โครงการประกวดสื่อภูมิสารสนเทศ ครั้งที่ 3 ประจำปี 2557

จัดโดย

สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน)
ร่วมกับ ศูนย์ภูมิภาคเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศทั้ง 5 แห่งทั่วประเทศ


หลักการและเหตุผล

สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) : สทอภ. ในฐานะหน่วยงานกลางด้านเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศได้เล็งเห็นความสำคัญและต้องการส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ผ่านการสร้างสื่อภูมิสารสนเทศ สทอภ. ได้กำหนดจัดการแข่งขันโครงการประกวดสื่อภูมิสารสนเทศ ครั้งที่ 3 ประจำปี 2557 ขึ้น เพื่อให้กลุ่มเยาวชนในระดับมัธยมศึกษาได้เรียนรู้และพัฒนาการจัดทำสื่อโดยใช้ข้อมูลภูมิสารสนเทศเพื่อให้เกิดประโยชน์ในการศึกษา และเผยแพร่สื่อต้นแบบไปยังกลุ่มเยาวชนต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อสร้างความตระหนักและความเข้าใจถึงประโยชน์ของเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศซึ่งจะเป็นการเพิ่มพูนความรู้ สร้างเสริมประสบการณ์และการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ ต่อไป

 

วัตถุประสงค์

  1. เพื่อพัฒนาทักษะความคิดริเริ่มในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศเพื่อการศึกษาอันจะเป็นรากฐานที่สำคัญยิ่งต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมอวกาศในอนาคต
  2. เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการพัฒนาการสร้างสื่อภูมิสารสนเทศในระดับมัธยมศึกษา
  3. เพื่อสร้างและพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ความสามารถทางด้านการสร้างสื่อภูมิสารสนเทศให้สามารถเกิดประโยชน์ในการนำไปใช้ในด้านอื่นๆต่อไป
  4. เพื่อสร้างเวทีการแข่งขันและสร้างความสนใจสำหรับเยาวชนที่มีความสามารถด้านคอมพิวเตอร์และการสร้างสรรค์สื่อเพื่อการเรียนการสอนทางด้านภูมิศาสตร์
  5. เพื่อให้ได้สื่อภูมิสารสนเทศต้นแบบที่หลากหลายซึ่งสามารถนำไปเผยแพร่เป็นสื่อที่ทุกโรงเรียนสามารถดาวน์โหลดนำไปใช้ในห้องเรียนได้

 

เป้าหมาย

  1. สนับสนุนโครงการพัฒนาสื่อภูมิสารสนเทศจากทั่วประเทศ ปีละ 18 โครงการ มีนักเรียนระดับมัธยมศึกษาเข้าร่วมในโครงการรวมทั้งสิ้นไม่น้อยกว่า 200 คน
  2. สร้างเวทีการแข่งขันด้านสื่อภูมิสารสนเทศระดับเยาวชนและระดับชาติ ตลอดจนนำผลงานไปสู่เชิงสังคมต่อไป
  3. สนับสนุนและส่งเสริมการพัฒนาการสร้างสื่อภูมิสารสนเทศให้แพร่หลายอันจะนำไปสู่การเข้าใจถึงประโยชน์ของเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศอย่างแท้จริง

 

รูปแบบการแข่งขัน

การประกวดสื่อภูมิสารสนเทศแบ่งออกเป็น 2 ระดับ ได้แก่

  1. ระดับภูมิภาค
  • การแข่งขันในระดับภูมิภาคนี้จะเปิดโอกาสให้นักเรียนระดับมัธยมศึกษาจากทั่วประเทศได้สร้างสื่อการสอนทางด้านภูมิศาสตร์ไม่จำรูปแบบ ไม่จำกัดเนื้อหา และส่งตัวอย่างสื่อการสอน ไปยัง สทอภ. และศูนย์ภูมิภาคเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ 5 แห่ง
  • การคัดเลือกรอบแรก คณะกรรมการในแต่ละศูนย์จะต้องคัดเลือก 3 ทีม เพื่อเป็นตัวแทนของแต่ละศูนย์ฯ ในการเข้ารับการฝึกอบรมการสร้างสื่อภูมิสารสนเทศ ด้วยโปรแกรม Google Earth และเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศที่ สทอภ. กรุงเทพมหานคร เป็นเวลา 1 สัปดาห์ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และได้รับเงินสนับสนุนการสร้างสื่อทีมละ 3,000 บาท

  1. ระดับประเทศ
  • การคัดเลือกรอบที่ 2 หลังจากฝึกอบรมแล้วแต่ละทีมต้องกลับไปพัฒนาสื่อภูมิสารสนเทศและเทคนิคการนำเสนอต่างๆ เพื่อให้สื่อมีความน่าสนใจมากยิ่งขึ้น และต้องส่งกลับมาที่ สทอภ. เพื่อให้กรรมการคัดเลือก ตัดสิน โดยจะตัดสินเลือกเพียง 10 ทีม ที่จะได้เข้าสู่รอบการแข่งขันระดับประเทศต่อไป
  • การแข่งขันรอบชิงชนะเลิศ ทีมที่ผ่านเข้ารอบจำนวน 10 ทีมหรือโรงเรียน ต้องสร้างสื่อการเรียนการสอนทางด้านภูมิศาสตร์ในรูปแบบคลิปวิดีโอ โดยนำข้อมูลภูมิสารสนเทศ ประกอบกับเนื้อหาเรื่องราวถ่ายทอดบนแผนที่ผ่านโปรแกรม Google Earth บอกเล่าถึงสภาพภูมิประเทศของประเทศไทยหรืออาเซียน หรือเรื่องราวของภัยพิบัติต่างๆ ที่ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของเรา นำเสนอบนเวที    ในวันที่ 12 พฤศจิกายน 2557 ณ ลานอเนกประสงค์ อาคารรัฐประศาสนภักดี ศูนย์ราชการฯ แจ้งวัฒนะ กรุงเทพมหานคร โดยมีคณะกรรมการตัดสินการประกวดสื่อฯ จำนวน 5 ท่าน ได้แก่ ผศ.น้อม งามนิสัย (ผู้เชี่ยวชาญภูมิศาสตร์ประเทศไทย), ดร.สุวิทย์ บึงบัว (นักวิชาการศึกษา สำนักเทคโนโลยีเพื่อการเรียนการสอน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ), นายศุภรัฐ บุญมาแย้ม (ผู้กำกับภาพยนตร์), นายพิษณุกรณ์ เต็มปัน (เจ้าหน้าที่ฝ่ายวิชาการอาวุโส ทรูปลูกปัญญา มีเดีย) และ นางสาวศิริกุล หุตะเสวี (หัวหน้าฝ่ายฝ่ายภูมิสังคม สทอภ.) โดยมีผลการตัดสินดังนี้

 

รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ทีม Super TWK โรงเรียนเทิงวิทยาคม จังหวัดเชียงราย
ผลงานสื่อฯ แผ่นดินไหว ภัยพิบัติที่เชียงราย

 

รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1  ได้แก่ ทีมโพนงามศึกษา โรงเรียนโพนงามศึกษา จังหวัดสกลนคร
ผลงานสื่อฯ ป่าบุ่ง ป่าทาม ผืนป่าที่ทรงคุณค่าแห่งลุ่มน้ำสงครามตอนล่าง

 

รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2  ได้แก่ ทีมราษฎร์ปรีชาวิทยาคม โรงเรียนราษฎร์ปรีชาวิทยาคม จังหวัดกำแพงเพชร
ผลงานสื่อฯ แผ่นดินไหวในประเทศไทย

 

รางวัลทีมยอดนิยม (Top Vote) ได้แก่ ทีมต้นกล้ารักษ์อู่ตะเภา โรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัย2 จังหวัดสงขลา
ผลงานสื่อฯ ต้นกล้าเรนเจอร์

รางวัลการแข่งขัน

  • ระดับภูมิภาค ทุนผลิตสารคดี 18 ทีมที่ผ่านรอบแรก รางวัล ละ 3,000 บาท
  • ระดับประเทศ
    • รางวัลชนะเลิศ อันดับที่ 1 ทุนผลิตสื่อฯ 50,000 บาท
    • รางวัลชนะเลิศ อันดับที่ 2 ทุนผลิตสื่อฯ 30,000 บาท
    • รางวัลชนะเลิศ อันดับที่ 3 ทุนผลิตสื่อฯ 20,000 บาท
    • รางวัลทีมยอดนิยม ทุนผลิตสื่อฯ 10,000 บาท

 

Copyright © 2018 LEARN : อาณาจักรภูมิสารสนเทศ อาณาเขตแห่งการเรียนรู้

LEARN