ภูด่านอีป้อง จังหวัดชัยภูมิ

TH_PHUDANIPONG

GE_PHUDANIPONG

001

ภูด่านอีป้อง เป็นภูเขาท่ามกลางที่ราบในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ วางตัวอยู่ทางทิศใต้ของภูกระดึง และอยู่ทางทิศตะวันตกของภูเวียงสามารถเดินทางเข้าถึงโดยแยกจากเส้นทางหลวงหมายเลข 12 สายหล่มสัก – ชุมแพ ยอดสูงกว่าระดับทะเลปานกลาง 1,271 เมตร หรือสูงกว่าที่ราบโดยรอบประมาณ 700 เมตร ทางด้านตะวันออก และประมาณ 400 เมตรทางด้านตะวันตก

ลักษณะที่สังเกตได้ในภาพจากดาวเทียม คือภูด่านอีป้องเป็นเนินยอดป้าน คลุมบริเวณประมาณ 4.5 ตารางกิโลเมตร มีทิวเขาและทางน้ำเป็นวงโอบล้อมหลายชั้นเป็นแบบรูปทางน้ำวงแหวน ห้วยสนามทรายทางด้านเหนือและห้วยตูบกบทางด้านใต้ เมื่อรวมกันแล้วไหลลงน้ำเชิญและห้วยน้ำสุด้านทิศตะวันออก ส่วนบริเวณด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้มีแม่น้ำพรมใหญ่ไหลผ่าน ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของเขื่อนจุฬาภรณ์หรือเขื่อนน้ำพรม

ธรณีสัณฐานของภูด่านอีป้องเป็นเนินยอดป้าน เกิดจากการกร่อนของชั้นหินที่มีความแข็งแกร่งต่างกัน เหลือไว้แต่ชั้นหินที่มีความแข็งกว่า กลายเป็นเนินยอดป้าน ซึ่งลักษณะคล้ายคลึงกับภูเขายอดราบของภูกระดึงวางตัวอยู่กลางที่ราบและเนินล้อมรอบอีก 3 ชั้น ชั้นหินเหล่านี้แสดงถึงการกร่อนของชั้นหินที่มีความแข็งแกร่งต่างกันของหินชุดโคราช ที่มีลักษณะโครงสร้างทางธรณีเป็นรูปประทุนหงาย มีความกว้าง – ยาวเท่ากันเป็นรูปกระทะและรอบๆ ภูด่านอีป้องมีทางน้ำเป็นลักษณะวงแหวน ซึ่งแสดงถึงอิทธิพลของโครงสร้างทางธรณี

ธรณีวิทยาบริเวณภูด่านอีป้องเป็นชั้นหินทรายในหมวดหินภูพาน (อายุประมาณ 100 ล้านปี) วางตัวอยู่บนชั้นหินทรายหมวดต่างๆ กันจากอายุน้อยไปหาอายุมากดังนี้ หินทรายหมวดหินเสาขัว หินทรายหมวดหินพระวิหาร หินทรายหมวดหินภูกระดึง และห้วยหินลาด

ภูผาจิต หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ภูด่านอีป้อง ตั้งอยู่ในเขต อุทยานแห่งชาติน้ำหนาว ทางเข้าอยู่ตรงหลักกม.ที่ 69 ทางหลวงหมายเลข 12 (หล่มสัก-ชุมแพ) ระยะทางเดินเท้าประมาณ 10 กม. เส้นทางค่อนข้างลำบาก ใช้เวลาเดินเท้าประมาณ 6-7 ชั่วโมง สภาพป่าสวยงามมีลักษณะเด่นคือ ตั้งอยู่โดดเดี่ยวบนที่ราบสูง ลักษณะสัณฐานคล้ายภูกระดึงแต่เล็กกว่า เป็นภูเขาที่มีที่ราบคล้ายภูกระดึง มีไม้สนขึ้นอยู่ที่เดียวกันประกอบด้วยป่าดงดิบ ป่าเบญจพรรณ และไม้มีค่าหลายชนิด

MAP_PHUDANIPONG

ที่มา : หนังสือธรณีสัณฐานประเทศไทยจากห้วงอวกาศ

           www.thai-tour.com
รวบรวมข้อมูลโดย ณัฐพล สมจริง

Copyright © 2018 LEARN : อาณาจักรภูมิสารสนเทศ อาณาเขตแห่งการเรียนรู้

LEARN