กิจกรรม อยากให้น้องลอง “บิน” ณ โรงเรียนบางแพปฐมพิทยา จ.ราชบุรี

สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือจิสด้า ร่วมกับ Drone Academy Thailand เปิดโอกาสให้เยาวชนได้สัมผัสกับเทคโนโลยีโดรนในกิจกรรม อยากให้น้องลอง “บิน” ภายใต้โครงการสร้างความตระหนักด้านเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ ระดับเยาวชน วันที่ 15 ธันวาคม 2560 ณ โรงเรียนบางแพปฐมพิทยา อ.บางแพ จ.ราชบุรี เพื่อให้เยาวชนมีโอกาสเข้าถึงเทคโนโลยีโดรน ส่งเสริมให้มีความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับเทคโนโลยี แนะนำการประยุกต์ใช้โดรนเพื่อการเรียนการสอนในโรงเรียน และที่สำคัญที่สุดคือการสร้างแรงบันดาลใจต่อยอดสู่การการพัฒนาประเทศด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในอนาคต โดยมีน้องๆระดับมัธยมศึกษาตอนปลายที่มีใจรักด้านอากาศยานเข้าร่วมจำนวน 110 คน

นายพรรษกฤช เกตุรัตน์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบางแพปฐมพิทยา ได้ให้เกียรติกล่าวต้อนรับคณะวิทยากรจากทั้งจิสด้าและ Drone Academy Thailand อย่างอบอุ่นและเป็นกันเอง โดยท่านได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของกิจกรรมนี้ที่เสมือนเป็นจุดเริ่มต้นของโอกาสใหม่ในอนาคตของเยาวชน อีกทั้งเป็นการเปิดมุมมองแห่งการเรียนรู้เทคโนโลยีสำหรับเด็กๆ และท่านยังกล่าวในตอนท้ายถึงการทำงานในอนาคตของโครงการว่า “ขอให้ทีมงานอย่าทิ้งน้องๆหลังจากกิจกรรมเสร็จสิ้น เพื่อช่วยกันสานฝันของเด็กในวันนี้ให้เป็นจริงในอนาคต เติมใหญ่เป็นวิศวกรหรืออาชีพต่างๆที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับการบินและอวกาศต่อไป”

กิจกรรมอยากให้น้องลองบินประกอบด้วยฐานการเรียนรู้ต่างๆมากมายที่ออกแบบมาเพื่อให้น้องๆได้เรียนรู้และแสดงทักษะความสามารถที่หลากหลาย รวมถึงโอกาสที่จะได้รับฝึกฝนทักษะโดยตรงกับผู้เชี่ยวชาญ อาทิเช่น การควบคุมโดรนผ่านโปรแกรมจำลองการบิน การสาธิตการบินโดรนจากมือชีพ การเรียนรู้การบินโดรนให้ปลอดภัยและถูกกฏหมาย การเรียนรู้การควบคุมโดรนขนาดเล็กด้วยรีโมทคอนโทรลและ Mobile application การเรียนรู้โครงสร้างและการทำงานของส่วนประกอบต่างๆโดรน หลักการพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์การบิน  เป็นต้นโดยวิทยากรจากจิสด้าและDrone Academy Thailand ซึ่งได้รับการตอบรับจากน้องๆและอาจารย์โรงเรียนบางแพปฐมพิทยาเป็นอย่างดียิ่งสร้างความสนใจเสียงหัวเราะและความสนุกสนานกับการเรียนและเล่นได้ตลอดทั้งวันอีกทั้งน้องๆจากโรงเรียนบางแพยังสามารถแสดงทักษะด้านการบินหรือควบคุมโดรนได้อย่างน่าเหลือเชื่อพิชิตอุปสรรคต่างๆที่ทีมวิทยากรตั้งเตรียมไว้ได้อย่างง่ายดาย

การฝึกหัดควบคุมโดรนผ่านโปรแกรมจำลองการบิน นับเป็นทักษะแรกที่น้องๆได้เรียนรู้ โดย วีรวัฒน์ จันทวงษ์ นักวิชาการเผยแพร่ GISTDA เพื่อสร้างฝึกทักษะการควบคุมและสร้างความคุ้นชินกับคำศัพท์เฉพาะที่เกี่ยวกับการบิน ก่อนที่เด็กจะได้มีโอกาสควบคุมโดรนของจริง ฝึกทักษะการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าและพร้อมที่จะรับมือกับสถานการณ์ในขณะทำการบินโดรนและสามารถแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นขณะทำการบินจริง เพื่อเป็นการป้องกันอุบัติเหตุที่จะเกิดขึ้นได้  โดยโจทย์ที่นักเรียนแต่ละคนต้องทำให้ได้คือนำเครื่องขึ้นและลงอย่างปลอดภัยไม่ให้เกิดความเสียหายแก่อากาศยานจึงจะถือว่าผ่านไปสู่ฐานอื่นๆได้

การฝึกบินโดรนขนาดเล็กเพื่อผ่านอุปสรรคต่างๆด้วยรีโมทคอนโทรลและ Mobile Application เป็นสิ่งที่น้องๆทุกคนสามารถทำได้ ไม่เกินความสามารถที่มาพร้อมกับความสนุกสนานและรอยยิ้มตลอดกิจกรรม ส่วนการเรียนรู้การควบคุมด้วย Mobile Application นั้นเพื่อเป็นการเชื่อมโยงไปสู่การเขียนโปรแกรมควบคุมโดรน ซึ่งเป็นทักษะที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับโลกในอนาคตอีกไม่กี่ปีข้างหน้า และยังสอดคล้องกับการเรียนรู้แบบ STEM สร้างคนเพื่อสนับสนุนนโยบาย Thailand 4.0

ในฐานการสาธิตการบินโดรน นำทีมโดยคุณจรรยวรรธน์ ชาติอนุลักษณ์ ผู้อำนวยการ Drone Academy Thailand ให้เกียรติมาสร้างแรงบันดาลใจให้กับเด็กๆด้วยตนเองแถมยังใจดีให้โอกาสน้องๆได้ลองควบคุมโดรนรุ่นต่างๆที่ระดับมืออาชีพใช้งานจริง อาทิเช่น โดรนรุ่น DJI Phantom, DJI Mavic, Parrot Disco เป็นต้น ภายใต้การควบคุมจากทีมงาน Drone Academy Thailand อย่างใกล้ชิด  เพื่อให้เด็กเข้าใจหลักการเตรียมการบินโดรนเทคนิคการควบคุมโดรนและเรียนรู้ข้อปฎิบัติการบินโดรนให้ถูกต้องตามกฏหมายข้อบังคับเกี่ยวกับโดรน

กิจกรรมดังกล่าวได้สร้างประสบการณ์แรงบันดาลใจและเป็นเวทีแสดงความสามารถให้กับน้องๆได้เป็นอย่างดีไม่เพียงแต่น้องๆเด็กผู้ชายเท่านั้นยังรวมถึงเด็กผู้หญิงที่แสดงความสามารถเรียนรู้และเข้าใจหลักการควบคุมโดรนได้อย่างรวดเร็วและคล่องแคล่วอีกทั้งสามารถสอนเพื่อนๆต่อได้ในทันทีทั้งๆที่ไม่เคยมีประสบการณ์การควบคุมโดรนมาก่อนนับเป็นศักยภาพของเด็กไทยที่ซ่อนอยู่ภายในและได้แสดงออกมาให้เห็นอย่างชัดเจนจากโอกาสในครั้งนี้

นอกเหนือจากการได้ฝึกฝนทักษะการควบคุมกับโดรนให้สอดคล้องกับกฏระเบียบแล้ว การเรียนรู้เพื่อความเข้าใจในวิทยาศาสตร์การบินและโครงสร้างหน้าที่การทำงานของโดรนในแต่ละส่วนก็เป็นสิ่งสำคัญที่กิจกรรมนี้ให้ความสำคัญ ทั้งนี้เพื่อให้นักเรียนเกิดการไอเดียการต่อยอดการพัฒนาโดรนเพื่อสนับสนุนภารกิจที่แตกต่างกันออกไปในโลกแห่งความจริง จุดประกายความคิดใหม่ๆในการพัฒนาโดรนต่อไปในอนาคต

โดยหลังจากนี้ทางผู้บริหารของโรงเรียนบางแพมีความสนใจอย่างยิ่งที่จะจัดตั้งชมรม AEROSPACE ในโรงเรียนเพื่อเป็นโอกาสให้นักเรียนได้ต่อยอดความรู้ในด้านอากาศยานที่ได้รับจากวิทยากรในวันนี้และเป็นช่องทางการพัฒนานักเรียนและบุคคลากรของโรงเรียนเพื่อรองรับการพัฒนาประเทศด้วยเทคโนโลยีต่อไป

Copyright © 2018 LEARN : อาณาจักรภูมิสารสนเทศ อาณาเขตแห่งการเรียนรู้

LEARN