วิวัฒนาการของดาวเทียมสำรวจทรัพยากร
ดาวเทียมสำรวจทรัพยากรมีวิวัฒนาการอย่างรวดเร็วและต่อเนื่องมาโดยตลอด นับตั้งแต่ยุคแรก เมื่อองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกา หรือองค์การนาซา (NASA) ได้ส่งดาวเทียมสำรวจทรัพยากรพิภพดวงแรกของโลกชื่อ ERTS 1 (Earth Resources Technology Satellite) ขึ้นโคจรรอบโลกเป็นผลสำเร็จ เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2515 (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น LANDSAT 1) พัฒนาการของดาวเทียมสำรวจทรัพยากร สามารถแบ่งเป็นช่วง ได้ดังนี้
ช่วงทดลองและวิจัยพัฒนา (Research and development) เริ่มตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2515-2528 เป็นช่วงการทดลองใช้ข้อมูลจากดาวเทียมรุ่นแรกๆ แล้วพัฒนาข้อมูลจากดาวเทียมให้มีคุณภาพและความละเอียดภาพดีขึ้นสามารถนำไปใช้ประโยชน์อย่างมีประสิทธิภาพ ดาวเทียมในช่วงแรกๆได้แก่ ดาวเทียม LANDSAT 1-3 LANDSAT 4-5 และดาวเทียม SEASAT ซึ่งมีความละเอียดภาพ 80 30 และ 30 เมตร ตามลำดับ
ช่วงความร่วมมือระหว่างประเทศและปฏิบัติการ (Operation and international cooperation) เริ่มตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2529-2539 เป็นช่วงเวลาของการปฏิบัติงานนำข้อมูลจากดาวเทียมสำรวจทรัพยากรไปใช้ประโยชน์ในกิจกรรมด้านต่างๆ อย่างได้ผลและมีประสิทธิภาพ รวมทั้งมีความร่วมมือของนานาประเทศ ในการประสานงานการใช้ประโยชน์ การถ่ายทอดเทคโนโลยี ทั้งความร่วมมือระดับภูมิภาคและระดับโลก ดาวเทียมในช่วงนี้ได้ถูกพัฒนาขีดความสามารถให้ความละเอียดคมชัดมากขึ้น ในการศึกษาวัตถุที่มีขนาดต่ำกว่า 10 เมตรลงมา รวมทั้งระบบที่สามารถบันทึกภาพทะลุทะลวงเมฆและหมอก เช่น ระบบเรดาร์ ดาวเทียมในช่วงนี้ได้แก่ ดาวเทียม SPOT 1-4 ดาวเทียม MOS 1-2 ดาวเทียม JERS-1 ดาวเทียม IRS 1C ดาวเทียม ERS 1 ดาวเทียม RADARSAT และดาวเทียม ADEOS 1
ช่วงข่าวสารและเทคโนโลยี (Technology and information) เริ่มตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2540-ปัจจุบัน ช่วงนี้เป็นช่วงของข่าวสารที่ไร้พรมแดนและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอวกาศ ภายหลังจากการสิ้นสุดของสงครามเย็นของประเทศมหาอำนาจ ได้นำเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าสูงสุดมาเผยแพร่ให้พลเรือนใช้ รวมทั้งให้มีการแข่งขันอย่างเสรีในเชิงพาณิชย์มากขึ้น ดาวเทียมสำรวจทรัพยากรได้ถูกพัฒนาให้มีความละเอียดคมชัดมากยิ่งขึ้น ได้แก่ ดาวเทียม SPOT 5 ความละเอียดภาพ 2.5 เมตร ดาวเทียม IKONOS ความละเอียดภาพ 1 เมตร และดาวเทียม QuickBird ความละเอียดภาพ 61 เซนติเมตร นอกจากนี้ยังสามารถรับสัญญาณจากดาวเทียมได้ทันทีหรือเกือบเป็นเวลาเดียวกันกับที่ดาวเทียมส่งสัญญาณ ทำให้ผู้ใช้มีการตื่นตัวเป็นอย่างมาก การได้ข้อมูลจากดาวเทียมหลายๆ ดวง ทำให้มีข้อมูลที่หลากหลายและทันสมัยต่อเหตุการณ์ สามารถใช้ในการติดตามสภาพสิ่งแวดล้อมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดาวเทียมดวงอื่นๆ ที่ถูกส่งขึ้นสู่วงโคจรในช่วงนี้ ได้แก่ ดาวเทียม IRS 1D ของประเทศอินเดีย ดาวเทียม LANDSAT 7 ของประเทศสหรัฐอเมริกาดาวเทียม TERRA ของประเทศสหรัฐอเมริการ่วมกับประเทศญี่ปุ่น ดาวเทียม RADARSAT ของประเทศแคนาดา ดาวเทียม ENVISAT ของกลุ่มประเทศประชาคมยุโรป และดาวเทียม ADEOS 2 และ ALOS ของประเทศญี่ปุ่น
ที่มา : ตำราเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศศาสตร์