ช่องสามหมอ จังหวัดชัยภูมิ (Chong Sam Mo)

Thailand from Thaichote Banner

ทิวเขาบางทิวมีรอยขาดจากกันเป็นช่วง เป็นลักษณะธรณีสัณฐานที่น่าสนใจ เพราะบริเวณเช่นนี้มักใช้เป็นเส้นทางคมนาคม ลักษณะธรณีสัณฐานที่เป็นช่องเขาขาดมี 2 ลักษณะคือ ช่องเขาขาดที่ไม่มีลำน้ำไหลผ่านเรียกว่า “กิ่วลม” ซึ่งมีอยู่หลายแห่งโดยเฉพาะบนทิวเขาพนมดงรัก เช่น ช่องอานม้า ช่องโอบก ช่องจอม เป็นต้น ช่องเหล่านี้เป็นเส้นทางสะดวกจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างไปยังกัมพูชา ส่วนอีกลักษณะหนึ่งเป็นช่องเขาขาดที่มีลำน้ำไหลผ่านเรียกว่า “กิ่วน้ำ (water gap)” มีลำน้ำไหลตัดผ่านทิวเขาอย่างชัดเจน การเกิดกิ่วลมและกิ่วน้ำมีทฤษฎีทางธรณีสัณฐานอธิบายกันไว้หลายทฤษฎี เช่น “การกัดกร่อนเข้าหากัน (headward erosion)” หมายถึง มีลำธารอยู่สองข้างของทิวเขากัดกร่อนจนมาพบกันตรงสันเขาและตัดสันทิวเขาจนเป็นช่อง อีกทฤษฎีหนึ่ง เรียกว่า “การซ้อนทับ (superimposed)” หมายถึง บริเวณทิวเขามีลำน้ำไหลผ่านอยู่ก่อนแล้ว เมื่อพื้นที่ตรงนั้นค่อยๆ ยกตัวขึ้นเป็นทิวเขา ลำน้ำจะรักษาระดับการไหลของน้ำให้คงเดิม จึงกัดเซาะสันของทิวเขาตรงที่ลำน้ำไหลผ่านให้เป็นอัตราส่วนเท่ากับ การยกตัวจึงเกิดเป็นกิ่วน้ำ แต่ถ้าขณะที่ทิวเขายกตัวขึ้นภายหลังพบว่า อัตราการกัดเซาะของลำน้ำมีน้อยกว่าการยกตัวของพื้นที่ ในที่สุดลำน้ำจะขาดออกจากกันหรือเปลี่ยนแนวการไหลไปทางอื่นและคงสภาพธรณีสัณฐานช่องเขาขาดเรียกว่ากิ่ว

water gap

Chongsammo-02

Chongsammo-01

ช่องสามหมอ เป็นลักษณะ กิ่วน้ำ (water gap) หากสังเกตข้อมูลจากภาพถ่ายดาวเทียมไทยโชต ลำห้วยสามหมอไหลตัดทิวเขาภูแลนคาเกือบเป็นมุมฉาก ถ้าสังเกตให้ละเอียดจะเห็นว่าลำห้วยสามหมอไหลกัดเซาะแนวสันเขาเป็นรอยเว้าผ่านชั้นหินต่างๆ และมีร่องรอยของชั้นหินหลายแนว มีแนวสันหินในระดับต่ำห่างจากช่องสามหมอลงมาประมาณ 3 กิโลเมตร เห็นเป็นแนวขนานกับภูโค้งค่อนข้างชัดเจน แต่มีระดับต่ำกว่า ลักษณะเช่นนี้ทำให้สันนิษฐานว่าลำห้วยสามหมอน่าจะเป็นลำน้ำบรรพการ (antecedent stream) ที่ซ้อนทับกันบริเวณนี้อยู่ก่อนการยกตัวของบริเวณนี้ ลำห้วยสามหมอจึงกัดเซาะไปพร้อมๆ กับการยกตัว เนื่องจากหินในชุดโคราชแต่ละหมวดหินประกอบด้วยหลายชั้น แต่ละชั้นหินมีคุณสมบัติทนทานต่อการสึกกร่อนแตกต่างกัน หมวดหินโคกกรวดเป็นหมวดที่อยู่ชั้นบนสุดของหินชุดโคราชในบริเวณนี้จึงได้สึกกร่อนไปก่อน แต่บางชั้นของหมวดหินนี้สึกกร่อนได้ช้ากว่าชั้นอื่นจึงยังคงเห็นแนวรางๆ อยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ ส่วนหมวดหินภูพานยังคงเหลือจากการสึกกร่อนอยู่มากจึงเห็นเป็นสัน

บทความอื่นๆเกี่ยวกับช่องสามหมอ

ที่มา: หนังสือธรณีสัณฐานประเทศไทยจากห้วงอวกาศ

รวบรวมข้อมูลโดย: นางสาวปณิชา นพจิระเดช

Copyright © 2018 LEARN : อาณาจักรภูมิสารสนเทศ อาณาเขตแห่งการเรียนรู้

LEARN