
ที่มา : Yalan, L., Lei, Y, Xiaobo, W., Chunsheng, X.(2005)
งานศึกษาด้านการระบาดของโรคไข้หวัดนก ดังที่ทราบกันดีว่าในช่วงปี พ.ศ. 2546-2547 ประเทศในแถบเอเชียร่วม 10 ประเทศ (เวียดนาม จีน อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เกาหลี ลาว มาเลเซีย ไทย ปากีสถาน และกัมพูชา) ได้เกิดวิกฤตการณ์การระบาดของโรคไข้หวัดนกซึ่งส่งผลกระทบต่อประชาชน และระบบเศรษฐกิจ การระบาดเกิดจากนกที่ติดเชื้ออพยพเข้ามาในพื้นที่ และแพร่กระจายเชื้อโรคสู่สัตว์ปีกที่เป็นสัตว์เศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว ในขณะที่ประเทศในภูมิภาคดังกล่าวยังไม่คุ้นเคยกับโรคนี้มาก่อนการควบคุมและป้องกันจึงกระทำได้ล่าช้า อย่างไรก็ตามภายหลังพ้นวิกฤตการณ์นี้ นานาประเทศได้ให้ความสำคัญกับโรคนี้มากขึ้นได้มีการผลิตวัคซีน หาแนวทางการป้องกัน และมาตรการกำจัดสัตว์ปีกที่เหมาะสมมาใช้ในการควบคุมโรคที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้มีการแสดงผลการระบาดที่เกิดใน พ.ศ. 2546 ดังงานวิจัยของ Tiensin, T., et al (2005) รวบรวมข้อมูลการระบาดที่เกิดขึ้นภายในประเทศไทย จัดเก็บเป็นระบบฐานข้อมูลในระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ แสดงตำแหน่งที่พบการระบาดและผู้ป่วยติดเชื้อพร้อมแสดงให้เห็นแนวโน้มการเกิดโรคดังภาพ

ที่มา : Tiensin, T., et al (2005)

ที่มา : Tiensin, T., et al (2005)
ต่อมาจึงพบว่ามีการวิจัยด้านไข้หวัดนกมากขึ้น โดยมีความพยายามที่จะศึกษาและแสดงพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคจากแบบจำลองต่างๆ อาศัยข้อมูลที่เคยมีการเก็บรวบรวมไว้ ดังเช่น การศึกษาของ Yalan, L., Lei, Y.,Xiaobo, W., and Chunsheng, X. (n.d.) ซึ่งได้วิเคราะห์รูปแบบการเกิดโรคไข้หวัดนกในประเทศจีน โดยวิเคราะห์ความสัมพันธ์ของการเกิดโรคกับลักษณะทางสิ่งแวดล้อม ข้อมูลที่นำมาใช้ศึกษา ประกอบด้วย ข้อมูลแผนที่ภูมิประเทศ(แม่น้ำ แหล่งน้ำ พื้นที่ชุ่มน้ำ ถนน เมือง) ข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียม NOAA/AVHRR (ความแยกชัด 1.1 กิโลเมตร บันทึกภาพ พ.ศ. 2546) ข้อมูลการอพยพของนก และข้อมูลการรายงานตำแหน่งระบาด (ช่วงเวลา ขอบเขต และระดับความรุนแรง) ทั้งนี้ผู้ศึกษาได้จัดเตรียมข้อมูลให้อยู่ในรูปการแสดงผลเชิงพื้นที่และวิเคราะห์ข้อมูลทั้งหมดภายใต้ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ ได้ผลการวิเคราะห์ความสัมพันธ์กับปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมดังภาพ

ที่มา : Yalan, L., Lei, Y., Xiaobo, W., and Chunsheng, X. (n.d.)
ผลการศึกษาที่ได้แสดงให้เห็นว่าการระบาดมีความเกี่ยวข้องกับเส้นทางการอพยพของนกมากที่สุดโดยจะพบการแพร่กระจายเชื้อออกจากพื้นที่ชุ่มน้ำ ที่มีพืชพรรณปกคลุมดี (NDVI>0.6) และอุณหภูมิพื้นผิวระหว่าง 20-30 องศาเซลเซียส
ที่มา : ตำราเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศศาสตร์