หนูอวกาศ

GISTDA LEARN SPACE MICE JAPAN
This July 23, 2014, photo provided by University of Yamanashi shows a white mouse foster mother with pups. (Sayaka Wakayama/University of Yamanashi via AP)

เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2560 ที่ผ่านมา ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยยามานาชิ ประเทศญี่ปุ่น ได้เผยแพร่ความสำเร็จจากการทดลองที่เรียกว่า “Space mice” หรือ “หนูอวกาศ” ผ่านวารสาร the National Academy of Sciences งานดังกล่าวเป็นการทดลองผสมพันธุ์หนูด้วยสเปิร์มของหนูที่เคยถูกนำขึ้นสู่สถานีอวกาศนานาชาติและเก็บไว้เป็นเวลานาน 9 เดือนกับไข่บนโลก ลูกหนูที่เกิดขึ้นด้วยกระบวนการดังกล่าว ล้วนมีสุขภาพแข็งแรงดีและยังสามารถสืบพันธุ์ได้ตามปกติ ผลการทดลองครั้งนี้นับว่าเป็นครั้งแรกของโลกที่พิสูจน์สมมุติฐานที่ว่าสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมสามารถสืบพันธุ์ในอวกาศได้ ทั้งที่อยู่ในสภาวะความเข้มข้นรังสีสูงมากและเป็นอันตรายต่อยีนส์

การทดลองดังกล่าวเป็นความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยยามานาชิและองค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่น หรือ JAXA โดยนักวิจัยได้แช่แข็งสเปิร์มของหนูและส่งขึ้นสู่โมดูลห้องทดลองของญี่ปุ่น (Kibo module) บนสถานีอวกาศนานาชาติ เชื้อสเปิร์มดังกล่าวถูกเก็บรักษาไว้ในอวกาศเป็นระยะเวลานาน 9 เดือน ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2556 จนถึงเดือนพฤษภาคม 2557 จากนั้นนำกลับมาสู่โลกด้วยยานอวกาศของอเมริกา

หนูอวกาศที่เกิดจากการผสมพันธุ์ระหว่างไข่และสเปิร์มที่มาจากอวกาศมีจำนวน 73 ตัว คิดเป็นอัตราการเจริญพันธุ์ประมาณร้อยละ 10 ซึ่งใกล้เคียงกับอัตราการเจริญพันธุ์ที่เกิดจากการผสมพันธุ์กับสเปิร์มปกติจากหนูที่อยู่บนโลก คือประมาณร้อยละ11 การทดลองนี้ยังค้นพบอีกว่าหนูอวกาศเหล่านี้ยังสามารถขยายพันธุ์ต่อไปได้และไม่พบความผิดปกติทางร่างกายอีกด้วย

ในระหว่างที่สเปิร์มถูกเก็บรักษาไว้บนสถานีอวกาศนานาชาติต้องเผชิญกับความเข้มข้นรังสีในอวกาศที่สูงกว่าบนโลกประมาณ 100 เท่าส่งผลให้ DNA ในสเปิร์มดังกล่าวได้รับความเสียหายประมาณร้อยละ 75 แต่ผลการทดลองกลับพบว่ายีนส์ของหนูที่เกิดจากสเปิร์มที่มาจากอวกาศและสเปิร์มบนโลกนั้น ไม่มีความแตกต่างกัน  ในประเด็นนี้ Prof.Teruhiko Wakayama จากมหาวิทยาลัยยามานาชิได้อธิบายไว้ว่า “อาจเป็นไปได้ว่าเกิดกระบวนการซ่อมแซมความเสียหายที่เกิดขึ้นกับ DNA โดยไข่ที่ผสมกับสเปิร์ม” และยังกล่าวอีกว่า “ถ้าหากเราขยายเวลาเก็บรักษาสเปิรม์ไว้บนอวกาศ อาจจะทำให้ความเสียหายที่เกิดจากรังสีแย่กว่านี้ และแม้จะมีกระบวนซ่อมแซม DNA แต่ก็อาจจะไม่ช่วยอะไร”

ในอนาคตทีมนักวิจัยวางแผนจะทำการทดลองแบบเดียวกันอีกครั้ง โดยจะขยายเวลาเก็บรักษาสเปิร์มไว้บนอวกาศประมาณ 3 – 5 ปี รวมทั้งจะทำการผสมพันธุ์ระหว่างไข่และสเปิร์มในอวกาศด้วย

ที่มา https://mainichi.jp

Copyright © 2018 LEARN : อาณาจักรภูมิสารสนเทศ อาณาเขตแห่งการเรียนรู้

LEARN