กองทัพเรือออกแบบโดรนที่สามารถทำงานได้ทั้ง ทางอากาศและทางน้ำ

 โดรนเป็ดตัวต้นแบบรุ่นล่าสุดของกองทัพเรือ(เครดิต:ศูนย์ปฏิบัติการและวิจัยของนาวิกโยธินสหรัฐ)

กองทัพเรือแห่งสหรัฐอเมริกาให้ความสนใจเป็นอย่างมากกับการพัฒนาหุ่นยนต์ใต้น้ำและหุ่นยนต์บินได้ แล้วจะดีกว่าหรือไม่หากมีการคิดค้นโดรนที่สามารถทำได้ทั้งสองอย่าง และนั่นคือสิ่งที่โครงการฟลิมเมอร์ (Flimmer) จากศูนย์ปฏิบัติการและวิจัยของนาวิกโยธินมุ่งมั่นที่จะทำ ต้นแบบของฟลิมเมอร์คือหุ่นรูปทรงกระเป๋าเดินทางที่สามารถบินและทำงานใต้น้ำได้ ประสบความสำเร็จในการออกตัวจากเครื่องบินที่ความสูง 1000 ฟุตลงบนผิวน้ำ จากนั้นเคลื่อนที่ใต้น้ำด้วยความเร็ว 11 ไมล์ต่อชั่วโมง จากผลข้างต้นหุ่นยนต์ชนิดนี้อาจถูกใช้เพื่อไล่ล่าเรือดำน้ำฝ่ายศัตรูจากทั้งทางอากาศและทางน้ำ ถึงแม้ว่าจะต้องปรับแต่งรูปลักษณ์ของหุ่นชนิดนี้อีกมากก็ตาม

อุปสรรคที่ใหญ่ที่สุดสำหรับทีมดีไซน์เนอร์ของโครงการฟลิมเมอร์คือความหนาแน่นของน้ำที่มีมากกว่าความหนาแน่นของอากาศถึง 1000 เท่า ในขณะที่น้ำหนักมากๆจะเป็นปัญหาต่อการบินบนอากาศ แต่เมื่ออยู่ใต้น้ำหุ่นก็ต้องการความคงทน หนาแน่น และความหนักเพื่อ ป้องกันไม่ให้อุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆพังเมื่อเจอแรงดันน้ำ ฟลิมเมอร์จึงต้องมีน้ำหนักเบาเพียงพอที่จะทำการบินบนอากาศได้และแข็งแรงเพียงพอสำหรับการรับมือกับแรงดันน้ำ

หุ่นฟลิมเมอร์รุ่นล่าสุดคือ ฟลายอิ้งวานด้า(Flying WANDA) ซึ่งได้ “แรงบันดาลใจมาจากปลาในตระกูลนกขุนทองที่มีความปราดเปรียวว่องไวและมีครีบที่งอได้” โดยที่ปลายปีกของฟลายอิ้งวานด้าจะมีลักษณะคล้ายครีบปลาที่สามารถพับขึ้นได้เพื่อทำให้การขึ้นบินของหุ่นมีเสถียรภาพในการทรงตัว และยังมีใบพัดที่ด้านหลังเพื่อช่วยสร้างแรงขับให้กับหุ่น สำหรับการทำงานในน้ำจะใช้ครีบ 1 คู่ที่บริเวณใกล้ๆกับส่วนหน้าและครีบที่ส่วนหางของตัวหุ่นเพื่อปรับทิศทางของการเคลื่อนที่ใต้น้ำ

หุ่นวานด้าสามารถเคลื่อนที่ด้วยความเร็วสูงถึง 57 ไมล์ต่อชั่วโมงในอากาศ ส่วนในน้ำจะเคลื่อนที่ด้วยความเร็ว 11 ไมล์ต่อชั่วโมง

หุ่นฟลิมเมอร์บินบนผิวน้ำ (เครดิต:ศูนย์ปฏิบัติการและวิจัยของนาวิกโยธินสหรัฐ)

กองทัพเรือของสหรัฐวางแผนที่จะใช้โดรนรุ่นนี้ที่มีรูปร่างเหมือนเป็ดในการบินลาดตระเวนเพื่อหาข่าวในสถานที่ต่างๆ และใช้ไล่ตามเรือดำน้ำของฝ่ายศัตรู ทีมวิศวกรของกองทัพยังคงทำงานหนักในการศึกษาค้นคว้าเพื่อพัฒนาหุ่นฟลิมเมอร์ให้ใช้งานได้ดียิ่งขึ้นทั้งทางอากาศและทางน้ำ แต่อย่างไรก็ตามยังไม่มีกำหนดการที่แน่นอนว่าหุ่นฟลิมเมอร์จะสามารถนำไปใช้งานได้จริงในน่านน้ำของฝั่งศัตรูได้เมื่อไร


ที่มาบทความ : Carl Engelking บันทึก : เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2558
สืบค้นจาก : https://dronelife.com/2018/05/22/huge-construction-project-surveyed-by-drones-without-human-pilot-airobotics

Copyright © 2018 LEARN : อาณาจักรภูมิสารสนเทศ อาณาเขตแห่งการเรียนรู้

LEARN