สองเยาวชนไทยกับแรงบันดาลใจสู่อวกาศ

“อวกาศ เป็นเรื่องที่ไม่ไกลตัวอีกต่อไป” เป็นประโยคที่วันนี้ประเทศไทยเริ่มเห็นภาพชัดมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับเยาวชนรุ่นใหม่ที่ปัจจุบันมีโอกาสที่จะมีส่วนร่วมกับกิจกรรมอวกาศมากมาย ภายใต้การสนับสนุนจากหน่วยงานรัฐ เช่นเดียวกับปีนี้ที่เป็นอีกก้าวหนึ่งที่สำคัญสำหรับวงการอวกาศของประเทศไทยที่ จิสด้า ร่วมกับ สวทช. จัดสัมมนา “อวกาศ : ขุมทรัพย์แห่งมวลมนุษยชาติ Space : Infinite Assets for All Humankind” เมื่อวันที่ 28 พ.ค. 2560 ที่ผ่านมา เพื่อเผยแพร่โครงการทดลองในอวกาศและสภาวะไร้แรงโน้มถ่วง หรือ National Space Exploration (NSE) และเป็นการปลุกกระแสและสร้างแรงบันดาลใจในการศึกษาด้านอวกาศแก่คนในประเทศ โดยการเชิญชวนให้คนไทยออกแบบการทดลองในสภาวะแรงโน้มถ่วงต่ำหรือในอวกาศเพื่อคัดเลือกเป็นตัวแทนประเทศส่งการทดลองสู่สถานีอวกาศนานาชาติ รายละเอียดเพิ่มเติมสามารถติดตามได้ที่ https://www.nstda.or.th/jaxa-thailand/national-space-exploration/

ภายในงานมีการจัดแสดงนิทรรศการจากหน่วยงานต่างๆมากมาย หนึ่งในนั้นมีนิทรรศการจากเยาวชนคนเก่งที่มีเรื่องราวที่น่าสนใจจากน้องไอเดีย และไอซี สองพี่น้องที่มีพร้อมทั้งความรู้ จิตนาการ และแรงบันดาลใจที่จะช่วยพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศของประเทศไทย ลองมาดูกันว่ามุมมองเรื่องอวกาศของน้องทั้งสองคนเป็นอย่างไรบ้าง

น้องไอซี (ซ้าย) และ น้องไอเดีย (ขวา)

แนะนำตัว และวันนี้มาทำอะไรที่งานสัมมนา อวกาศ : ขุมทรัพย์แห่งมวลมนุษยชาติ

ไอซี : สวัสดีคะ ชื่อ เด็กหญิง วริศา ใจดี  ชื่อเล่น ไอซี มาจากโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทร วิโรฒ ปทุมวัน ตอนนี้กำลังศึกษาอยู่ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 คะ  วันนี้มาจัดบูทเกี่ยวกับที่เราได้รับรางวัลจาก JAXA (Japan Aerospace Exploration Agency) เป็นรางวัลกิจกรรม Try Zero-G 2014  ปีนั้นเราส่งเกี่ยวกับการระบายสีน้ำบนอวกาศเข้าประกวดคะ

ไอเดีย : สวัสดีคะ เป็นพี่ของไอซีคะ ชื่อ นางสาวศวัสมน ใจดี ชื่อเล่น ไอเดีย มาจากโรงเรียนศรีบุณยานนท์ กำลังศึกษาอยู่ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 คะ ก็ทำโปรเจคคู่กับไอซีเลยได้มาร่วมจัดบูทและคุณแม่ให้ลองมาฟังงานสัมมนาเกี่ยวกับ Space เพราะเป็นเรื่องที่เราชอบนอกเหนือจาก Biology

กิจกรรมที่น้อง ๆ เคยร่วมกับ สวทช. และ GISTDA มีอะไรบ้าง

ไอเดีย : กิจกรรมเริ่มแรกของ สวทช. ส่ง Space Seed ซึ่งเป็นการทดลองเกี่ยวกับการปลูกเมล็ดถั่ว AZUKI BEANS คือบนอวกาศนี้ตัวแปรควบคุม มันจะมีอุณหภูมิ ซึ่งจะเท่ากับอุณหภูมิของแอร์ตลอดเวลา แล้วก็ความสว่างต้องมืด แบบมืดทั้งวันเลย เราก็เลยต้องมาจัดตัวแปรควบคุมให้เหมือนกันกับการทดลองบนโลก แต่ว่าตัวแปรต้นคือสิ่งที่ต่างกันใน 2 การทดลอง คือบนอวกาศไม่มีแรงโน้มถ่วง แต่บนโลกมีแรงโน้มถ่วง คราวนี้ก็มาดูว่าพืชที่โตขึ้นมาในสภาพที่เหมือนกัน แต่ขาดแรงโน้มถ่วงหรือมีแรงโน้มถ่วงแตกต่างกันอย่างไร ซึ่งกิจกรรมนี้ทำร่วมกับเพื่อนที่โรงเรียนเก่าโรงเรียนมัธยมปัญญารัตน์คะ ส่วนน้องไอซีตอนนั้นไม่ได้ส่งเพราะว่าอายุยังไม่ถึง

ไอซี : หนูเริ่มส่งพร้อมกับพี่ไอเดีย คือ กิจกรรม Try Zero-G ของ JAXA ส่งเรื่องระบายสีน้ำบนอวกาศ และได้เข้าร่วมกิจกรรมค่ายของ GISTDA คือ Space Camp ซึ่งค่ายนี้ครั้งแรกไปเป็นเด็กค่ายและได้คัดเลือกไปอบรมประเทศเกาหลี ส่วนครั้งที่ 2 ได้มีโอกาสไปเป็นพี่เลี้ยงน้องค่ายคะ นอกจากนี้ยังประกวดเขียนบทความด้านอวกาศ ภายใต้หัวข้อกำจัดขยะอวกาศ ในงาน Youth Forum 2016 ซึ่งได้รางวัลที่ 1 มาคะ

ปัจจุบันมีผลงานอะไรที่กำลังเข้าส่งประกวดอยู่บ้าง

ไอซี : เข้าร่วมกิจกรรม Try Zero-G อีกปีนึงคะ ครั้งนี้ส่งเป็น “สลิงกี้” ที่เหมือนของเล่นเด็กที่ยืด ๆ ได้แล้วยัดของเข้าไปข้างในและลองยืดหดดูว่ามันจะไปในทิศทางไหน

ไอเดีย : เป็น Motion ที่อยู่เหมือนทูป แต่อยู่ในสภาพ Zero-G ซึ่งเราอยากรู้ว่ามันจะเคลื่อนที่อย่างไร

การทดลองระบายสีน้ำบนอวกาศ มีการตั้งสมมุติฐานอย่างไร

ไอเดีย : สมมุติฐานของเรา คือเราคิดว่ามันน่าจะระบายได้ แต่น้ำมันจะลอย ๆ

ไอซี : ใช่คะ เพราะอยู่บนโลกเราจะมีเทคนิคแบบเขย่าเอียงกระดาษให้มันย้อยลงมา ซึ่งอยู่บนอวกาศก็จะอยู่นิ่ง ๆ มันจะไม่เอียงตาม เพราะมันไม่มีแรงดึงดูด จะมีน้ำนูน ๆ ออกมาจากกระดาษ คล้ายหยดน้ำบนใบบอน

น้องไอซี ในฐานะตัวแทนเยาวชนไทยที่เคยไปเข้าค่าย International Space Camp ที่เกาหลีกับ GISTDA ค่ายนี้ให้อะไรกับน้องบ้าง

ไอซี : ก็ได้อะไรหลาย ๆ อย่าง อย่างแรกได้เจอเพื่อนตั้งแต่ที่ค่ายไทย ได้เจอเพื่อนที่ชอบหลาย ๆ อย่างเหมือนกับเราเลยในเรื่องอวกาศ คุยถูกคอกันมาก พอคัดไปที่เกาหลีอีกก็ได้เพื่อนอีกแต่เป็นเพื่อนจากต่างชาติ ทีนี้ก็ได้ฝึกภาษาและได้ฝึกความสามัคคีในกลุ่ม เพราะเขาจะจับแยกกันเลยในหนึ่งกลุ่มจะมีทุกประเทศและต้องทำงานพรีเซนออกมาร่วมกัน ซึ่งอย่างแรกเราก็ต้องสื่อสารกับเขาให้เข้าใจก่อน มีการแบ่งงานกัน และแบ่งหน้าที่ หนูได้เป็นคนออกไปพรีเซนคะ ตอนนั้นทำเรื่องที่อยู่ในอวกาศ

ทำไมน้องๆ ถึงสนใจเรื่องของอวกาศ

ไอเดีย : ก็เหมือนเราได้อยู่กับมันทุกวัน แต่ว่าเราไม่ได้เห็นมัน แค่มันอยู่ข้างนอกเราแต่เราก็อยู่กับมันตลอด ก็เลยรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องที่น่าค้นหากว้างดี ก่อนที่มันจะเป็นจักรวาลมันคืออะไร และจักรวาลคืออะไรกันแน่ มันก็เริ่มจะเกิดคำถามว่าทำไม ถ้าสามารถว่าเราทดลองอะไรบนอวกาศได้มันก็ต่างจากโลกเหมือนหลุดไปอยู่อีกทีนึงเลย

น้องคิดว่าในอนาคตเทคโนโลยีอวกาศจะส่งผลอย่างไรบ้างกับชีวิตของคนที่อยู่บนโลก

ไอซี : หนูคิดว่าในอนาคตน่าจะมีคนไปอยู่อวกาศ เพราะว่าเขาก็หาทางอย่างเช่นไปดวงจันทร์หรือดาวอังคารอะไรแบบนี้ อย่างหนังหลายเรื่องก็มีบอกว่าเขาคิดวิธีที่จะไปอยู่ไปตั้งถิ่นฐานได้แล้ว เพราะเขาก็บอกว่าบนโลกทรัพยากรใกล้หมด หนูก็เลยคิดว่าในอนาคตน่าจะมีบัตรประชาชนถิ่นที่อยู่บนดาวอังคาร เท่ห์ดี

ความใฝ่ฝันของน้องที่เกี่ยวอวกาศคืออะไร และเพราะอะไร

ไอเดีย : จริง ๆ ตอนเด็ก ๆ อยากเป็นนักบินอวกาศนะ อยากลองไปดูมันว่าเป็นยังไง มีแต่ดาวอยู่ข้างนอก ทำให้ลอยได้ ซึ่งมันเป็นแบบที่ที่เราข้ามไปไม่ได้ ถ้าเราจะได้ Expo มันเราจะได้ใช้ประโยชน์อะไรจากมันได้บ้าง เหมือนที่เมื่อกี้มีนักวิทยาศาตร์คนนึงพูดกับพี่เดียว่า พลังงานมัน 96 เปอร์เซนต์ อยู่ในจักรวาล แต่ว่าประมาณ 4 เปอร์เซ็นต์มาจากดาวทั้งหมด ซึ่งเรานี่ยังไม่ได้แยกเป็นรูป เพราะฉะนั้นเราเล็กมาก ๆ ก็เหมือนกับว่าเราสามารถถ่ายทอดพลังงานนั้นได้และเก็บเกี่ยวพวกทรัพยากรจากดาวดวงอื่นได้ มันก็น่าสนใจให้ใช้ไปได้ตลอด

ไอซี : อยากประดิษฐ์เครื่องกำจัดขยะอวกาศคะ คือตอนแรกหนูก็ไม่รู้คะว่ามีอะไรมากขนาดนี้ ก็เรียนปกติดาวเคราะห์โลก สุริยะ แล้วก็คนส่งดาวเทียมยานอวกาศขึ้นไป แล้วพอมาเจอหัวข้อนี้ที่ค่าย GISTDA สอน หนูก็มาค้นหาดูภาพโอ้โหขยะอวกาศนี่แบบเละเต็มรอบโลก เราคิดว่าอวกาศใหญ่แต่ว่าแรงโน้มถ่วงไงคะ มันก็เลยดึงโคจรให้อยู่รอบ ๆ หนูก็เลยคิดว่าอันตรายอยู่นะ ถ้าวันนึงเกิดอะไรขึ้นมามันตกลงมา ก็เลยคิดว่าก่อนจะไปดาวอื่นก็กำจัดขยะให้มันเรียบร้อยก่อน เริ่มจากในโลกก็ดีที่สุดแล้ว เป็นแนวรักษ์โลก 555

ถ้าอยากเก่งด้านวิทยาศาสตร์อวกาศแบบน้องๆ  ทั้ง 2 คนแบบนี้ต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง

ไอเดีย : 555 หนูก็ไม่รู้นะว่าแบบนี้เรียกว่าเก่งรึป่าว ก็ยังไม่ค่อยรู้เรื่องเท่าไหร่ แต่หนูชอบอ่าน ๆ ทุกอย่าง หนังสือเรียนเป็นส่วนน้อยด้วยซ้ำ จะอ่านพวกหนังสือนิยาย Science Vision ซึ่งมันจะรวมระหว่างศาสตร์กับศิลป์ ให้มันเป็นสิ่งที่ย่อยง่ายขึ้นแต่ก็ยังได้ความรู้และได้จิตนาการด้วย ส่วนมากคิดว่าสิ่งที่ผู้ใหญ่ต้องการจากเด็กที่จากการจัดพวกเวทีก็คือ ความคิด Original บางที่ผู้ใหญ่ก็คิดไม่ถึงนะว่าเป็นการทดลองแบบง่ายๆ เนี่ยเห็นเด็กสิงคโปร์พับกระดาษร่อนเครื่องบิน ซึ่งบ้างครั้งผู้ใหญ่ก็จะมองไกลเกินไปว่ามันดูเด็กน้อยไปรึป่าว แต่พวกเรามันคือไอเดียว่าเด็กอยากรู้จริง ๆ ถ้าจะแนะนำก็ทำสิ่งที่ตัวเองชอบ อยากทำอะไรก็ทำออกมา ความคิดเราดีที่ดีสุด

 

ผลงานที่เอามาแสดงวันนี้คืออะไร มีแนวคิดอย่างไร ทำไมถึงอยากเอาผลงานนี้มาแสดงในบูท

ไอซี : คือหนูชอบพับกระดาษพวก Origami คะ แล้วหนูก็หาดูแล้วเจออันนี้มันเป็นของเล่นแบบโบราณ ซึ่งอันนี้จะพลิกได้ 3 รูป คือหนูรู้สึกว่ามันประหยัดกระดาษดีนะ มันเป็นแทบบางๆ พอเอามาพับต่อกันสามารถเปลี่ยนได้ตั้ง 3 หน้า แล้วหนูเลยเอาไปหลอกแม่ว่ามันเปลี่ยนภาพได้นะเล่นเป็นมายากลสนุกเลย แล้วนี่ก็เลยคิดว่ามันเอามาปรับทำให้เป็นโบรชัวร์ได้ ทำให้ไม่ใช่แค่เปิดพับ ๆ อย่างเดียว มันก็ไม่น่าเบื่อ เปิดเล่นกันพลิกกันเพลินดี

ให้กำลังใจเพื่อน ๆ ที่กำลังลังเลไม่รู้จะไปทางไหนดี ให้เห็นความสำคัญของวิทยาศาสตร์อวกาศหน่อย

ไอเดีย : ก็วิทยาศาสตร์มันไม่ได้มีอะไรที่มันเพียวอยู่แล้ว จริง ๆ มันคือสิ่งที่อยู่รอบตัวเรา มันเป็นการผสมกันระหว่างศาสตร์กับศิลป์อยู่แล้ว อย่างเช่นการที่เราวาดรูปก็ยังมีฟิสิกส์ เคมีอยู่ ซึ่งถ้าเราสามารถรวมทั้งสองอย่างเข้าด้วยกันได้ มันจะทำให้เราทำงานได้ดีขึ้น เข้าใจอะไรลึกซึ้งขึ้นไม่ใช่แค่รู้ผิวเผิน ไม่ใช่แค่วาดรูปแต่ถ้ารู้จักเทคนิควิทยาศาสตร์การใช้สีมันก็จะดีขึ้น

ไอซี : ใช่คะ คือการใช้ชีวิตเราต้องควบคู่กัน ต้องแบ่งทั้งสองอย่าง ทั้งเรียนวิชาการและทั้งกิจกรรมเพราะว่ามันก็เป็นของคู่กัน ถ้าชอบวิทย์ก็ไปสายวิทย์ ชอบศิลป์ก็ไปสายศิลป์แต่ว่าอย่าทิ้งไปเลยทั้งคู่

Copyright © 2018 LEARN : อาณาจักรภูมิสารสนเทศ อาณาเขตแห่งการเรียนรู้

LEARN