บึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์

ทะเลสาบ หรือบางทีเรียกว่า “บึง” เป็นแหล่งน้ำขนาดใหญ่ ที่ล้อมรอบด้วยผืนดิน โดยทั่วไปทะเลสาบจะ มีน้ำจืด เรียกกันว่า “ทะเลสาบน้ำจืด” นอกจากนี้ คำว่า “ทะเลสาบ” ยังครอบคลุมถึงแหล่งน้ำที่เกิดขึ้นจากการสร้างของมนุษย์ เช่น ทะเลสาบขนาดเล็กในสนามกอล์ฟ หรือ แอ่งเก็บน้ำเหนือเขื่อน นับเป็นทะเลสาบขนาดใหญ่ โดยบึงที่เป็นแหล่งน้ำธรรมชาติขนาดใหญ่ของประเทศ ได้แก่ กว๊านพะเยา จังหวัดพะเยา และบึงบอระเพ็ด โดยเฉพาะบึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์ จัดเป็นแหล่งน้ำธรรมชาติขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศ

ปัจจุบันบึงบอระเพ็ด มีเนื้อที่ผิวน้ำประมาณ 62,500 ไร่ มีอาณาเขตติดต่อกับ อำเภอเมืองนครสวรรค์ อำเภอชุมแสง และ อำเภอท่าตะโก มีความลึกเฉลี่ยประมาณ 2.62 เมตร บริเวณตอนกลางบึงมีความลึกที่สุด 4.38 เมตร แต่เดิมบึงบอระเพ็ดเป็นเพียงคลองสายใหญ่ ซึ่งรับน้ำจากเขต อำเภอท่าตะโก ต่อเขตแดน จังหวัดเพชรบูรณ์ ในปี พ.ศ. 2470 กรมประมงได้ดำเนินการสร้างประตูระบายน้ำและฝายน้ำล้นเพื่อเก็บกักน้ำไว้ที่ระดับ 23.80 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลาของภาคกลาง นับตั้งแต่การก่อสร้างดังกล่าวเป็นต้นมา บึงบอระเพ็ด ได้กลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลาน้ำจืดที่ใหญ่และอุดมสมบูรณ์ที่สุดในประเทศ

ตำแหน่งและขอบเขตบริเวณบึงบอระเพ็ดในด้านธรณีสัณฐานปรากฏให้เป็นภาพจากดาวเทียมมีความสัมพันธ์กับแนวรอยเลื่อนแม่น้ำปิงและที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนบน โดยบึงบอระเพ็ดที่ตำแหน่งต่ำสุดของที่ราบเจ้าพระยาตอนบนมีแม่น้ำไหลมารวมกันและอยู่บนแนวรอยเลื่อนแม่ปิงที่พาดผ่านไปทางตะวันออกเฉียงใต้ การทรุดตัวของบริเวณเจ้าพระยาตอนบนเกิดเป็นแอ่งภายหลังมีตะกอนทับถมตื้นเขินเหลือเป็นบึงในปัจจุบัน

บึงบอระเพ็ดเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สวยงามที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทยและเป็นบึงทะเลสาบน้ำจืดขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีเนื้อที่ 132,737 ไร่ อยู่ในท้องที่สามอำเภอของจังหวัดนครสวรรค์ ได้แก่ อำเภอเมืองนครสวรรค์ อำเภอท่าตะโก และอำเภอชุมแสง เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัดนครสวรรค์ กลางบึงมีตำหนักแพที่สร้างขึ้นครั้งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐาน

นอกจากนี้ บึงบอระเพ็ด ยังมีลักษณะบึงเป็นแบบ “บึงแพหญ้า” (Floating Swamp) คือ ที่ลุ่มน้ำขังที่มีพรรณพืชน้ำลอยเป็นแพอยู่เหนือผิวน้ำได้ ในเขตอบอุ่นเป็นพืชจำพวก ผักตบชวา สนหางสิงห์ และกก ในเขตร้อนมักเป็นพวกกกกระดาษ (ราชบัณฑิตยสถาน. “พจนานุกรมศัพท์ธรณีวิทยา” พิมพ์ครั้งที่ 1, 2544) โดยพืชดังกล่าว ทำให้ผิวดินในบึงเกิดความร่มเงาใต้น้ำ เกิดการเปลี่ยนแปลงของระบบสมดุลของพืชใต้น้ำ

https://th.m.wikipedia.org/wiki/ไฟล์:บึงบอระเพ็ด02.jpg

เดิมบึงบอระเพ็ดแห่งนี้มีชื่อว่า “ทะเลเหนือ” หรือ “จอมบึง” เนื่องจากมีสัตว์และพันธุ์พืชน้ำเป็นจำนวนมาก รวมทั้งจระเข้ จากการสำรวจพบว่ามีสัตว์อาศัยอยู่ประมาณ 148 ชนิด พืช 44 ชนิด มีพันธุ์สัตว์ที่หายากได้แก่ นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร (พบครั้งแรกที่บึงบอระเพ็ด) ปลาเสือตอ ในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงมีนาคมจะมีนกเป็ดน้ำอพยพมาที่บึงแห่งนี้เป็นจำนวนมาก พื้นที่บางส่วนได้รับการประกาศให้เป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่า

ที่มา : ธรณีสัณฐานประเทศไทยจากห้วงอวกาศ (หน้า 212)
ที่มา: http://www.nsru.ac.th/bungborraped/

Copyright © 2018 LEARN : อาณาจักรภูมิสารสนเทศ อาณาเขตแห่งการเรียนรู้

LEARN