ลาวาหลากที่แม่น้ำวัง ลำปาง

The Surveyor Banner

LS13122015_LAMPANG

ภาพถ่ายจากดาวเทียม Landsat-8 บริเวณ อ.เกาะคา อ.สบปราบ จังหวัดลำปาง

แม่น้ำวังเกิดจากทิวเขาผีปันน้ำบริเวณทิศเหนือของอำเภอวังเหนือได้ไปทางทิศใต้ผ่าน อำเภอวังเหนืออำเภอแจ้ห่ม อำเภอเมืองลำปาง อำเภอเกาะคา อำเภอสบปราบ อำเภอเถิน อำเภอแม่พริก จังหวัดลำปางบรรจบกับแม่น้ำปิงที่บ้านปากวัง อำเภอบ้านตาก จังหวัดตาก เป็นระยะทางประมาณ 300 กิโลเมตรระหว่างทางแม่น้ำไหลผ่านธรณีสัณฐานที่น่าสนใจต่างๆกัน ทั้งที่เกิดจากการกัดเซาะและทับถมของแม่น้ำวังเองและจากสาเหตุอื่น

ฝั่งตะวันออก ช่วงระหว่าง อำเภอเกาะคา ก่อนจะเข้าเขต อำเภอสบปราบ แม่น้ำวังจะไหลขนานไปกับเนินที่มีลักษณะยาวปรากฏในภาพจากดาวเทียมเป็นโทนสีคล้ำแตกต่างจากธรณีสัณฐานอื่นโดยรอบตอนบนเป็นเนินสูงรูปร่างคล้ายกรวยฐานกว้าง มีแบบรูปทางน้ำรัศมีและวงแหวน ตอนใต้เป็นเนินยาวค่อนข้างราบ เป็นส่วนราดต่อมาจากเนินรูปกรวย บนยอดเนิน มีลักษณะเป็นแอ่งรูปวงกลม มีขอบสูงเปิดออกทางทิศตะวันตก เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 700 เมตร

ลักษณะของเนินดังกล่าวเป็นธรณีสัณฐานที่เกิดจากภูเขาไฟลาวาหลากแบบลาวาชิลด์ของหินบะซอลต์ เนินตอนบนเป็นส่วนของกรวยภูเขาไฟที่มีแอ่งรูปกลมเป็นปล่องภูเขาไฟ แต่เนื่องจากสึกกร่อนทำให้ปล่องภูเขาไฟพังทลายขยายวงกว้างขึ้นมีลักษณะคล้ายแคลดีราส่วนที่เป็นเนินยาวลาดจอดลงมาทางทิศใต้เป็นส่วนของลาวาหลากที่ไหลล้นลงมาปกคลุม

หุบแม่น้ำวังมีการตั้งบ้านเรือนและใช้ที่ดินทำการเกษตร เนื่องจากดินที่ผุพังจากหินบะซอลต์เป็นดินที่มีความอุดมสมบูรณ์สูงส่วนบนของพื้นที่บริเวณซ้ายบนในภาพจากดาวเทียมปรากฏโทนสีเข้ม เป็นลักษณะของพื้นที่ลุ่มต่ำซึ่งคาดว่าเดิมเคยเป็นทะเลสาบที่เกิดจากการปิดกั้นทางน้ำของลาวาหลาก แต่ต่อมาแม่น้ำวังกัดเซาะเปิดทางระบายน้ำจากทะเลสาบลงมาทางทิศใต้จนเหลือสภาพอย่างที่ปรากฏในปัจจุบัน

ในบริเวณนี้พบบอมบ์ภูเขาไฟและตระกรันภูเขาไฟ นอกจากนี้หินบริเวณพนังของภูเขาไฟยังแสดงชั้นการหลากของลาวาในแต่ละครั้งซึ่งมีอายุตั้งแต่ 2 ถึง 2.8 ล้านปี

ภาพโดย นายวีรวัฒน์ จันทวงษ์ ภาควิชาภูมิศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
Location : จังหวัดลำปาง
พิกัด  18° 2’18.37″ N, 99°22’48.58″ E
ที่มา: หนังสือธรณีสัณฐานประเทศไทยจากห้วงอวกาศ

Copyright © 2018 LEARN : อาณาจักรภูมิสารสนเทศ อาณาเขตแห่งการเรียนรู้

LEARN