หนึ่งในหกของประชากรไทยอาศัยอยู่ใกล้กับรอยเลื่อนมีพลัง การขยับตัวของรอยเลื่อนมีพลังทำให้เกิดแผ่นดินไหว แม้ว่าโอกาสเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ในประเทศไทยจะมีน้อยมาก แต่ถ้าไม่มีการเตรียมพร้อม แผ่นดินไหวขนาดเล็กก็อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินได้
เนื่องจากรอยเลื่อนนั้นกินพื้นที่กว้างขวางเป็นแนวยาวเกินกว่าสายตาเราจะเห็นได้ครอบคลุม ภาพถ่ายจากดาวเทียมจึงเป็นเครื่องมือที่จำเป็นอย่างยิ่งในการศึกษาเรื่องรอยเลื่อน ดังภาพถ่ายจากดาวเทียมไทยโชตภาพนี้เป็นพื้นที่ อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ พื้นที่สีเขียวก็คือป่าไม้ หากสังเกตให้ดีจะเห็นร่องรอยของรอยเลื่อนแม่จัน ตามแนวที่ราบระหว่างหุบเขาอย่างชัดเจน ซึ่งมีชาวบ้านใช้เป็นแหล่งทำมาหากินและตั้งถิ่นฐานมาช้านานอยู่แล้ว ดังปรากฏหมู่บ้านเป็นกลุ่มสีฟ้าตามแนวถนนหมายเลข 1089
รอยเลื่อนแม่จัน จัดเป็นรอยเลื่อนมีพลังขนาดใหญ่ (ยาวมากกว่า 100 กิโลเมตร) เคลื่อนตัวตามแนวระนาบแบบเหลื่อมซ้าย พาดผ่านตั้งแต่ อ.ฝาง อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ อ.แม่จัน อ.เชียงแสน จ.เชียงราย เข้าสู่ประเทศลาว หรือ สังเกตได้จากเส้นทางหลวงหมายเลข 1089
ปัจจุบันรอยเลื่อนแม่จันมีการเลื่อนแบบเหลื่อมซ้าย เนื่องจากถูกแรงบีบอัดในแนวเหนือ-ใต้ รอยเลื่อนแม่จันและรอยเลื่อนมีพลังอื่นๆ ในประเทศไทยนั้นได้รับอิทธิพลจากการชนกันของแผ่นเปลือกโลกอินเดียกับแผ่นเปลือกโลกเอเชีย (Charusiri et al., 2002) การเดินทางขึ้นเหนือของแผ่นเปลือกโลกอินเดียอย่างต่อเนื่องในปัจจุบัน ส่งผลให้เกิดการขยับตัวของรอยเลื่อนต่างๆ ตามแนวเทือกเขาหิมาลัย ต่อเนื่องมาถึงรอยเลื่อนตามแนวตะวันตกของประเทศไทยและพม่าด้วย
ภาพนี้จะมีค่าแค่เพียงแผนที่เปล่าๆหากว่าเราดูแล้วไม่บอกต่อเพื่อกระตุ้นให้เกิดการเตรียมรับมือกับภัยที่ไม่อาจจะคาดเดาได้ ตั้งแต่วันนี้!
ข้อมูลเพิ่มเติมรอยเลื่อนแม่จัน >> http://www.geothai.net/maechan-fault/
แผนที่รอยเลื่อนในจังหวัดเชียงใหม่ >>http://www.dmr.go.th/dow…/article/article_20100625093625.jpg
ตรวจสอบรายชื่อหมู่บ้านที่มีรอยเลื่อนมีพลังพาดผ่าน จังหวัดเชียงใหม่ >>http://www.dmr.go.th/…/…/freetemp/article_20100628095105.pdf
ที่มา geothai.net และ กรมทรัพยากรธรณี