รอยเลื่อนพะเยา เป็น 1 ใน 14 รอยเลื่อนที่มีพลังในประเทศไทย เป็นรอยเลื่อนที่มีสองส่วน มีแนวการวางตัวแตกต่างกันและแยกออกจากกันชัดเจน พาดผ่านจังหวัดเชียงราย ลำปาง และพะเยา
ส่วนแรกเป็นรอยเลื่อนซีกใต้ (เส้นสีเหลือง) มีการวางตัวในแนวเกือบทิศเหนือ-ใต้ ค่อนมาทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ซึ่งปรากฏอยู่บริเวณด้านทิศตะวันตกของขอบแอ่งพะเยา บริเวณเขตรอยต่อระหว่างอำเภอพาน ของจังหวัดเชียงราย อำเภอแม่ใจ อำเภอเมือง ของจังหวัดพะเยา และอำเภอวังเหนือ ของจังหวัดลำปาง มีความยาวประมาณ 35 กิโลเมตร แสดงลักษณะของผารอยเลื่อนหลายแนวและต่อเนื่องเป็นแนวตรงหันหน้าไปทิศตะวันออก บริเวณอำเภอวังเหนือ จังหวัดลำปางมีผารอยเลื่อนที่สูง 200 เมตร (ตามภาพถ่ายจากดาวเทียมไทยโชต) ทางน้ำสาขาต่างๆ ที่ตัดผ่านผารอยเลื่อนนี้ แสดงร่องรอยกัดเซาะลงแนวดิ่งลึกมากจนถึงชั้หินดานซึ่งแสดงว่ารอยเลื่อนยังคงมีพลังไม่หยุดนิ่งจวบจนปัจจุบัน
อีกส่วนรอยเลื่อนทางตอนเหนือ(เส้นสีแดง) มีการวางตัวในแนวทิศตะวันออกเฉียงเหนือ-ตะวันตกเฉียงใต้ที่พาดผ่านอำเภอแม่สรวย ถึงอำเภอแม่ลาว ของจังหวัดเชียงราย ซึ่งกลุ่มรอยเลื่อนพะเยานี้ แบ่งเป็น 17 รอยเลื่อนย่อย เช่น รอยเลื่อนแม่ลาว รอยเลื่อนพะเยา รอยเลื่อนเมืองปาน ฯลฯ
ในอดีตบริเวณนี้เกิดแผ่นดินไหวขนาดเล็กถึงขนาดปานกลางบ่อยครั้งมากในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2537 มีศูนย์เกิดแผ่นดินไหวอยู่ในเขตอำเภอพาน จังหวัดเชียงราย มีความรุนแรงขนาด 5.2 ริกเตอร์ซึ่งเกิดจากการเลื่อนตัวในแนวราบแบบเหลื่อมขวาของกลุ่มรอยเลื่อนพะเยาส่วนล่าง ทำให้เกิดความเสียหายอย่างมากกับโรงพยาบาลอำเภอพาน จนต้องทุบทิ้งสร้างใหม่ รวมทั้งส่งผลกระทบกับวัดและโรงเรียนต่างๆ ใน อำเภอพาน นอกจากนี้ยังมีแผ่นดินไหวเกิดขึ้นอีกหลายครั้งในปี พ.ศ. 2538 และ 2539 ในพื้นที่จังหวัดพะเยา และจังหวัดเชียงราย
และประมาณ 1 ปีที่ผ่านมา เมื่อเวลา 18.08 น. วันที่ 5 พฤษภาคม 2557 เกิดเหตุแผ่นดินไหวขนาด 6.3 ริกเตอร์ โดยมีศูนย์กลางแผ่นดินไหวที่ละติจูด 19.68 องศาเหนือ ลองติจูด 99.69 องศาตะวันออก ที่ระดับความลึก 7 กิโลเมตร บริเวณตำบลทรายขาว อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย (ข้อมูลจากกรมอุตุนิยมวิทยา) สาเหตุแผ่นดินไหวครั้งนี้ เป็นผลมาจากการเลื่อนตัวในแนวราบแบบเหลื่อมซ้ายของกลุ่มรอยเลื่อนพะเยาส่วนเหนือ (รอยเลื่อนแม่ลาว) ประชาชนสามารถรับรู้ได้ถึงแรงสั่นสะเทือนทั่วทั้งภาคเหนือ รวมทั้งผู้ที่อาศัยในอาคารสูงในกรุงเทพฯ และมีความเสียหายรุนแรงในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะในรัศมีประมาณ 30 กิโลเมตร จากศูนย์กลางแผ่นดินไหว
ประชาชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณที่รอยเลื่อนมีพลังพาดผ่าน ควรต้องศึกษาทำความเข้าใจเรื่องรอยเลื่อนที่พาดผ่านในจังหวัด หรือหมู่บ้านของตัวเอง เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับแผ่นดินไหวที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต เพราะปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์ยังไม่สามารถทำนายได้ว่า แผ่นดินไหวในอนาคตจะเกิดที่ขึ้นไหน และเกิดขึ้นเมื่อไหร่
แผ่นดินไหวเป็นเรื่องที่น่ากลัวก็จริงแต่ “ป้องกันได้”
แผนที่รอยเลื่อนในจังหวัดลำปาง >> http://www.dmr.go.th/…/d…/article/article_20100625094354.jpg
ตรวจสอบรายชื่อหมู่บ้านที่มีรอยเลื่อนมีพลังพาดผ่าน จังหวัดลำปาง >>http://www.dmr.go.th/…/…/freetemp/article_20100628094710.pdf
แผนที่รอยเลื่อนในจังหวัดพะเยา >> http://www.dmr.go.th/…/d…/article/article_20100625093941.jpg
ตรวจสอบรายชื่อหมู่บ้านที่มีรอยเลื่อนมีพลังพาดผ่าน จังหวัดพะเยา >>http://www.dmr.go.th/…/…/freetemp/article_20100628094937.pdf
ที่มา geothai.net และ กรมทรัพยากรธรณี