ปัจจุบันงานศึกษาที่เกี่ยวข้องกับภัยพิบัติโดยใช้ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์มีอยู่มากมายหลายรูปแบบซึ่งอาจเป็นการศึกษาเพื่อประเมินความเสียหายของพื้นที่ เช่น การประเมินมูลค่าความเสียหายของพื้นที่ทางการเกษตรความเสียหายที่เกิดขึ้นกับสิ่งปลูกสร้าง อาคาร และสถานที่ต่างๆ รัฐบาลจะสามารถใช้ข้อมูลเหล่านี้ประกอบการตัดสินใจให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบที่แท้จริง ตัวอย่างเช่น กรณีการเกิดสึนามิถือเป็นภัยพิบัติที่ไม่เคยปรากฏในประเทศไทยมาก่อน จึงสร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวงต่อชีวิตและทรัพย์สิน และเนื่องจากพื้นที่ประสบภัยเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญประกอบกับมีผู้ได้รับผลกระทบจำนวนมาก การตรวจติดตามและประเมินความเสียหายอย่างเร่งด่วนจึงเป็นสิ่งจำเป็น ในช่วงเวลานั้นรัฐบาลได้ใช้ข้อมูลจากการรับรู้ระยะไกลและระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ประเมินความเสียหายของพื้นที่ และอาคาร พร้อมจัดทำระบบ Internet mapping สำหรับการบอกแจ้งข้อมูลผู้ประสบภัย
การศึกษาของ Marghany, M. and Hashim, M. (2006) ได้ใช้ข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียม QuickBirdตรวจสอบการเคลื่อนตัวของคลื่นสึนามิเข้าสู่ชายฝั่งของประเทศอินโดนีเซีย และจำลองขนาดคลื่นสึนามิในช่องแคบมะละกา (Malacca straits) ผลการศึกษาสามารถแสดงแนวการเคลื่อนที่ของคลื่นน้ำเข้าสู่ชายฝั่ง และการเปลี่ยนแปลงภายหลังจากเกิดสึนามิ ช่วยให้การประเมินมูลค่าความเสียหายและการวางแผนป้องกันกระทำได้ง่ายขึ้น นอกจากนั้นแบบจำลองยังช่วยประมาณระยะเวลาการเคลื่อนตัวของคลื่นน้ำไปสู่พื้นที่อื่น จึงเป็นการดีที่จะใช้ข้อมูลในลักษณะเดียวกันนี้ ร่วมกับการทำงานด้วยระบบสารสนเทศเพื่อประกอบการติดตามและป้องกันการเกิดสึนามิต่อไป เช่นเดียวกับในประเทศไทย หน่วยงาน สทอภ. ได้จัดแสดงพื้นที่ประสบภัยสึนามิ ซึ่งสามารถประเมินมูลค่าความเสียหายได้ง่าย และมีความถูกต้อง

ที่มา : ตำราเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศศาสตร์