ค่าคลาดเคลื่อนในข้อมูลจีพีเอส (GPS observation errors)

ค่าคลาดเคลื่อนที่เกี่ยวข้องกับเครื่องรับสัญญาณดาวเทียม

ค่าคลาดเคลื่อนที่ถูกจัดในกลุ่มนี้จะมีค่าคลาดเคลื่อนจากวงโคจรดาวเทียมและค่าคลาดเคลื่อนจากนาฬิกาดาวเทียม มีรายละเอียดดังนี้

  1. ค่าคลาดเคลื่อนจากวงโคจรดาวเทียม

ข้อมูลวงโคจรดาวเทียมนั้นถูกคำนวณขึ้นที่สถานีควบคุมหลัก โดยอาศัยข้อมูลที่รับได้จากสถานีติดตามดาวเทียมที่กระจายตัวอยู่ ซึ่งจะมีการทำนายวงโคจรดาวเทียมล่วงหน้าและส่งข้อมูลที่ทำนายไปยังตัวดาวเทียมเพื่อให้ดาวเทียมส่งมาให้กับผู้ใช้ในรูปแบบของข้อมูลนำหนที่มาพร้อมกับคลื่นสัญญาณดาวเทียม ในความเป็นจริงแล้วการทำนายวงโคจรของดาวเทียมให้สมบูรณ์นั้นเป็นไปไม่ได้ เนื่องจากมีแรงต่างๆ มากระทำกับตัวดาวเทียมมากมายหลายชนิด ด้วยเหตุนี้ตำแหน่งของดาวเทียมที่คำนวณได้จากข้อมูลวงโคจรดาวเทียมจึงยังมีค่าคลาดเคลื่อนอยู่

  1. ค่าคลาดเคลื่อนจากนาฬิกาดาวเทียม

ค่าคลาดเคลื่อนจากนาฬิกาดาวเทียมเกิดจากการเทียบเวลา และความถี่มาตรฐานที่แตกต่างไปจากเวลาจีพีเอส นอกจากค่าความคลาดเคลื่อนของนาฬิกาดาวเทียม (Clock error) แล้ว ยังมีความคลาดเคลื่อนระยะยาวที่เกิดจากความไม่สเถียรของมาตรฐานความถี่ที่เรียกว่า ดริฟท์ของนาฬิกา (Clock drift) และอัตราดริฟท์ของนาฬิกา (Clock drift rate) อีกด้วย โดยข้อมูลค่าความคลาดเคลื่อนของนาฬิกาดาวเทียมแต่ละดวงจะอยู่ในข้อมูลนำหนที่ส่งลงมาพร้อมกับคลื่นสัญญาณดาวเทียมในรูปแบบของสัมประสิทธิ์ค่าแก้นาฬิกาดาวเทียมทั้งสามตัว เช่นเดียวกับค่าคลาดเคลื่อนจากวงโคจรดาวเทียม ค่าความคลาดเคลื่อนของนาฬิกาดาวเทียมแต่ละดวงเป็นค่าที่ได้จากการคำนวณล่วงหน้าจากสถานีควบคุมหลัก

ค่าคลาดเคลื่อนที่เกี่ยวข้องกับเครื่องรับสัญญาณดาวเทียม

ค่าคลาดเคลื่อนที่ถูกจัดในกลุ่มนี้จะมีค่าคลาดเคลื่อนจากนาฬิกาเครื่องรับ (Receiver clock error) ค่าคลาดเคลื่อนจากการแปรเปลี่ยนของจุดศูนย์กลางเฟสของเสาอากาศ (Antenna phase center variation error) ค่าคลาดเคลื่อนจากสัญญาณรบกวนในเครื่องรับ (Receiver noise error) และค่าคลาดเคลื่อนจากค่าพิกัดของสถานีฐาน (Base station’s coordinate error)

  1. ค่าคลาดเคลื่อนจากนาฬิกาเครื่องรับ

เนื่องจากความเสถียรของระบบนาฬิกาที่ใช้ในเครื่องรับนั้นมีเสถียรภาพต่ำกว่านาฬิกาที่ใช้ในดาวเทียมมาก จึงมีผลทำให้นาฬิกาของเครื่องรับผิดไปจากเวลาจีพีเอสค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับค่าคลาดเคลื่อนจากนาฬิกาดาวเทียม ขนาดของค่าคลาดเคลื่อนที่เกิดขึ้นจะส่งผลต่อระยะที่วัดได้เช่นเดียวกันกับกรณีของค่าคลาดเคลื่อนจากนาฬิกาดาวเทียม เพียงแต่ค่าคลาดเคลื่อนจากนาฬิกาเครื่องรับจะมีขนาดใหญ่กว่าค่าคลาดเคลื่อนจากนาฬิกาดาวเทียมมาก (อาจมากถึงระดับไมโครวินาที ซึ่งเทียบเท่าได้กับการวัดระยะที่ผิดพลาดไปประมาณ 300 เมตร) ดังนั้นค่าคลาดเคลื่อนจากนาฬิกาเครื่องรับจึงถือเป็นค่าคลาดเคลื่อนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดสำหรับการหาตำแหน่งจุดเดี่ยว

  1. ค่าคลาดเคลื่อนจากการแปรเปลี่ยนของจุดศูนย์กลางเฟสของเสาอากาศ

โดยทั่วไปข้อมูลระยะทางที่วัดได้จากสัญญาณจีพีเอสจะเป็นระยะทางที่วัดระหว่างจุดศูนย์กลางอิเล็กทรอนิกส์ของตัวส่งคลื่นสัญญาณในดาวเทียมกับจุดศูนย์กลางอิเล็กทรอนิกส์ของตัวเสาอากาศของเครื่องรับสัญญาณดาวเทียม ในทางอุดมคติจุดศูนย์กลางที่วัดได้ทางกายภาพควรจะเป็นจุดเดียวกันกับจุดศูนย์กลางอิเล็กทรอนิกส์ อย่างไรก็ดีในความเป็นจริงจุดทั้งสองนั้นไม่ใช่จุดเดียวกันและมีค่าต่างระหว่างสองจุดอยู่ และเนื่องจากจุดศูนย์กลางอิเล็กทรอนิกส์จะแปรเปลี่ยนตามทิศทางและความแรงของคลื่นสัญญาณที่เข้ามายังเสาอากาศ การเปลี่ยนเรขาคณิตระหว่างดาวเทียมและเครื่องรับสัญญาณก็จะส่งผลให้ตำแหน่งของจุดศูนย์กลางอิเล็กทรอนิกส์มีการแปรเปลี่ยนไปด้วย ค่าการแปรเปลี่ยนของจุดศูนย์กลางเฟสของเสาอากาศจะมีค่ามากหรือน้อยขึ้นอยู่กับชนิดและคุณภาพของเสาอากาศที่ใช้

  1. ค่าคลาดเคลื่อนจากสัญญาณรบกวนในเครื่องรับ

ขนาดของค่าคลาดเคลื่อนจากสัญญาณรบกวนในเครื่องรับนั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายตัว เช่น อัตราส่วนระหว่างความแรงของสัญญาณกับสัญญาณรบกวน (Signal to noise ratio) และ Tracking bandwidth เป็นต้น เราสามารถใช้กฎหัวแม่มือ (Rule of thumb) ที่กล่าวว่าค่าคลาดเคลื่อนจากสัญญาณรบกวนในเครื่องรับจะมีขนาดประมาณร้อยละ 1 ของความยาวคลื่น ดังนั้นระดับของสัญญาณรบกวนในเครื่องรับจากการวัดซูโดเรนจ์โดยใช้รหัส C/A จะอยู่ที่ประมาณ 3 เมตร (มีความยาวคลื่น ~300 เมตร) ในขณะที่ระดับของสัญญาณรบกวนในเครื่องรับจากการวัดเฟสของคลื่นส่งจะอยู่ที่ประมาณ 2 มิลลิเมตร ทั้งข้อมูลเฟสของคลื่นส่งใน L1 และ L2 (L1 มีความยาวคลื่น ~19 เซนติเมตร และ L2 มีความยาวคลื่น ~24 เซนติเมตร) สำหรับเครื่องรับแบบทั่วไป อย่างไรก็ดีด้วยนวัตกรรมใหม่ที่มาพร้อมกับเครื่องรับสัญญาณรุ่นใหม่ๆ จะพบว่าระดับของสัญญาณรบกวนในเครื่องรับจากการวัดเฟสของคลื่นส่งจะอยู่ที่ระดับที่ต่ำกว่า1 มิลลิเมตร และระดับของสัญญาณรบกวนในเครื่องรับจากการวัดซูโดเรนจ์โดยใช้รหัส C/A จะอยู่ที่ระดับเดซิเมตร (Qiu, 1993; Seeber, 1993)

  1. ค่าคลาดเคลื่อนจากค่าพิกัดของสถานีฐาน

ค่าคลาดเคลื่อนชนิดนี้เกิดเฉพาะกับวิธีการหาตำแหน่งสัมพัทธ์เท่านั้น เนื่องจากวิธีการหาตำแหน่งสัมพัทธ์จะต้องทราบตำแหน่งสัมบูรณ์อย่างน้อยหนึ่งจุด เพื่อใช้หาตำแหน่งสัมบูรณ์ของจุดอื่นๆ ซึ่งจุดที่ทราบตำแหน่งเรียกกันทั่วไปว่า สถานีฐานในการประมวลผลข้อมูลจีพีเอสเพื่อหาค่าระยะเส้นฐานจะทำการตรึงค่าพิกัดของสถานีฐานไว้ ดังนั้นค่าคลาดเคลื่อนที่เกิดจากการตรึงค่าพิกัดของสถานีฐานส่งผลให้ค่าระยะเส้นฐานที่คำนวณได้ผิดพลาดไปด้วย สำหรับผลของค่าคลาดเคลื่อนจากค่าพิกัดของสถานีฐานต่อการหาตำแหน่งแบบสัมพัทธ์จะขึ้นกับระยะทางระหว่างเครื่องรับทั้งสอง

ค่าคลาดเคลื่อนที่เกี่ยวข้องกับการแพร่กระจายของสัญญาณ

ค่าคลาดเคลื่อนที่ถูกจัดในกลุ่มนี้จะมีการล่าช้าเนื่องมาจากเดินทางของคลื่นผ่านชั้นบรรยากาศ(Atmospheric delay) และค่าคลาดเคลื่อนจากคลื่นหลายวิถี (Multipath error)

  1. การล่าช้าเนื่องมาจากเดินทางของคลื่นผ่านชั้นบรรยากาศ

เมื่อคลื่นเดินทางจากดาวเทียมมายังเครื่องรับสัญญาณดาวเทียม จึงเกิดการล่าช้าอันเนื่องมาจากการเดินทางของคลื่นผ่านชั้นบรรยากาศ ในทางทฤษฎีเราสมมติว่าคลื่นเดินทางในสุญญากาศโดยมีความเร็วเท่ากับความเร็วแสง แต่ในความเป็นจริงในการเดินทางของคลื่นนั้นไม่ได้ผ่านสุญญากาศโดยตลอด โดยจะต้องมีการเดินทางผ่านชั้นบรรยากาศของโลกหลายๆ ชั้น ซึ่งมีชั้นบรรยากาศอยู่สองชั้นที่มีผลต่อการเดินทางของคลื่น คือ ชั้นไอโอโนสเฟียร์(Ionosphere) และชั้นโทรโพสเฟียร์ (Troposphere)

  1. ค่าคลาดเคลื่อนจากคลื่นหลายวิถี

คลื่นหลายวิถี หมายถึง การแพร่กระจายของคลื่นที่มีการสะท้อนตั้งแต่หนึ่งครั้งขึ้นไป โดยพื้นผิวที่สะท้อนอาจอยู่ในแนวดิ่ง ราบ หรือเอียง เช่น ผนังตึก ถนน ผิวน้ำ หรือยานพาหนะ เป็นต้น ภาพที่ 5.6 แสดงให้เห็นถึงแนวทางเดินของสัญญาณจีพีเอสที่เดินทางมาเข้าเครื่องรับโดยตรงและสัญญาณเกิดการสะท้อนกับพื้นผิวรอบข้างก่อนที่จะถึงเครื่องรับซึ่งก็คือคลื่นหลายวิถี

1(493)
ภาพคลื่นหลายวิถีและคลื่นสัญญาณโดยตรงจากดาวเทียม

 

 

ค่าคลาดเคลื่อนอื่นๆ ในข้อมูลจีพีเอส

ค่าคลาดเคลื่อนในกลุ่มนี้จะเกี่ยวข้องกับการวัดระยะด้วยการวัดเฟสของคลื่นส่งเท่านั้น โดยมีค่าคลาดเคลื่อนที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มนี้คือ ค่าคลาดเคลื่อนจากคลื่นหลุด (Cycle slip) และค่าเลขปริศนา (Ambiguity)

  1. ค่าคลาดเคลื่อนจากคลื่นหลุด

ค่าคลาดเคลื่อนจากคลื่นหลุดเกิดจากการที่มีสิ่งกีดขวางมาบังเสาอากาศของเครื่องรับสัญญาณหรืออาจเกิดจากการที่มีคลื่นรบกวนขนาดใหญ่ เช่น การเกิดความแปรปรวนขนาดใหญ่ในชั้นบรรยากาศไอโอโนสเฟียร์เป็นต้น จึงทำให้ไม่สามารถรับสัญญาณดาวเทียมต่อเนื่องได้ ผลจากการเกิดคลื่นหลุดจะทำให้ค่าเลขปริศนาของคลื่นส่งเปลี่ยนไปจากเดิม โดยทั่วไปการตรวจหาและซ่อมแซมคลื่นหลุดจะทำในขั้นตอนของการประมวลผลข้อมูลเบื้องต้น

  1. ค่าเลขปริศนา

ในการหาระยะที่ละเอียดถูกต้องสูงจากการวัดระยะด้วยการวัดเฟสของคลื่นส่ง นั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่จะหาค่าเลขปริศนา (N) ซึ่งในทางทฤษฎีค่าเลขปริศนาจะต้องเป็นเลขจำนวนเต็ม มีค่าต่างกันในข้อมูลเฟสของคลื่นส่ง L1 และ L2 และยังมีค่าต่างกันสำหรับคู่ดาวเทียมและเครื่องรับแต่ละคู่ (Each satellite-receiver pair) ค่าเลขปริศนาแต่ละค่าจะเป็นค่าคงที่ตราบใดที่มีการรับสัญญาณอย่างต่อเนื่องและไม่เกิดคลื่นหลุด การหาค่าเลขปริศนาจะทำในขั้นตอนของการประมวลผลข้อมูล (หลังจากที่ได้ขจัดค่าคลาดเคลื่อนต่างๆและซ่อมแซมคลื่นหลุดในข้อมูลแล้ว) ซึ่งขั้นตอนของการหาค่าเลขปริศนาจะเรียกกันโดยทั่วไปว่า การแยกความกำกวม (Ambiguity Resolution : AR)

 

ที่มา : ตำราเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศศาสตร์

Copyright © 2018 LEARN : อาณาจักรภูมิสารสนเทศ อาณาเขตแห่งการเรียนรู้

LEARN

404 Not Found

404

Not Found

The resource requested could not be found on this server!


Proudly powered by LiteSpeed Web Server

Please be advised that LiteSpeed Technologies Inc. is not a web hosting company and, as such, has no control over content found on this site.