วินเข้าพบเลขาธิการแห่งสหภาพโซเวียต เบรจเนฟ และประธานาธิบดีนิกสัน (ขวา)

ยานบังคับการของสกายแล็บ 2 ถูกจัดแสดงไว้ที่พิพิธภัณฑ์นาวาและการบินแห่งชาติ เมืองเพนซาโคลา รัฐฟลอริด้า
Credits: National Naval Aviation Museum


ที่มาบทความ : มาร์ค การ์เซีย บันทึก : เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2561
สืบค้นจาก : https://www.nasa.gov/feature/skylab-2-mission-accomplished

Copyright © 2018 LEARN : อาณาจักรภูมิสารสนเทศ อาณาเขตแห่งการเรียนรู้

LEARN