สำรวจป่าชุมชนด้วยโดรน ผลงานจากเชียงยืนพิทยาคม จ.มหาสารคาม

“ผลลัพท์จากโครงการที่เราคาดหวัง คือ การใช้ป่าเครื่องมือเสริมสร้างความมีจิตอาสา ปลูกจิตสำนึกทำให้เด็กๆ รักชุมชน เกิดความรักในภูมิปัญญาท้องถิ่น” เป็นคำพูดที่ทำให้เข้าใจถึงหัวใจของความเป็นครูอย่างเต็มเปี่ยม ของคุณครูเพ็ญศรี ใจกล้า โรงเรียนเชียงยืนพิทยาคม จังหวัดมหาสารคาม ผู้บุกเบิกโครงการสำรวจป่าชุมชนโคกหนองคอง จ.มหาสารคาม มาแล้วหลายรุ่น จนทุกวันนี้เริ่มเห็นผลลัพท์ของโครงการที่เป็นรูปธรรมในแววตาของนักอนุรักษ์รุ่นเยาว์จากโรงเรียนเชียงยืนพิทยาคม

ครูเพ็ญศรีได้เล่าให้ทีมงานฟังถึงกระบวนการที่ได้มอบหมายให้นักเรียนลงพื้นที่เก็บข้อมูลต้นไม้ของป่าชุมชนที่กว้างใหญ่แห่งนี้ที่มีพื้นที่ประมาณ 2 ตารางกิโลเมตรหรือเทียบเท่าประมาณ 280 สนามฟุตบอลขนาดมาตราฐาน ว่า “การลงพื้นที่ของเด็กๆจะแบ่งกันทำงานเป็นกลุ่ม เก็บข้อมูล ชื่อ ชนิด ความสูงและตำแหน่งของต้นไม้ ตามเทคนิคที่ได้มีผู้เชี่ยวชาญถ่ายทอดไว้ให้ พร้อมทั้งระหว่างการเก็บข้อมูลก็มีเรื่องเล่าจากปราชญ์ชาวบ้านเกี่ยวกับเกร็ดความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น ยิ่งทำให้การเดินป่าของเด็กมีความสนุกและมีเรื่องราว ทำให้เขาเข้าใจความเป็นท้องถิ่นแห่งนี้มากยิ่งขึ้นผ่านเรื่องราวของต้นไม้และสมุนไพรท้องถิ่น”

ภาพจาก Blog ของคุณครูเพ็ญศรี ระหว่างการสำรวจป่าชุมชนกับเด็กๆ

นอกจากนั้นน้องๆยังเล่าให้ฟังอีกว่าการทำงานแต่ละครั้งจะมากันทั้งชมรมฯซึ่งมีสมาชิกอยู่ประมาณ 30-40 คน เพื่อเก็บข้อมูล โดยแบ่งพื้นที่เดินสำรวจกันเป็นกลุ่มๆ กลุ่มละล็อค จากนั้นสุ่มเก็บข้อมูลต้นไม้แบบตาราง เลือกเฉพาะไม้หนุ่มหรือต้นที่เส้นรอบวงมากกว่า 15 เซนติเมตร หรือ สูงกว่า 2 เมตรขึ้นไป เก็บข้อมูลตำแหน่งด้วยการจดค่าพิกัดที่ได้จากโทรศัพท์มือถือ สุดท้ายก็จะนำข้อมูลแต่ละกลุ่มมารวมกันเพื่อหาจำนวนต้นไม้ ฟังดูเหมือนง่ายแต่ด้วยขนาดพื้นที่ป่าขนาดใหญ่ใช้เวลา 2 วันก็ยังเก็บไม่หมด

 

ภาพจาก Blog ของคุณครูเพ็ญศรี ระหว่างการสำรวจป่าชุมชนโคกหนองคองกับเด็กๆในชมรม

นับว่าเป็นโอกาสที่ดีที่ทางโรงเรียนเชียงยืนพิทยาคม ได้รับคัดเลือกจากทางศูนย์ภูมิภาคเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (มหาวิทยาลัยขอนแก่น) ให้เป็นโรงเรียนศูนย์กลางในการจัดกิจกรรมอยากให้น้องลองบิน กิจกรรมที่เปิดโอกาสให้น้องได้ลองบินโดรนเพื่อปลุกแรงบันดาลใจและให้แนวคิดใหม่ๆในการเรียนรู้ผ่านโดรน หลังจากเสร็จสิ้นกิจกรรมทีมงานจากจิสด้า ศูนย์ภูมิภาคฯ และบริษัท DevDroneMapper จึงมีโอกาสที่ดีที่จะได้สนับสนุนโครงการดีๆของครูเพ็ญศรี  ด้วยการนำโดรนไปบินสำรวจพื้นที่ป่าชุมชนโคกหนองคอง เพื่อเป็นข้อมูลให้กับน้องๆในชมรมนำไปศึกษาความหลากหลายของพรรณไม้ในป่าชุมชน และประหยัดเวลาในการสำรวจเพื่อผลลัพท์ที่ดียิ่งขึ้นต่อไป

ภาพจาก Google Earth บริเวณป่าชุมชนโคกหนองคอง

เพียงไม่กี่นาทีจากโรงเรียนเชียงยืนพิทยาคม ทีมงานทั้งหมดก็ได้เดินทางมาถึงขอบป่าชุนชนบริเวณทิศเหนือ ซึ่งณ จุดนี้ พี่ต๊ะจาก DevDroneMapper และพี่ต้นจากจิสด้าได้เปิดห้องเรียนสอนเทคนิคการบินโดรนเพื่อทำแผนที่ให้กับน้องๆและคุณครูจากโรงเรียนเชียงยืนเป็นกรณีพิเศษ

ในการเก็บข้อมูลด้วยโดรนในครั้งนี้เราจะตั้งค่าให้โดรนทำการบินเก็บภาพเหนือพื้นที่ป่าชุมชนด้วยการบินแบบอัตโนมัติ ซึ่งจำเป็นต้องมีการวางแผนในโปรแกรมควบคุมอย่างแม่นยำภายใต้การกำกับดูแลจากผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งจะใช้เวลาบินประมาณ 12 นาที กับพื้นที่ครึ่งหนึ่งของพื้นที่ป่าชุมชนทั้งหมด และหลังจากนั้นภาพที่ได้เราจะไปเข้าสู่โปรแกรมเพือทำงานวิเคราะห์ต่อไป

หลังจากที่โดรนทยานขึ้นสู่ท้องฟ้าและเริ่มบินตามเส้นทางได้วางแผนไว้ เราก็จะติดตามการทำงานของโดรนผ่านหน้าจอโทรศัพท์ที่เชื่อมต่อกับรีโมทคอนโทรลเท่านั้น และบางส่วนก็เฝ้ามองบนท้องฟ้าด้วยด้วยความตื่นเต้นต่อไป

ในช่วงระหว่างที่รอโดรนทำงานไป ทีมงานจึงเดินเข้าไปสำรวจป่าชุมชนแห่งนี้ พบว่าป่าแห่งนี้ค่อนข้างสมบูรณ์ ทำให้นึกถึงการเดินสำรวจในป่าของน้องๆคงลุยกันน่าดูเพราะต้นไม้ขึ้นติดๆกันจนแน่นมาก

เพียงไม่นานโดรนก็บินกลับมา ณ จุดเดิมที่ Take off รอยยิ้มบนสีหน้าทุกคนก็เริ่มกลับมาเพราะความตื่นเต้นกับการทำงานด้วยเทคโนโลยีแบบนี้ จากนั้นน้องๆทุกคนก็ช่วยกันแยกชิ้นส่วนเพื่อเก็บโดรนสู่กระเป๋า ก่อนออกเดินทางนำข้อมูลไปประมวลผลต่อไป

ภาพที่ได้จากการสำรวจด้วยการบินโดรนในครั้งนี้นับว่าเป็นข้อมูลที่มีประโยชน์อย่างยิ่ง ทำให้เราเห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ของป่าโคกหนองคองแห่งนี้กับปริมาณต้นไม้ที่ขึ้นติดๆกันอย่างหนาแน่น ซึ่งภาพด้านล่างนี้เป็นหนึ่งในภาพทั้งหมดที่ได้จากการบินถ่ายด้วยโดรน เมื่อเปรียบเทียบกับภาพจากโปรแกรม Google Earth แล้วจะเห็นถึงความแตกต่างอย่างชัดเจน

ภาพถ่ายจากโดรนบริเวณป่าโคกหนองคอง (ดูภาพขนาดใหญ่)

ภาพถ่ายจากดาวเทียมจาก Google Earth บริเวณป่าโคกหนองคอง

จากนั้นเมื่อนำภาพทั้งหมดเข้าสู่โปรแกรมวิเคราะห์ภาพถ่ายจากโดรน ใช้เวลาไม่นานเราก็ได้ผลลัพท์ออกมาเป็นแผนที่ภาพถ่ายจากโดรนที่มีรายละเอียดสูงมากต่อกันจนเป็นภาพป่าผืนใหญ่ ทำให้เห็นถึงความหนาแน่นของต้นไม้และการเกาะกลุ่มกันของต้นไม้ ขณะเดียวกันโปรแกรมยังสามารถสร้างแบบจำลองความสูงเหนือผิวดินทำให้เห็นถึงความสูงของต้นไม้ที่ปรากฏเป็นสีแดงตามภาพด้านล่าง ยิ่งสีแดงที่เข้มมากหมายถึงต้นไม้ที่สูงกว่าพื้นที่โดยรอบ

ด้วยภาพที่มีรายละเอียดสูงจะเป็นข้อมูลที่มีประโยชน์ในการสำรวจป่าชุมชนและศึกษาลักษณะทรงพุ่มของต้นไม้เพื่อแยกแยะประเภทของพรรณไม้ในป่าชุมชมหรือศึกษาในเรื่องอื่นๆต่อไปได้ เราจึงมอบข้อมูลทั้งหมดและคำแนะนำให้กับคุณครูเพ็ญศรีและน้องๆเพื่อใช้เป็นประโยชน์กับข้อมูลนี้ต่อไป เพื่อร่วมสนับสนุนโครงการดีๆของคุณครูเพ็ญศรี และร่วมสร้างคุณค่าจากเรียนรู้สู่ความรักต่อภูมิปัญญาจากท้องถิ่น

Copyright © 2018 LEARN : อาณาจักรภูมิสารสนเทศ อาณาเขตแห่งการเรียนรู้

LEARN