
ภูเขาไฟภูพระอังคาร เป็นภูเขาไฟหินบะซอลต์แบบลาวาโดมอยู่ห่างจาก จังหวัดบุรีรัมย์ประมาณ 74 กิโลเมตร ตั้งโดดเด่นในบริเวณทุ่งนา มีรูปร่างกลมรี กว้างประมาณ 5 กิโลเมตร และยาวประมาณ 9 กิโลเมตร พื้นที่เขตภูเขาไฟและลาวาหลากมีประมาณ 37 ตารางกิโลเมตร วางตัวอยู่ในแนวเหนือ-ใต้ มีระดับสูงจากที่ราบโดยรอบประมาณ 110 เมตร ปากปล่องภูเขาไฟเป็นแบบแคลดีรา (caldera) เกิดจากการทรุดถล่มภายในมีภูเขาไฟเล็กๆ ซึ่งชาวบ้านเรียกว่า “เนินเขาป่าช้า” เนื่องจากชาวบ้านใช้เป็นสถานที่เผาศพ โดยมีความเชื่อว่าสามารถส่งวิญญาณผู้ตายสู่สวรรค์ได้ และพบแนวพนังหินเป็นแนวรัศมีออกจากเนินเขาป่าช้า พื้นที่ภายในแอ่งทรุดตัวนี้ มีประมาณ 40,000 ตารางเมตร สันนิษฐานว่าแต่เดิมเป็นทะเลสาบภายหลังน้ำระบายออกทางช่องด้านตะวันออกเกิดเป็นที่ราบ ชาวบ้านใช้ทำนาและเป็นทุ่งเลี้ยงสัตว์
ภูเขาไฟภูพระอังคารเป็นซากภูเขาไฟที่ดับสนิทแล้ว และแสดงร่องรอยการปะทุและการยุบถล่มเป็นแนวซ้อนกันหลายชั้น มีช่องทางการไหลของหินลาวาออกมาหลายจุด และมีลาวาหลากไหลแผ่ไปทางทิศใต้ต่อเชื่อมกับเขตภูเขาไฟหลุบ
หินภูเขาไฟเป็นหินบะซอลต์สีดำปนเทา มีเนื้อพรุนและเนื้อแน่น หินที่มีรูพรุนพบอยู่ในเขตใกล้ปากปล่อง ส่วนหินเนื้อแน่นเป็นลาวาเก่าพบแผ่กระจายอยู่โดยรอบเนินภูเขาไฟ หินบะซอลต์ของภูเขาไฟภูพระอังคารประกอบด้วย แรโอลิวีนผลึกละเอียด เฟลด์ สปาร์ชนิดแอนดีซีน แมกนีไทต์ อะพาไทต์ ไพรอกซีน คลอไรต์ และเซอร์เพนทีน จัดเป็นหินบะซอลต์ชนิดฮาวายไอต์ เนินภูเขาไฟบะซอลต์ภูพระอังคารวางตัวทับบนหินทรายหมวดหินโคกกรวด
ระบบการระบายน้ำของภูเขาไฟภูพระอังคารเป็นแบบรูปทางน้ำรัศมี ทางน้ำลำห้วยต่างๆ จะแผ่กระจายจากเนินภูเขาไฟออกไปสู่ที่ราบโดยรอบ น้ำในแอ่งแคลดีราจะระบายลงสู่คลองลาดกล้วยทางทิศตะวันออกและไหลลงสู่ลำปะเทีย
ภูเขาไฟภูพระอังคารเป็นแหล่งหินก่อสร้าง มีโรงโม่บดย่อยหินบะซอลต์ 2 แห่ง แหล่งของภูเขาไฟภูพระอังคารใช้สร้างถนนและอาคารในเขต จังหวัดบุรีรัมย์ตอนใต้ และจังหวัดปราจีนบุรี
ที่มา หนังสือธรณีสัณฐานประเทศไทยจากห้วงอวกาศ