แก่งตะนะ จังหวัดอุบลราชธานี

TH_KaengTanaแก่งตะนะ อยู่ห่างจาก อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี ไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ 8 กิโลเมตร เป็นแก่งกลางแม่น้ำมูล ซึ่งไหลไปบรรจบกับแม่น้ำโขงที่ อ.โขงเจียม

จากภาพถ่ายดาวเทียมสามารถมองเห็นดอนตะนะปรากฏกลางแม่น้ำมูลชัดเจนมาก และยังสามารถสังเกตเห็นแนวระดับและมุมเทของการวางตัวของชั้นหินตะกอนของหินชุดโคราชในแนวตะวันออกเฉียงเหนือได้อย่างชัดเจน ลำน้ำมูลช่วงตั้งแต่บ้านคันเปื่อยไปบรรจบกับแม่น้ำโขงวางตัวในแนวระดับของชั้นหินชุดโคราชที่แผ่กระจายในพื้นที่ ประกอบด้วยการเรียงลำดับชั้นของหมวดหินพระวิหาร หมวดหินเสาขัว หมวดหินภูพาน และหมวดหินโคกกรวด จากล่างสุดมายังบนสุด

GE_KaengTana

ดอนตะนะเป็นส่วนที่เหลืออยู่ส่วนหนึ่งของหมวดหินภูพาน เกิดจากการกัดเซาะลึกของแม่น้ำมูล เพราะแผ่นดินบริเวณนี้เคยถูกยกให้สูงขึ้น การกัดเซาะลึกของแม่น้ำจึงทำให้ได้หน้าผาหินลึกชันลงไปสู่ทางน้ำเช่นเดียวกับบริเวณแก่งตะนะ ชั้นหินทรายแข็งของหมวดหินภูพานยังรองรับลำน้ำมูลบริเวณดอนตะนะอยู่ ในฤดูน้ำหลากชั้นหินเหล่านี้จึงโผล่หรือเกือบโผล่ในหลายๆ ตำแหน่งในลำน้ำ ทำให้กระแสน้ำในลำน้ำมูลต้องไหลข้ามชั้นหินเหล่านี้ จนเกิดเป็นแก่ง และน้ำตกเล็กๆ ที่สวยงามบริเวณปากมูล แม่น้ำมูลไหลลงสู่แม่น้ำโขงบริเวณ อ.โขงเจียม ในภาพจะเห็นแม่น้ำเป็นสองสีเกิดจากความแตกต่างของปริมาณตะกอนในน้ำทำให้สีต่างกัน

001

อุทยานแห่งชาติแก่งตะนะ ตั้งอยู่ในท้องที่อำเภอโขงเจียม และอำเภอสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี สภาพ พื้นที่ทั่วไปเป็นที่ราบและเนินเขาเตี้ยๆ โดยมียอดเขาบรรทัดเป็นจุดสูงสุด ความสูงประมาณ 543 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง มีแม่น้ำมูลและแม่น้ำโขงไหลผ่านตามแนวเขตทางด้านทิศเหนือไปออกประเทศลาว บริเวณแก่งตะนะจะมีสายน้ำที่เชี่ยวและลึก อีกทั้งยังมีถ้ำใต้น้ำหลายแห่ง จึงทำให้มีปลาอาศัยอยู่ชุกชุม ตรงกลางมีโขดหินขนาดใหญ่เป็นเกาะกลาง มีเนื้อที่ประมาณ 50,000 ไร่ หรือ 80 ตารางกิโลเมตร

004

คำว่า “ตะนะ” จากการเล่าขานตามความเชื่อของชาวบ้านและประชาชนทั่วไป เดิมมาจากคำว่า “มรณะ” เนื่องจากบริเวณแก่งตะนะนี้มีกระแสน้ำไหลที่เชี่ยวกราก และมีโขดหินใหญ่น้อยอยู่ทั่วไป ตลอดจนมีถ้ำใต้น้ำอยู่หลายแห่ง ชาวบ้านที่สัญจรทางน้ำหรือออกจับปลา มักประสบอุบัติเหตุเสียชีวิตอยู่เป็นประจำ ชาวบ้านจึงเรียกแก่งนี้ว่า “แก่งมรณะ” ตามแรงบันดาลจากสภาพของสายน้ำที่ไหลผ่านแก่งนี้ ซึ่งต่อมาเรียกว่า “แก่งตะนะ”

Map_KaengTana

ที่มา : ธรณีสัณฐานจากประเทศไทยจากห้วงอวกาศ
รวบรวมข้อมูลโดย :  ณัฐพล สมจริง

Copyright © 2018 LEARN : อาณาจักรภูมิสารสนเทศ อาณาเขตแห่งการเรียนรู้

LEARN