เส้นโครงแผนที่ชนิดนี้เป็นเส้นโครงแผนที่ที่ให้แผ่นแบนราบสัมผัสกับลูกโลก โดยให้จุดฉายแสงอยู่ในตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่งแล้วแต่จะกำหนด ได้แก่ ตรงจุดศูนย์กลางของโลก ตรงกันข้ามกับพื้นราบที่สัมผัส และจากระยะอนันต์ กลุ่มเส้นโครงชนิดนี้สามารถจำแนกออกได้คือ แบบโนมอน (Gnomonic projection) แบบสเตริโอกราฟ (Stereographic projection) และแบบออร์โทกราฟ (Orthographic projection)
- เส้นโครงแผนที่แบบโนมอน
เป็นเส้นโครงแผนที่ มีจุดกำเนิดแสงอยู่ที่กึ่งกลางลูกโลก การสร้างเส้นโครงแผนที่ชนิดนี้ทำได้ไม่เต็มซีกโลก ลักษณะของเส้นโครงแผนที่มีเส้นวงกลมใหญ่เป็นเส้นตรง ส่วนเส้นขนานมีลักษณะเป็นเส้นโค้ง เส้นโครงแผนที่ชนิดนี้ไม่เหมาะที่จะใช้สำหรับพื้นที่กว้างใหญ่ มีข้อเสียคือไม่รักษาคุณสมบัติทางด้านพื้นที่และรูปร่างโดยเฉพาะบริเวณที่ห่างไกลจากจุดสัมผัส อย่างไรก็ตามเส้นโครงแผนที่ชนิดนี้ใช้ในการนำร่อง เช่น การเดินเรือ และการบิน
- เส้นโครงแผนที่แบบสเตริโอกราฟ
เป็นเส้นโครงแผนที่ มีจุดกำเนิดแสงอยู่ที่ผิวลูกโลกด้านตรงข้ามกับจุดสัมผัส การสร้างเส้นโค้งแบบนี้จะได้เส้นโค้งเกินกว่าซีกโลก ลักษณะเส้นเมริเดียนเป็นเส้นตรงชิดกันบริเวณตอนกลางและห่างออกไปบริเวณขอบส่วนเส้นขนานเป็นเส้นโค้งวงกลม มีคุณสมบัติรักษารูปร่าง เหมาะสำหรับทำแผนที่การบิน
- เส้นโครงแผนที่แบบออร์โทกราฟ
เป็นเส้นโครงแผนที่ชนิดหนึ่งที่เกิดจากการสมมติว่า หากฉายแสงเป็นเส้นตรงผ่านลูกโลกมายังแผ่นราบที่สัมผัสบริเวณขั้วโลก บริเวณศูนย์สูตร หรือเหนือพื้นผิวโลกบริเวณใดบริเวณหนึ่ง ทำให้สามารถแสดงแผนที่ได้เพียงครึ่งหนึ่งของโลกเท่านั้น มาตราส่วนของแผนที่เส้นโครงแผนที่แบบออร์โทกราฟนี้ถูกต้องมากที่สุดบริเวณที่แผ่นราบสัมผัสผิวโลก และค่าความผิดพลาดจะเพิ่มมากขึ้น เมื่อห่างจากจุดสัมผัสออกไป เส้นโครงแผนที่ชนิดนี้นิยมใช้ทำแผนที่โลก
อย่างไรก็ตามคุณสมบัติของเส้นโครงแผนที่ทั้งสามแบบนี้นอกจากแตกต่างกันไปตามตำแหน่งของจุดกำเนิดแสงแล้ว ยังแตกต่างไปตามจุดระนาบสัมผัสอีกด้วย โดยจุดสัมผัสแบ่งออกเป็น 3 ลักษณะคือ จุดสัมผัสที่อยู่ขั้วโลก จุดสัมผัสอยู่ที่ระนาบศูนย์สูตร และจุดสัมผัสเฉียง
ที่มา : ตำราเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศศาสตร์