ภาคใต้ฝั่งตะวันออกตอนบนของประเทศไทย ช่วงเดือนตุลาคมถึงเดือนมกราคม น้ำฝนที่มีปริมาณมากไม่สามารถระบายออกสู่ทะเลได้ทัน ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน การศึกษาพื้นที่มีโอกาสเกิดน้ำท่วมโดยใช้เทคโนโลยีจากดาวเทียมและระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ โดยวิธีการกำหนดค่าถ่วงน้ำหนัก และการให้คะแนนตามลำดับความสำคัญของปัจจัยทางกายภาพที่มีผลต่อการเกิดน้ำท่วม สามารถใช้เป็นแนวทางในการกำหนดเขตพื้นที่น้ำท่วม และจัดทำแผนที่พื้นที่ที่มีโอกาสเกิดน้ำท่วม อันจะเป็นประโยชน์ในด้านการวางแผนป้องกัน และลดความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินได้
วัตถุประสงค์
– เพื่อกำหนดขอบเขตพื้นที่น้ำท่วมในพื้นที่ภาคใต้ฝั่งตะวันออกตอนบนโดยใช้ข้อมูลจากภาพถ่ายดาวเทียม
– วิเคราะห์พื้นที่ที่มีโอกาสเกิดน้ำท่วมระดับต่างๆ โดยใช้ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์
– เพื่อกำหนดแนวทางในการป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากการเกิดน้ำท่วม
วิธีการ
การกำหนดเขตพื้นที่น้ำท่วมพื้นที่ที่มีโอกาสเกิดน้ำท่วม ได้แก่ ที่ราบน้ำท่วมถึง ที่ลุ่มที่เป็นนาข้าว บึง และพรุ ที่ราบน้ำท่วมถึง ลานตะพักลำน้ำระดับต่ำ และริมฝั่งแม่น้ำสายใหญ่ที่มีน้ำตลอดปี จากภาพถ่ายดาวเทียม LANDSAT 7 ETM
– การกำหนดปัจจัยทางกายภาพ ที่คาดว่าจะมีผลต่อการเกิดน้ำท่วม ประกอบด้วย 8 ปัจจัย ได้แก่
ปริมาณน้ำฝน ขนาดของพื้นที่ลุ่มน้ำ ความหนาแน่นของทางน้ำ ความลาดชันของสภาพพื้นที่ลุ่มน้ำ การใช้ประโยชน์ที่ดิน เนื้อดิน และความลึกของดิน
– การวิเคราะห์พื้นที่ที่มีโอกาสเกิดน้ำท่วม โดยกำหนดค่าถ่วงน้ำหนักของแต่ละปัจจัยอยู่ระหว่าง 1-8
ตามลำดับความสำคัญ ถ้าค่าถ่วงน้ำหนักมากแสดงว่าปัจจัยมีความสำคัญเกี่ยวข้องกับการเกิดน้ำท่วมมาก ถ้าค่าถ่วงน้ำหนักน้อยแสดงว่าปัจจัยมีความสำคัญและเกี่ยวข้องกับสาเหตุการเกิดน้ำท่วมน้อย แสดงการกำหนดค่าน้ำหนักดังตาราง
ตารางปัจจัย ประเภทข้อมูล ค่าถ่วงน้ำหนัก และค่าคะแนนที่ใช้ในการศึกษา
วิเคราะห์พื้นที่ที่มีโอกาสเกิดน้ำท่วม ด้วยวิธีการซ้อนทับข้อมูลของปัจจัยที่กำหนดไว้ แล้วคำนวณค่าคะแนนรวมของแต่ละปัจจัย โดยสมการ
Wt = (M1W1) + (M2W2) + (M3W3) + … + (MnWn)
โดย
Wt = ระดับโอกาสที่จะเกิดน้ำท่วม โดยเป็นค่าคะแนนรวมของแต่ละปัจจัย
M1, M2, M3 … Mn = ค่าคะแนนของปัจจัยที่ 1, 2, 3 … ถึง n
W1, W2, W3 … Wn = ค่าถ่วงน้ำหนักของปัจจัยที่ 1, 2, 3 … ถึง n
จากสมการสามารถจัดกลุ่มค่าคะแนนรวมโดยอาศัยค่าเฉลี่ย (Mean) แล้วนำค่าการกระจายของข้อมูล(Standard deviation) มากำหนดค่าพิสัย (Range) โดยแบ่งระดับโอกาสที่เกิดน้ำท่วมออกเป็น 3 ระดับ คือ พื้นที่ที่มีโอกาสเกิดน้ำท่วมสูง ปานกลาง และต่ำ ซึ่งมีระดับคะแนนมากกว่า >127 ระหว่าง 113 ถึง 127 และน้อยกว่า 113 ตามลำดับ

การศึกษาพื้นที่ที่มีโอกาสเกิดน้ำท่วมโดยใช้เทคโนโลยีข้อมูลจากดาวเทียมและระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ในพื้นที่ภาคใต้ฝั่งตะวันออกตอนบน พบว่าจังหวัดชุมพรมีพื้นที่ที่มีโอกาสเกิดน้ำท่วมสูง 167,081 ไร่ พื้นที่ที่มีโอกาสเกิดน้ำท่วมปานกลาง 146,175 ไร่ และพื้นที่ที่มีโอกาสเกิดน้ำท่วมต่ำ 3,838 ไร่ จังหวัดสุราษฎร์ธานีพื้นที่ที่มีโอกาสเกิดน้ำท่วมสูง ปานกลาง และต่ำ โดยมีพื้นที่ 685,781 ไร่ 186,125 ไร่ และ 15,306 ไร่ ตามลำดับ และพื้นที่ที่มีโอกาสเกิดน้ำท่วมสูง ปานกลาง และต่ำในจังหวัดนครศรีธรรมราช มีพื้นที่ 1,483,988 ไร่ 412,213 ไร่ และ 67,944 ไร่ตามลำดับ โดยพื้นที่ทางด้านตะวันออกของพื้นที่ศึกษาซึ่งติดกับทะเลจะมีโอกาสเกิดน้ำท่วมสูง เนื่องจากเป็นที่ราบและเป็นพื้นที่รับน้ำขนาดใหญ่ เมื่อฝนตกหนักในพื้นที่สูงทางด้านตะวันตก น้ำจะไหลลงจากพื้นที่รับน้ำตอนบนตามลำน้ำซึ่งน้ำไหลเร็วและมีปริมาณมาก ทำให้พื้นที่รับน้ำด้านล่างมีโอกาสเกิดน้ำท่วมสูง แต่สภาพความเป็นจริงในปัจจุบันบางพื้นที่อาจจะไม่ประสบปัญหาน้ำท่วมเพราะได้มีการแก้ไขปัญหาบ้างแล้ว เช่น บริเวณพื้นที่อำเภอเมืองชุมพรมีการผันน้ำและเปลี่ยนเส้นทางการไหลของน้ำโดยการพัฒนาพื้นที่หนองใหญ่ (แก้มลิงธรรมชาติ) และการขุดคลองหัววังพนังตัก ซึ่งทั้งสองโครงการมีผลให้น้ำไม่ท่วมเมืองชุมพรตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2541
ที่มา : ตำราเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศศาสตร์