SPACETH.CO เรื่องอวกาศที่ไม่ใช่เรื่องไกลตัว

SPACETH.CO

หากพูดถึงเรื่องราวเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์และอวกาศ น้อยคนนักที่จะไม่รู้จัก SPACETH.CO เพราะเรื่องราวที่พวกเขาถ่ายทอดมีเอกลักษณ์ที่เด่นชัด เหตุผลอะไรทำให้เด็กเหล่านี้รวมตัวกัน ซึ่งเรากำลังพูดคุยกับทีมงาน SPACETH.CO นำทีมโดย


“ช่วงที่ยานนิวฮอไรซันส์เดินทางไปดาวพลูโต เหมือนเป็นบทความเปิดตัวเลยครับ
จากปกติคนเข้าเว็บวันละร้อยกว่า ก็แบบโอ้มีคนเข้ามาเป็นแสน”


เติ้ล – ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน
ปี 1 คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ ภาควิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ ภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี อายุ 19 ปี ทำงานเป็น Web Developer และ Freelance Programmer มีเว็บและเพจที่ดูแลอยู่คือ Macthai.com เว็บข่าวเกี่ยวกับ Apple
“เริ่มจากเติ้ลอ่านหนังสือเกี่ยวกับดาราศาสตร์กับอวกาศตั้งแต่ประมาณ 4-5 ขวบครับ ตั้งแต่ที่ยังไม่ได้เข้าโรงเรียนเลย คือเด็กสมัยนี้อ่าครับพ่อแม่ไปทำงาน เด็กทั่วไปบางคนก็แบบถูกทิ้งไว้กับเกมหรือทีวี ของเล่นโน้นนี่นั่นบ้าง แต่ของเติ้ลเนี่ยแม่ชอบซื้อหนังสือมาทิ้งไว้แล้วหนังสือก็จะเป็นหนังสือเกี่ยวกับเป็นหนังสือความรู้ทั่วไปบ้าง หนังสือความรู้อวกาศบ้าง ทุกวันนี้ยังเก็บไว้อยู่เลยมีประมาณ 4-5 เล่ม ที่เป็นเล่มแรกๆ ที่ทำให้เริ่มสนใจอวกาศ
เมื่อก่อนทีวีมันจะมีสารคดีฉายเยอะมาก แต่เดี๋ยวนี้ไม่รู้ทำไมเขาไม่เอามาฉายกันก็ไม่เข้าใจเหมือนกัน (หัวเราะ) เติ้ลชอบดูสารคดีครับ ดูกำเนิดโลกบ้าง ดูยานอวกาศต่างๆ บ้างก็เลยเริ่มแบบเป็นความชอบขึ้นมาเรื่อยๆ แล้วก็รู้สึกว่ามันเป็นศาสตร์ที่น่าสนใจ ก็ศึกษามาเรื่อยๆ ไม่เคยทิ้งเลย ที่บ้านเติ้ลเองก็สนับสนุนไม่ได้มองว่าแบบเป็นเรื่องไร้สาระหรือไกลตัว คือเห็นว่ามันเป็นประโยชน์อยากอ่านไรก็อ่านได้
2 ปีที่แล้ว เริ่มเขียนบล็อกส่วนตัวอยู่ชื่อว่า Natn0n Blog เป็นบล็อกส่วนตัวก็จะเล่าเกี่ยวกับเรื่องทั่วไปครับ วิทยาศาสตร์บ้าง Apple บ้างแล้วแต่อารมณ์ที่จะเขียน ที่ Natnon เป็นชื่อของตัวเอง บล็อกตัวนั้นนี่และที่ทำให้ตัวเองได้ฝีกเขียนบทความ
มีบทความที่คนแชร์ไปค่อนข้างเยอะ คือช่วงที่ยานนิวฮอไรซันส์เดินทางไปดาวพลูโต อันนั้นทำให้เหมือนเป็นบทความเปิดตัวเลยครับ จากปกติคนที่เข้าเว็บวันละร้อยกว่าก็แบบโอ้มีคนเข้ามาเป็นแสน ตอนนั้นก็ตกใจอยู่เหมือนกันว่าเค้าคงชอบอยากให้เราเขียน ก็เลยเหมือนเป็นแรงบันดาลใจให้เขียนต่อ
ทำต่อมาเรื่อยๆ พยายามอิงกระแสหลักว่าช่วงนั้นมันมีข่าวอวกาศอะไรน่าสนใจบ้าง หรือว่ามีประเด็นอะไรที่สามารถยกมาเขียนอธิบายให้คนที่แบบอาจจะไม่ได้เรียนฟิสิกส์ อาจจะไม่ได้เรียนด้านดาราศาสตร์โดยตรงเขาเข้าใจได้ยังไง ประสบการณ์ที่ได้ ส่วนมากจะได้จากพวกรุ่นพี่ในวงการที่รู้จักกัน
เติ้ลผ่านการเข้าค่าย Junior Webmaster Camp ของสมาคมผู้ดูแลเว็บไทย ทำให้เราได้เจอกับคนเก่งๆ ในวงการหลายคน ไม่ว่าจะเป็นเจ้าของเพจดังๆ หรือเป็นเจ้าของเว็บไซต์ที่แบบอันดับต้นๆ ของประเทศไทยครับ ก็ได้ลองศึกษาโน้นนี่นั่นจากเขาแล้วก็ลองเอาสิ่งดีๆ ที่เขาได้ทำมาประยุกต์ใช้แล้วก็ทำเป็นเพจตัวเอง
แล้วเริ่มมีความรู้สึกว่าอยากทำเว็บขึ้นมาอีกเว็บนึงที่เป็นเว็บด้านอวกาศ แบบให้ดูแค่ชื่อก็รู้เลยครับว่าเป็นเว็บเกี่ยวกับอวกาศ เป็นที่มาของ Spaceth.co”


การที่มีสื่อเกี่ยวกับอวกาศที่ถูกต้อง ทันสมัย
และเขียนโดยใช้ภาษาที่คนรุ่นใหม่เข้าใจง่าย น่าจะเป็นอะไรที่ดี


เมย์โกะ – สรัญา ประสิทธิเขตกิจ
ปี 3 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง อายุ 17 ปี รับงานวาดรูป มีเพจชื่อเพจ วอดอปอ วาดและดองรูปไปวันๆ
“สนใจเรื่องอวกาศตั้งแต่เด็กมาก คือว่าพ่อแม่ทำงานแบบขายหนังสือแล้วเขาก็เลยมีพวกหนังสือชุดเกี่ยวกับอวกาศ หรือวิทยาศาสตร์เยอะแยะเลย ก็เลยอ่านและสนใจมาเรื่อยๆ เคยทิ้งไปครั้งนึงตอนมัธยมต้นสอบเข้าโรงเรียนประจำจังหวัดได้ เข้าไปในระบบที่เขาแข่งขันกัน เหมือนทิ้งพวกความรู้นอกห้องเรียนไปหมดเลย
ตอนนั้นตั้งใจอ่านแต่หนังสือเรียนแต่ก็รู้สึกว่ามันไม่มีความสุข แล้วเนื้อหาในหนังสือเรียนมันไม่เหมือนกับที่เราไปค้นหาข้างนอก มีเรื่องอวกาศอยู่นิดนึง ซึ่งเขาไม่สนใจมัน แล้วบางอย่างข้อมูลผิดด้วย แล้วหนูก็เลยรู้สึกว่าจริงๆ แล้วเทคโนโลยีอวกาศมันเป็นต้นกำเนิดของเทคโนโลยีหลายๆ อย่างที่เราใช้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งมันสำคัญแต่ว่าเด็กไทยเราเนี่ยรู้เกี่ยวกับอวกาศน้อยมาก
พอออกมาจากระบบก็กลับมาสนใจใหม่ จริงๆ เป็นคนชอบวาดรูปก็เลยวาดรูปไปกับพวกอวกาศด้วย เห็นคนที่เขาแสดงความคิดเห็นในรูปเรา เหมือนกับว่าเขาเพิ่งจะได้รู้เป็นครั้งแรก แม้จะเป็นอะไรเล็กๆ น้อยๆ แต่ก็เหมือนกับว่าเป็นการเปิดโลกอะไรสักอย่างให้กับเขา เราก็เลยรู้สึกว่าจริงๆ แล้วเด็กไทยเนี่ยมีความสนใจด้านนี้อยู่ แต่เขาจะรอให้คนมาป้อนข้อมูล ไม่ใช่คนที่จะขวนขวายด้วยตัวเอง แต่ว่าเรื่องนี้มันน่าตื่นเต้นถ้าเอามาให้เขาดูเขาก็จะสนใจ ก็เลยคิดว่าถ้าเรามีสื่อที่สามารถจะทำให้เขารู้จักแบบสนใจด้วยตัวเอง เหมือนตั้งคำถามว่าอันนี้ควรหาข้อมูลเพิ่มเติมไหม หรือรู้สึกว่ามันสำคัญจากใจจริง ก็เลยคิดว่าการที่มีสื่อเกี่ยวกับอวกาศที่ถูกต้อง ทันสมัยและเขียนโดยใช้ภาษาที่คนรุ่นใหม่เข้าใจง่ายน่าจะเป็นอะไรที่ดี”


อยากมีพื้นที่สำหรับเราบ้างในการสื่อสารเรื่องพวกนี้ให้กับคนทั่วไปเข้าใจเหมือนที่เราเข้าใจ
ให้เห็นว่าสิ่งเหล่านี้มีความสำคัญนะ ไม่ใช่แค่ว่ารู้ไปทำไม รู้แล้วก็ไม่มีอะไรนี่


อิ้งค์ – อิงค์ จิรสิน อัศวกุล
ม. 6 โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย นนทบุรี รุ่นน้องของเติ้ลในชมรมคอมพิวเตอร์
“เมื่ออายุประมาณ 3 ขวบ ตอนนั้นยังชอบรถแข่งอยู่ แล้วพ่อก็ให้หนังสือโดเรมอนมาอ่าน มีอยู่ตอนหนึ่งที่มันไปท่องอวกาศเราก็เลยชอบตอนนั้น เริ่มตามดูหนังโดเรมอนเฉพาะเรื่องอวกาศด้วย ก็เลยยิ่งชอบเข้าไปใหญ่ แล้วเราก็เหมือนจะทิ้งไปช่วงตอนเข้า ม.ต้น เหมือนว่ามันไม่มีพื้นที่สำหรับเรา คนไม่ค่อยชอบกัน จะรู้ไปทำไม มันไม่ได้ทำให้คุณรวยขึ้นหรือชีวิตดีขึ้นสักหน่อย ตอนนั้นแม่ก็รู้สึกไม่ชอบเหมือนกัน เราก็เลยทิ้งๆ มันไป
จนกระทั่งช่วงม.ปลาย เริ่มกลับมาชอบเพราะว่า นิวฮอไรซันส์มันไปสำรวจดาวพลูโต และมี LIGO ขึ้นมาอีกตัวนึงที่พบ Gravitational Waves เออ..มันทำให้รู้สึกจุดประกายตัวเราว่ามันยังมีสิ่งที่น่าสนใจรอเราอยู่นะ ทำให้รู้สึกว่าความรู้ที่เรามีอยู่มันยังไม่พอเลย ทำให้อยากออกไปหาความรู้อีกเรื่อยๆ มันสนุกและน่าติดตามขึ้นเรื่อยๆ
จนได้มารู้จัก Podcast ที่ชื่อ WiTcast ของพี่แทนไท ประเสริฐกุล เขาทำเป็นเหมือนการสื่อสารวิทยาศาสตร์ให้คนฟังง่ายๆ ไว้ฟังยามว่างแบบรถติดก็ฟังได้ ก็ไปช่วยทำคอนเทนต์ ทำรูปภาพ พวก documentary ทำให้รู้สึกว่าอยากมีพื้นที่สำหรับเราบ้างในการสื่อสารเรื่องพวกนี้ให้กับคนทั่วไปเข้าใจเหมือนที่เราเข้าใจ ให้เห็นว่าสิ่งเหล่านี้มีความสำคัญนะ ไม่ใช่แค่ว่ารู้ไปทำไม รู้แล้วก็ไม่มีอะไรนี่ เพราะว่าสิ่งเหล่านี้มันได้มากกว่าที่พวกเขาคาดหวังครับ”


ข้อมูลที่เรารู้ในวันนี้กับวันพรุ่งนี้มันอาจจะแตกต่างกันแล้วก็ได้ มันเป็นศาสตร์ที่ทุกอย่างมันไม่แน่นอน วินาทีเดียวเราก็อาจจะได้รู้เรื่องใหม่ๆ อะไรเพิ่มอีกมากมาย


กร – กรทอง วิริยะเศวตกุล
ม.4 โรงเรียนสมถวิลวิเทศศึกษา ห้วยมงคล อายุ 16 ปี ปัจจุบันทำ Spaceth.co เป็นคนเขียนบทความและร่วมก่อตั้ง เคยเข้าแข่งขันแฟนพันธุ์แท้ระบบสุริยะ เมื่ออายุ 13 ปี
“สนใจอวกาศตั้งแต่ตอนเด็กคืออยู่ที่บ้านเนี่ยคอยเปิดดูทีวีดูข่าวไรพวกนี้ เริ่มสนใจจริงๆ คือตั้งแต่ช่วงที่มีข่าวว่าดาวพลูโตถูกออกจากการเป็นดาวเคราะห์ ตอนนั้นก็แบบมีข้อสงสัยว่าทำไมมันถึงถูกเอาออกมันต่างจากดาวดวงอื่นยังไง
ตอนอยู่ในห้องเรียนกรจะชอบอ่านพวกหนังสือเรียนที่เขาให้มามาก แล้วก็ไปสะดุดตาเรื่องเทคโนโลยีอวกาศ เรื่องกระสวยอวกาศว่าทำไมหน้าตามันคล้ายเครื่องบินแต่มันออกไปนอกโลกได้ แต่ทีนี้ประเด็นของมันคือพอไปอ่านปุ๊บมันมีอยู่แค่ 5 หน้าเท่านั้น มันอยู่ถูกทิ้งไว้ส่วนท้ายของหนังสือแล้วก็ไม่มีใครเอามาเขียนต่อ มันก็จะเขียนทุกอย่างคล้ายๆ กัน คือ นีล อาร์มสตรอง ลงเหยียบดวงจันทร์คนแรก จบไม่มีการพูดถึงคนอื่น
พอมันจบแค่นั้นปุ๊บเวลากลับมาบ้านกรก็จะแบบหาข้อมูลเพิ่มเติมว่าดวงจันทร์ใครไปสำรวจมาบ้าง พออ่านเสร็จก็เก็บข้อมูลพวกนี้มาเรื่อยๆ พอเจอรายการแฟนพันธุ์แท้เราก็คิดว่าเออมันก็น่าสนใจดี ตอนนั้นก็เลยไปออกรายการและพอไปคุยแลกเปลี่ยนกับพวกพี่ๆ เขาเหมือนเขาก็เปิดโลกให้กับเราอีกอย่างหนึ่งว่าที่เขารู้มันก็แค่นี้ แต่ในจักรวาลในอวกาศเนี่ยมันกว้างใหญ่กว่านั้นเยอะ มันยังมีอีกหลายอย่างที่มันรอการค้นหาอยู่ ข้อมูลที่เรารู้ในวันนี้กับวันพรุ่งนี้มันอาจจะแตกต่างกันแล้วก็ได้ มันเป็นศาสตร์ที่ทุกอย่างมันไม่แน่นอน วินาทีเดียวเราก็อาจจะได้รู้เรื่องใหม่ๆ อะไรเพิ่มอีกมากมาย”


Space Race ช่วงที่เขาแข่งกันระหว่างโซเวียตกับอเมริกา โอ้โห มันดูตื่นเต้นเร้าใจ
ตัดสินชะตาระหว่างสองอุดมการณ์เลย


เจมส์ – สุชาญ ท่วมรุ่งโรจน์
ม. 6 โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา อายุ 17 ปี
“เริ่มจากตอนเด็ก มีครั้งนึงที่ผมต้องไปเยี่ยมคุณแม่ที่สมุย เลยได้นั่งเครื่องบินครั้งแรก แปลกใจที่มันเป็นก้อนเหล็กแต่มันลอยได้ ซึ่งเราเรียนมาตั้งแต่เด็กว่าเหล็กมันหนักนะ มันต้องจมน้ำสิ แต่นี่มันลอยอยู่ในอากาศได้
จริงๆ ต้องขอบคุณอากงที่ซื้อของเล่นผิด (หัวเราะ) คือท่านรู้ว่าผมชอบเครื่องบินก็จะชอบซื้อพวกเครื่องบินของเล่นอันเล็กๆ แล้วมีวันนึงเค้าไปเจอเครื่องบินของเล่นจากเซเว่นอีเลฟเว่น เขาก็เอามาให้ผม ผมก็ว่า อันนี้มันไม่ใช่เครื่องบินนี่ มันเป็นกระสวยอวกาศ แต่ตอนนั้นก็ยังไม่รู้ว่ากระสวยอวกาศคือไรแต่รู้ว่ามันไม่ใช่เครื่องบินแน่นอน จึงหาข้อมูลและได้รู้ว่ามันคือกระสวยอวกาศ มันมีปีกและมันไปอวกาศได้ด้วย เราก็เลยมาหาเพิ่มว่ามันไปอวกาศได้ยังไง เราก็งงว่าก่อนจะเป็นแบบนี้มันเป็นยังไง และบวกกับความที่บ้าประวัติศาสตร์ตั้งนานแล้ว ทำให้รู้ว่าคือ Space Race ช่วงที่เขาแข่งกันระหว่างโซเวียตกับอเมริกา โอ้โห มันดูตื่นเต้นเร้าใจตัดสินชะตาระหว่างสองอุดมการณ์เลย ซึ่งตอนนั้นอยู่สมัยประถมแล้ว
จนถึงจุดหนึ่งอยู่ดีๆ เราก็เลิกชอบเครื่องบินแล้วมาชอบอวกาศเต็มตัวไปเลย ก็เริ่มอ่านและรู้สึกว่ามันเป็นประเด็นที่มีประวัติศาสตร์ต่อโลกมาก ที่นี้ก็เหมือนส่วนใหญ่พอขึ้น ม.ต้น ก็ทิ้งนิดนึง เพราะว่ามันอยู่ในระบบมันก็ต้องแข่งเรียนเป็นหลัก แต่ทีนี้เหมือนกลายเป็นว่าไม่ค่อยโอเคกับระบบเรียน สิ่งเดียวที่มีความสุขก็คือการอ่านพวกนี้เลยยังอ่านมาอยู่เรื่อยๆ จนขึ้น ม.ปลาย พอมาอยู่โรงเรียนที่มีคนเรียนวิทย์เยอะขึ้นหน่อยก็คุยกับคนอื่นได้มากขึ้น ก็เลยกลับมาสนใจเหมือนเดิม”


โตมากับหนังสือสารคดีอวกาศ ตั้งแต่ตอนที่อ่านหนังสือไม่ออก
เปิดหนังสือดูรูปจนกระดาษหลุด แม่ตี ร้องไห้


ไซน์ – ภคตา ไพศาลธนากร
โรงเรียนบุรีรัมย์พิทยาคม อายุ 19 ปี ชื่อในเว็บคือ Dragonrider อยู่ระหว่าง GAP year พักก่อนเข้ามหาลัย และช่วยงานธุรกิจของครอบครัว
“จริงๆ ชอบมาตั้งแต่เด็กแล้ว โตมากับหนังสือสารคดีอวกาศตั้งแต่ตอนที่อ่านหนังสือไม่ออกเปิดหนังสือดูรูปจนกระดาษหลุด แม่ตี ร้องไห้ แต่พอโตมาพบว่าตัวเองไม่ถนัดวิชาเลขเลยเทความฝันไปพักหนึ่ง แต่ก็ยังคงตามอ่านเรื่องอวกาศบ้างเป็นบางครั้ง จนช่วงปี 2014-2015 ได้มาอ่านมังงะเรื่อง Uchuu Kyoudai ที่ตอนนั้นติดมาก ไล่ตามขุดอ่านในเว็บแปลอังกฤษกับหาเวอร์ชั่นอนิเมมาดู (ชื่ออังกฤษ Space brother ยังไม่มี LC ในไทย) แล้วก็ได้ดูไลฟ์ Falcon 9 landing กับติดตามโครงการอวกาศเอกชนของ Copenhagen Suborbitals และ RML Spacelab เลยกลับมาสนใจมากๆ อีกครั้ง ส่วนจุดเริ่มต้นที่ทำให้ชอบเรื่องนี้จริงจังคือการบรรยายของอีลอน มัสก์ที่งาน IAC 2016 เกี่ยวกับการตั้งถิ่นฐานบนดาวอังคารครับ”

ที่มาที่ไปของ Spaceth.co

เมย์โกะ : ทำเพจวาดรูปเกี่ยวกับพวกยานอวกาศอยู่ วาดแล้วเขียนพวกข้อมูลความรู้ลงไปด้วย มีเพื่อนอีกคนที่เขาวาดรูปอวกาศเหมือนกันแนะนำ Nutn0n Blog ของเติ้ล เพราะเห็นว่าสนใจเหมือนกัน เราก็แอดไป ตามเพจกัน แล้วเติ้ลชวนให้มาร่วมงานกัน ก็เลยตกลงไปช่วยเขา
เติ้ล : ทีนี้ก็พอให้เมย์โกะมาช่วย ก็เริ่มรู้สึกว่าจริงๆ ว่ามันมีคนที่อยากเขียนอยากทำคอนเทนต์ แบบนี้เยอะนะ แต่ว่าเหมือนกับไม่มีแนวทาง ไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นยังไง บังเอิญว่าเติ้ลมีความรู้เรื่องการทำ Onlineคอนเทนต์ นี้อยู่แล้ว ก็เลยอยากทำเว็บขึ้นมาใหม่อีกเว็บนึงด้านอวกาศ แบบให้ดูแค่ชื่อก็รู้เลยว่าเป็นเว็บเกี่ยวกับอวกาศ คิดไว้นานพอสมควรแต่ก็ไม่ได้เริ่มทำซักทีเพราะยังไม่รู้จะเอาใครมาเป็นแบบตัวชูโรงอีกคนที่เป็นตัวหลักๆ อ่าครับ ที่นี้ก็ได้มาเจอกรในค่าย
กร : Junior Webmaster Camp ครับ มาค่ายเดียวกันแต่คนละรุ่นกัน
เติ้ล : กรมาค่าย 2 ปีหลังจากเติ้ล คือค่ายนี้เขาจะเอาพวกรุ่นพี่เก่าๆ มาเป็น Staff อ่าครับ ส่วนมากคนที่รู้จักกันในค่ายนี้ครับ จบค่ายแล้วไม่ได้ทิ้งกันไปไหนแบบก็เหมือนอยู่ในวงการเดียวกันแล้วของสมาคมผู้ดูแลเว็บไทยก็เลยได้เจอกัน ตอนแรกก็ไม่ได้สนใจว่าแบบกรเป็นใคร แต่พอคุยประวัติก็เฮ้ย !! นี่มันแฟนพันธุ์แท้ระบบสุริยะเลยนะ ก็เลยลองทักไปคุยดูก็เหมือนคุยกันสนุก แนวคิดไปทางเดียวกัน แล้วมันมีจุดหนึ่งที่คุยกันแล้วกรบอกว่าอยากเขียน Blog อยากทำคอนเทนต์
กร : คือเคยมี Blog แต่ทิ้งไปนานแล้ว เหมือนทำแล้วไฟมอดไปแล้ว ติดงานติดเรียนไรพวกนี้ก็เลยหายไปครับ
เติ้ล : ช่วงเดือน มิ.ย. ของปีนี้ คิดอะไรกันเรียบร้อยแล้วว่าเอาชื่อนี้นะ เอาโลโก้นี้ ก็เลยเริ่มเป็นรูปเป็นร่างขึ้นจากที่เป็นแค่แนวคิด พวกสิ่งต่างๆ ที่ต้องใช้ เช่น server ก็ใช้ของ Nutn0n Blog ที่เป็น server ส่วนตัวไว้ใช้เรียน ใช้ทำงานด้วยอยู่แล้ว ตอนนี้หลักๆ ก็มีอยู่แล้วประมาณ 3 คนครับ ส่วนกับเจมส์รู้จักกันมาก่อนหน้านั้นประมาณปีกว่าๆ แล้ว เพราะว่าไปเจอกันที่งานเสวนา Gravitational Waves ส่วนอิ้งค์ก็รู้จักกันตั้งแต่อยู่ ม.2 เพราะว่าเป็นรุ่นน้องที่โรงเรียน แต่เราเพิ่งมารู้ว่าชอบอวกาศเหมือนกันตอน ม.3 เขาไปเปิดหนังสือในห้องสมุดแล้วมันมีพวกข้อมูลจากอวกาศ ก็เลยถามว่าอิ้งค์แกก็ชอบเรื่องแบบนี้เหมือนกันหรอ 55 แล้วอิ้งค์มีช่วย…
อิ้งค์ : อ๋อ
เติ้ล : ส่วนมากมันจะเป็นในทางเดียวกันทำพวกออนไลน์คอนเทนต์ ครับ แล้วเจมส์นี่ก็เหมือนเคยทำบล็อกป่ะ
เจมส์ : ใช่ครับ แต่ก็เหมือนกรคือทิ้งไปนานด้วยปัญหาทุกอย่าง เป็นบล็อกจิปาถะทั่วไปครับ


Spaceth.co มีแรงบันดาลใจมาจากไหน

กร : (หัวเราะ) แรงบันดาลใจใช่ไหมครับ ถ้าเป็นส่วนตัวของกรคือสมมุติกรเข้าไปหน้าอินเทอร์เน็ตนะครับ แล้วมันจะเข้าไปดูข้อมูลเกี่ยวกับยานพวกนี้ อย่างตอนยานนิวฮอไรซันส์ที่เขาเข้าใกล้ยานพลูโต เราก็จะได้เห็นการนำเสนอที่แตกต่างออกไป อย่างของนาซ่านำเสนอมาแบบนึง แต่พอแปลมาที่ไทยเนี่ยจะมีข่าว mainstream ที่เขาเอาข่าวไปเขียน ซึ่งข่าว mainstream บางช่องทางเขาก็เขียนเหมือนแบบแปลมาแล้วเอามาลงอย่างเดียว โดยที่ไม่ได้ไปเจาะลึกในประเด็นต่างๆ ที่มันควรจะเจาะ แล้วทีนี้พอข่าวมันออกมาอย่างหนึ่งปุ๊บมันอาจจะมีคนเอาไปตีความต่างๆ นานาอ่าครับ บางทีความหมายเหมือนมันต่างออกไป เหมือนตั้งแต่การเขียนตั้งแต่ที่เขาแปลมา
ติ้ล : เหมือนเขาไม่อินมาก่อน เขาไม่อินว่าเอ้ยตรงนี้นะพอมาถึงช่วงนี้อารมณ์มันควรพุ่งนะว่าแบบนี่เป็นครั้งแรกที่มีการส่งยานไปสำรวจดาวพลูโตไรอย่างงี้ แต่เขาใช้คำพูดว่า นี่เป็นครั้งแรกที่มีการส่งยานไปสำรวจดาวพลูโต (น้ำเสียงเนิบๆ)
เมย์โกะ : ทำให้รู้สึกเหมือนมันไม่สำคัญ
เจมส์ : เหมือนเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นหน้าปากซอยทุกวัน (ทุกคนหัวเราะ)
อิ้งค์ : พอเป็นอย่างนั้นปุ๊บ มันทำให้คนที่อ่านรู้สึกว่าอ้าวแล้วไงอะ แล้วเราจะทำไปทำไม เราศึกษาไปทำไม เราจะอยากรู้ไปทำไม มันก็เลยเหมือนเรื่องหน้าปากซอย
เจมส์ : ใช่ เขาไม่ได้จับประเด็นสำคัญ เขาไม่ได้เห็นค่าของมันว่ามันสำคัญมาก
เมย์โกะ : เขาเขียนทั้งๆ ที่เขาไม่ได้มีความรู้สึกว่ามันเป็นความสำคัญอะไรเลย


Spaceth.co มีคอนเทนต์อะไรที่เป็นจุดสนใจ

เติ้ล : เติ้ลจะพยายามใช้วิธีการสื่อสารที่มันค่อนข้างเป็นสื่อใหม่ๆ เช่นเดี๋ยวนี้เค้ากำลังฮิตเป็นวิดีโอสั้นๆ เลื่อนผ่านหน้า feed มาก็เจอแค่วิดีโอสั้นๆ ไม่ถึงนาที ทำให้คนจับใจความเป็นข่าวหนึ่งข่าวได้ หรือเดี๋ยวนี้จะมีเป็นภาพเลื่อนๆ ใน facebook เป็นภาพหรืออัลบั้มสักอย่างแล้วกดเข้าไปดูทีละภาพ ดูทีละภาพแล้วแต่ละภาพจะเล่าเรื่อง เติ้ลดึงพวกแบบนั้นมาทำ เพราะว่าได้เรียนรู้จากพวกรุ่นพี่ในวงการว่าทำแบบนี้จะช่วยเพิ่ม engagement ทำให้คนเข้ามาสนใจในคอนเทนต์ของเรามากขึ้น และประกอบกับพวกเรื่อง Traditional อย่างพวกบทความด้วย
เดี๋ยวนี้บทความมันจะไม่เหมือนกับบทความเมื่อก่อน บทความเมื่อก่อนมันค่อนข้างจะออกไปแนววิชาการมากๆ เลยละ บทความของเราจะเน้นเป็นอารมณ์ เน้นเป็นความชอบใส่เข้าไป แต่ก็ต้องระวังนิดนึง พยายามให้เขารู้ครับว่าอะไรเป็นข้อเท็จจริงกับข้อคิดเห็น ก็เวลาคุยกับเพื่อนในทีมก็จะพยายามพูดเน้นตลอดว่าถ้าตรงไหนมันเป็นความคิดเห็นให้ใช้ว่า “ผู้เขียนคิดว่า/ผู้เขียนมีความเห็นว่า” ครับ ซึ่งเป็นการ protect ตัวเองด้วยว่าเราไม่ได้เอาความคิดเห็นตัวเองเข้าไปลงในเนื้อหา


อยากให้แนะนำเทคนิคการเขียนของแต่ละคน

อิ้งค์ : ผมจะเขียนแบบลุ่มลึกมากๆ แบบที่คนไม่รู้ เช่น ทำไมวงแหวนของดาวเสาร์ยังคงสภาพได้ มี Orbital resonance อยู่ มีกฎฟิสิกส์อะไรบ้าง แล้วใครเป็นคนคิด เมื่อก่อนคิดกันยังไง ใครเป็นคนบอกว่าวงแหวนนี้มันคือเกล็ดน้ำแข็งเล็กๆ ที่ลอยอยู่รอบดาวเสาร์ ก็คือ James Clerk Maxwell คนที่คิดสมการไฟฟ้า ซึ่งคนส่วนใหญ่ไม่รู้และก่อนเขียนผมจะ research เยอะมากและเขียนแบบลุ่มลึกสุดๆ
เติ้ล : เติ้ลจะเขียนด้วยอารมณ์ (หัวเราะ) จะชอบเขียนแบบขยี้ความรู้สึก อย่างตอนที่ยานแคสสินีจะทำแกรนด์ฟินาเล่ (Grand Finale) ที่เบิร์นตัวเองลงไปบนพื้นผิวของดาวเสาร์ เติ้ลก็จะเขียนเป็นพรรณนาโวหารไปเลยว่า “สัมผัสได้ถึงความเจ็บปวดของพื้นผิวของยานที่ค่อยๆ เสียดสีไปกับชั้นบรรยากาศ เพื่อที่จะให้ตัวเองอยู่คู่กับดาวเสาร์ไปตลอดกาล ณ ดวงดาวดวงที่เท่าไหร่ของระบบสุริยจักรวาล ยานแคสสินีจะได้พักผ่อนบนดาวดวงนี้ตลอดไป” และมีแต่งกลอนเกี่ยวกับยานแคสสินีด้วย ติดตามได้ที่บทความครับ
เมย์โกะ : ที่เขียนบทความส่วนใหญ่จะใช้ที่มันเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ด้วยคะ เพราะว่าตอนที่เขียนบทความลงเพจส่วนตัวเนี่ย จะเขียนเกี่ยวกับพวกประวัติศาสตร์ Space Race อะไรอย่างนี้ อย่างเช่นตอนที่เขียนยานแคสสินี จะเล่าย้อนไปตั้งแต่ตอนที่มนุษย์ได้ค้นพบดาวเสาร์ มองเห็นบนท้องฟ้า ส่งยานไปสำรวจ หรือการจับภาพได้ครั้งแรก คือจะเล่ามาเรื่อยๆ ปูพื้นมาก่อนจนถึงช่วงที่เป็นเนื้อหาหลักของเรา
ก่อนที่จะเขียนเราก็จะ research มาก่อน แต่ว่าเวลาที่หนูเขียนส่วนใหญ่ก็อิงตามที่เป็นเว็บของนาซ่า หรือตาม Timeline คือถ้าอ่านจากเว็บก็จะรู้ว่ามาจากเว็บนี้ ไม่ได้เติมแต่งอะไรเท่าไหร่ และสำนวนการเขียนก็จะไม่วิชาการเกินไปออกแนวกึ่งๆ ทางการนิดนึงคะ แต่ก็สามารถที่จะเข้าใจได้ อะไรที่บางคำจำเป็นต้องปูพื้นก่อนก็จะเขียนแทรกมาให้สำหรับคนที่ไม่ได้มีพื้นฐาน ให้เขาเข้าใจไปพร้อมๆ กับเราให้เขาอ่านได้คะ อารมณ์ก็ไม่เก่งเท่าเติ้ลนะแต่ว่าจะเขียนให้มีความรู้สึกนุ่มนวลกว่าภาษาทางการนิดนึงแต่อาจจะขยี้ไม่เก่งเท่าไหร่
เติ้ล : คิดเหมือนกันไหมว่าเมย์โกะใช้ภาษาแบบภาษาสวยมาก เหมือนแบบเป็นคนที่อ่านหนังสือมาเยอะมาก
เมย์โกะ : คือด้วยความที่เรียนกฎหมายไงก็จะมีคลังคำศัพท์ภาษาไทยเยอะหน่อย และชินกับการที่ต้องเขียนอะไรยาวๆ อยู่แล้วคะ
กร : กรก็จะเป็นด้าน Invert กับของทุกๆ คนที่เขียนมาครับ คือเหมือนกับว่าเวลาตอนเขียนกรจะนึกภาพว่ากำลังเล่าให้เพื่อนฟังอยู่ จะออกแนวภาษาพูดเลยครับแต่พอเอามาเขียนปุ๊บบางภาษาพูดที่มันใส่อารมณ์ไรเงี้ย เราอาจจะไม่ได้ดึงออกมาครบครับ แต่พวกเนื้อหาที่ใส่ลงไปส่วนใหญ่จะเป็นอันที่แบบพอมันอ่านแล้ว มันเข้าใจขึ้นมาเลย เพราะสมัยเด็กๆ กรจะชอบอ่านแบบว่าสมมุติว่ากรเจออันนี้มันจะปิ๊งขึ้นมาแล้วเราจะจำได้ขึ้นใจเลย
เหมือนจะพยายามแยกตัวเองเป็น 2 โหมด โหมดแรกคือเขียนเพื่อให้คนแบบสามารถจดจำสโคปโดยรอบให้ได้ก่อน เสร็จแล้วพอเราสนใจเรื่องนี้เราก็สามารถไปเจาะลึกอะไรเรื่องพวกนี้ได้ต่อ อย่างเช่น Voyager อาจจะสโคปโดยรวมว่ามันพบอะไร มันไปไหน เสร็จแล้วค่อยไปเจาะลึกว่า ทำไม Voyager 2 ส่งก่อน Voyager 1 ทำไมการส่งสัญญาณการถ่ายภาพมันไม่เหมือนกัน ทำไมมีความเร็วต่างกัน เหมือนแยกกลุ่มเป้าหมายแบบคนทั่วไปเข้ามาอ่านก่อนและดึงให้เขาสนใจเราก่อน พอเขาสนใจเราเขาอยากจะค้นหาอะไรต่อก็สามารถอ่านต่อได้ครับ
เจมส์ : จริงๆ เจมส์เป็นคนเขียนไม่เก่งครับ เวลาเขียนอะไรเหมือนโยนใส่ให้เขา เราก็เลยคิดว่า ไม่ได้แล้ว มันแข็งไป บางทีเขาไม่อยากอ่าน ต้องพยายามล่อตาล่อใจ ก็เลยทำตัวเขียนแบบ Clickbait ให้รู้สึกว่า โอ้โห มันน่าตื่นตาตื่นใจมาก พยายามชูความสำคัญของมันให้ดูน่าตื่นเต้นและยิ่งใหญ่นะ เวลาเขียนก็จะเขียนแบบเล่าความหลังก่อนว่ามาจากอะไร ใครเป็นคนทำ มันสำคัญยังไงและพยายามทำให้เขารู้ว่ามันสำคัญนะ
ไซน์ : พยายามใช้ภาษาง่ายๆ ใช้ภาพเยอะๆ ทำให้คนเห็นภาพนึกออกว่าเรากำลังพูดถึงอะไรอยู่ เวลาเขียนจะคิดเสมอว่า ทุกคนที่สนใจในอวกาศจะต้องอ่านสิ่งที่เราเขียนรู้เรื่อง ไม่ว่าเขาจะเป็นคนที่เพิ่งเริ่มสนใจหรือเป็นคนในวงการอวกาศที่มาซุ่มแอบอ่านก็ตาม พยายามเอาศัพท์เทคนิคที่ไม่จำเป็นออก ส่วนอันที่จำเป็นก็พยายามใช้คำทับศัพท์เพราะถ้าแปลไทยความหมายเปลี่ยนอาจจะทำให้เกิดความเข้าใจผิดได้ ส่วนนอกเพจก็มีวาดมังงะไซไฟอวกาศที่อ้างอิงข้อมูลจริงบ้าง


ความคาดหวังกับเพจนี้

เติ้ล : เติ้ลว่ามันก็ไม่ดีนะ ถ้าจะบอกว่าไม่ได้คาดหวัง แต่ก็ไม่ได้ตั้งเป้าหมายไว้ชัดเจนขนาดนั้นว่าจะไปถึงจุดไหน แต่เติ้ลเวลาทำอะไรอยากลองทำไปก่อนว่ามันจะไปได้ถึงจุดไหน เพราะว่าเหมือนที่ Steven Jobs เคยบอกไว้ว่า (หัวเราะ) “You can’t connect the dots looking forward you can only connect them looking backwards.” คือเราจะไม่รู้เลยว่าการกระทำของเราในปัจจุบันถ้าทำต่อไปเรื่อยๆ แล้วมันจะพาเราไปที่จุดไหน แต่ถ้าเรามองไปในอนาคตแล้วเราไปอยู่ในจุดหนึ่งในอนาคต แล้วเรามองย้อนกลับมาเราจะพบว่าการกระทำทุกอย่างของเราที่เราทำเนี่ยมันส่งผลที่ทำให้เรามาอยู่ทุกวันนี้
ถ้าจะให้เติ้ลอธิบายว่าอนาคตของเว็บหรือเพจของทีมเราเนี่ยจะเป็นยังไง เออ..มันก็ได้แค่คาดหวังแต่ก็ยังไม่สามารถบอกได้แน่ชัดว่าเราคาดหวังอะไรกับมัน แต่ถ้าเกิดมองย้อนกลับไปอ่าครับเติ้ลได้มาเจอกับกร ได้มาเจอกับเพื่อน ได้มีรุ่นน้องเป็นอิ้งค์ และได้มาเจอกับเมย์โกะมันทำให้เกิดวันนี้ขึ้นซึ่งเว็บเปิดได้แค่เดือนกว่าๆ คนไลค์ได้ประมาณหมื่นกว่า เดือนนี้ยอด read ในเพจประมาณเก้าแสนเกือบล้าน ก็ถ้ามันไม่เกิดสิ่งที่เติ้ลมาเจอกับกรหรือย้อนกลับไปไกลๆ เลยว่าเติ้ลชอบอ่านหนังสือด้านดาราศาสตร์ หรือทุกคนที่เล่ามาอ่าครับถ้ามันไม่เกิดสิ่งนั้นขึ้นมันไม่มีวันนี้เลย เติ้ลก็ตอบไม่ได้แล้วกันอยากให้กรตอบมากกว่าว่าคาดหวังอะไร แต่ในฐานะที่เป็นผู้ก่อตั้งครับก็อยากดูปัจจุบันมากกว่า อยากทำต่อไปเรื่อยๆ แล้วรอดูผลของมันแล้วมองย้อนกลับมามันจะรู้สึกฟินมากกว่า
กร : คิดว่าเพจเรามันคล้ายๆ กับ Solar Cell อย่างบทความที่ลงไปเมื่อวานเป็นเหมือนเรือใบที่ล่องลอยอยู่ในอวกาศ เราไม่รู้หรอกครับว่าโปรตอนที่มันพัดพาเราเนี่ยมันจะพาเราไปทางไหน เราจะไปยังดาวดวงใด แต่ก็คือเหมือนกับว่าเรายังมีเป็นจรวดคอยผลักเรา วันนี้เราอยากไปทิศนี้ก็เขียนแบบนี้แล้วมันได้ดีเราก็สามารถปรับตรงนั้นได้ แต่สำหรับอนาคคตในระยะยาวมันไม่มีความแน่นอนครับ เราแค่ทำที่เราทำเนี่ยให้มันดีที่สุดไปก่อน แล้วในอนาคตเราจะได้มองย้อนกลับมาเหมือนที่เรามองย้อนกลับไปเมื่อเดือนที่แล้วครับที่เริ่มเปิดเว็บขึ้นมาครั้งแรก ตอนนั้นยังไม่รู้เลยว่าอนาคตของเว็บเรามันจะไปถึงไหนจนแบบบทความของแคสสินีมีคนเข้าไปอ่านมีคนแชร์เยอะขึ้นแล้วบทความนี้มาถึงจุดนี้มันก็มาค่อนข้างไกลแล้ว
ไซน์ : จริงๆ อยากให้คนอ่านได้แรงบันดาลใจในการลงมือทำอะไรซักอย่าง สร้างจรวดมือสมัครเล่น สร้าง Cubesat อะไรก็ได้ที่เป็นพื่นฐานของเทคโนโลยีอวกาศในปัจจุบัน สนใจศึกษาเทคโนโลยีการพัฒนาอะไรใหม่ๆ อยากให้คนไทยได้มีโอกาสไปถึงอวกาศ อยากให้มีเว็บวิทย์ที่ย่อยความรู้ให้อ่านง่ายแบบนี้มากขึ้นด้วย คนไทยจะได้เข้าถึงข้อมูลต่างๆ ในวงการวิทยาศาสตร์ได้ง่ายขึ้น ไม่ต้องปวดหัวกับการแปลศัพท์วิทย์เป็นภาษาไทย


อนาคตของน้องๆ แต่ละคน มีเป้าหมายอย่างไรกันบ้าง

เจมส์ : ก็คือจริงๆ ถ้าเอาแบบความฝันเลยคืออยากไปศึกษาต่อต่างประเทศ แล้วเรียนพวกทางพวกจรวด ทางเครื่องยนต์มาเลย เพราะชอบและมีความฝันอยากสร้างจรวด คือผมมีคติอันนึงในชีวิตว่าเราไม่รู้หรอกว่าโลกหลังความตายเป็นไง ชาติหน้าการเกิดใหม่บลาๆ แต่ที่รู้คือตอนนี้เรามีชีวิตอยู่และเราควรให้บางอย่างกับโลกในทางใดทางหนึ่ง คนอื่นเขาอาจจะให้เป็นหมอรักษาคน เรียนกฎหมายช่วยคนหรืออะไรก็ตาม แต่ผมอยากช่วยโลกในแง่ที่ว่าผมอยากผลักการสำรวจและวิทยาการให้มันไปอีกขั้นนึง ผมอยากมีส่วนร่วมในประวัติศาสตร์ส่วนเล็กๆ ของมนุษยชาติว่าเออเราได้มีส่วนในการช่วยอันนี้นะ เราได้มีส่วนในการพาคนไปดาวอังคารหรือที่อื่นนะก็เลยอยากไปเรียนทางอวกาศมากกว่า
อิ้งค์ : อยากเป็นส่วนหนึ่งในการสื่อสารวิทยาศาสตร์ของไทยครับ เพราะว่ามันคือสิ่งที่ควรจะทำและควรจะมีมานานแล้ว มันทำให้เรารู้แบบอย่างเช่นน้ำป้าเช็งก็ได้ครับ หยอดตาแล้วตาบอดนะเราก็สื่อสารว่าใช้ยาหยอดตาดีกว่านะเพราะว่ามันสะอาดกว่า บริสุทธิ์กว่าปลอดภัยต่อดวงตามากกว่าอย่างงี้ครับ ก็การสื่อสารวิทยาศาสตร์ทำให้สุขภาพของคนดีขึ้น คนมีความรู้เพิ่มขึ้น ยกระดับชีวิตคุณภาพของคน นี่คือสิ่งที่ผมอยากให้กับประเทศไทยคือการสื่อสารวิทยาศาสตร์เนี่ยละครับ
เติ้ล : เติ้ลมี 2 ด้านครับ คือด้านที่เกี่ยวกับการสื่อสารกับด้านที่เกี่ยวกับการออกแบบ คือเติ้ลทำเขียนโปรแกรม เว็บไซต์ด้วยอะไรพวกนี้ก็มีด้านนึงที่เป็นในฝั่งออกแบบแอพพลิเคชั่น ทำเว็บไซต์หรือทำอะไรที่เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ และอีกด้านที่ชอบคือด้านเกี่ยวกับคอนเทนต์ ด้านการเขียนการทำบทความหรือเคยคิดด้วยซ้ำว่าอยากเป็นนักแปลหนังสือ อยากเขียนหนังสือของตัวเอง ก็กำลังดูๆ อยู่ครับสองทางนี้แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะเลือกทางใดทางหนึ่งคือจะแบบไปควบคู่กันว่าฝั่งด้านเทคโนโลยีด้านเขียนโปรแกรม นักออกแบบแอพพลิเคชั่นเราก็จะไม่ทิ้ง แล้วก็ด้านทำคอนเทนต์ เช่น ทำบล็อก ทำบทความหรือในอนาคตที่อยากแปลหนังสือ เขียนหนังสือเป็นของตังเองก็จะไม่ทิ้งเหมือนกัน
เมย์โกะ : สำหรับอนาคตของหนูหลักๆ ก็คงจะไปสายกฎหมายค่ะ แต่ว่าในทางของวิทยาศาสตร์ก็จะไม่ทิ้งเพราะว่ามีคติว่าทุกคนเนี่ยเกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์ และทุกคนไม่ว่าคุณจะทำอาชีพอะไรคุณก็จะต้องมีความสนใจในวิทยาศาสตร์ซึ่งมันอยู่ในชีวิตของเราอยู่แล้วมันเป็นเรื่องที่ดี
นอกจากนั้นก็จะทำพวกหนังสือที่วาดรูปประกอบความรู้ อยากจะทำให้เด็กไทยหรือคนไทยทุกเพศทุกวัยสนใจวิทยาศาสตร์มากขึ้นที่เกี่ยวข้องกับในชีวิตประจำวันของเรา อย่างที่เขาบอกไปว่าในปัจจุบันนั้นโดยเฉพาะในที่เป็นยุคอินเทอร์เน็ตเนี่ยมันเข้าถึงเราทุกคน มันมีทั้งข้อมูลจริงข้อมูลเท็จอะไรก็ไม่รู้แล้วแบบบางคนเชื่อง่าย ก็เลยคิดว่าถ้าเราได้สื่อสารมอบความรู้ที่ถูกต้องให้กับเขาโดยตรงก็เลยคิดว่าน่าจะมีประโยชน์ช่วยคนได้มากมายค่ะ
สำหรับเด็กรุ่นใหม่ ทำให้วิทยาศาสตร์มันเป็นอะไรที่เข้าถึงได้ง่ายด้วยสื่อ ด้วยหนังสือ หรือการ์ตูนต่างๆ ให้เห็นว่าไม่ใช่เรื่องที่น่ากลัวหรือเรื่องที่ไกลตัว หรือคุณไม่จำเป็นต้องทำงานเกี่ยวกับอวกาศหรือเป็นนักวิทยาศาสตร์ค่ะคุณก็สามารถที่จะมีความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และก็เป็นคนที่มีส่วนร่วมในการพัฒนาโลกได้ค่ะ
กร : ของกรตอนนี้ คือด้านอนาคตก็มีสับสนอยู่เหมือนกัน เพราะว่าในใจลึกๆ อยากไปทำกับด้านอวกาศเลย แต่พออยู่ในระบบการศึกษาไทยเนี่ย เรามักจะโดนครอบงำด้วยความที่ว่ามันจะมีอาชีพที่เป็นสเปคในฝันของพ่อแม่ คือเราจะโดนล็อกสเปคไว้แล้วแล้วว่าเราต้องโตมาอยู่ในท่อๆ นี้ เราไม่สามารถเปลี่ยนจากทรงกลมไปเป็นสี่เหลี่ยมทรงอื่นได้เลย แต่ทีนี้คือสมมุติถ้าเราขวนขวายไปได้เราได้ทำในด้านที่เราชอบเนี่ย ยิ่งในอนาคตอันใกล้เรามันอยู่ในยุคที่กำลังจะออกไปสำรวจจะเป็นแบบสำรวจพวกดาวเคราะห์ดวงใหม่ๆ เราจะก้าวพ้นออกจากโลกไปดวงจันทร์และหลังจากนั้นมันน่าจะเป็นหน้าใหม่ของประวัติศาสตร์ ของการสำรวจ ของอวกาศเลยก็ได้ แบบที่เคยมีคำคมคำนึงที่เขาบอกไว้ครับว่า เราเกิดบนโลกได้ แต่เราก็ไม่จำเป็นต้องตายบนโลก
พอมองกลับมาในฐานะที่กรตอนนี้เหมือนโดนครอบงำเหมือนกัน คือเราไม่สามารถเลือกในด้านที่เราชอบหรือแสดงความคิดเห็นว่าเราชอบด้านนี้อย่างเต็มที่นะ ก็อยากแบบกลับมา Inspiration ให้กับคนรุ่นหลังเขาแบบสามารถเลือกในด้านที่เขาชอบ หรือแม้แต่สนับสนุนข้อมูล เพราะตั้งแต่บทเรียนตั้งแต่ ป. 2 ที่เป็นครั้งแรกที่ดาราศาสตร์เข้าไปอยู่บทเรียน มันถูกทิ้งไว้แค่ 5-10 หน้าในหนังสือส่วนท้ายแค่นั้นครับ เหมือนกับว่าเราโยนให้กับด้านอื่นมากเกินไป
เด็กบางคนยังไม่รู้เลยว่ายานแคสสินีที่ไปนะไม่มีมนุษย์อยู่ เขาก็จะถามว่าเอ้ามนุษย์ที่อยู่ในนั้นไปทำอะไรอะ เขาไม่ตายเหรอ มันกลายเป็นว่าเรารู้แค่ชื่อแต่เราไม่รู้เลยว่ามันมีอะไรเกิดขึ้นครับ ทั้งๆ ที่ความจริงอ่ามันสำคัญกับโลกเรามาก สำคัญกับอนาคตที่จะเกิดขึ้น ก็เลยแบบอยากจะเอาความรู้ ประสบการณ์ที่ได้อย่างน้อยเอามาถ่ายทอดต่อไปไม่ให้มันตายแค่เราอย่างเดียวอ่าครับ
ไซน์ : รู้สึกเหมือนมาแปลกกับคนอื่น (หัวเราะ) คือจริงๆ เคยอยากทำงานในวงการอวกาศนะ แต่เราไม่ถนัดวิชาสายคำนวณจริงๆ กับชอบวาดการ์ตูนมากกว่าเลยคิดว่าจะไปต่อคอมพิวเตอร์กราฟิก อยากเป็น outreach เป็นคนที่อยู่ระหว่างคนทำงานวิทย์กับคนทั่วไป เอางานวิทย์ยากๆ มาเขียนให้ทุกคนเข้าใจได้ กับนักวาดการ์ตูนที่สร้างเรื่องราวให้เป็นแรงบันดาลใจกับคนรุ่นต่อไป เหมือนที่อีลอนได้แรงบันดาลใจในโปรเจกต์ดาวอังคารจากนิยายที่อ่านสมัยเด็กๆ


อยากจะฝากอะไรให้กับคนที่ติดตามอ่านเพจเราบ้าง

เติ้ล : จริงๆ แค่เข้ามาอ่านก็รู้สึกว่าขอบคุณแล้วครับ ขอบคุณที่พาตัวเองมาที่บล็อกนี้ ขอบคุณที่อยากจะรับฟังทั้งที่เด็กวัยรุ่นไม่กี่คนอยากจะเล่า มันเป็นอะไรที่สำหรับเติ้ลมันมีความหมายมาก กับเวลาที่เราอยากเล่าอะไรสักเรื่องหนึ่งแล้วมีคนเหมือนมานั่งล้อมวงอยากฟังอ่ะ มันเป็นสิ่งที่แบบทำให้ทุกคนอยากเขียนต่อ เราไม่ได้เขียนเพราะว่าเราอยากอวดรู้ อยากบอกว่าตัวเองมีความรู้เหนือกว่าคนอื่นนะไม่ใช่อะไรแบบนั้น แต่เราอยากเขียนเพราะว่าเรามีเรื่องที่จะเล่า แค่นั้น ชอบไม่ชอบก็ตัดสินกันเอาเอง (หัวเราะ)

Copyright © 2018 LEARN : อาณาจักรภูมิสารสนเทศ อาณาเขตแห่งการเรียนรู้

LEARN