สรุปแผนที่และเส้นโครงแผนที่

  1. เส้นโครงแผนที่

เส้นโครงแผนที่และระบบพิกัดในการทำแผนที่มีความสำคัญต่อการกำหนดตำแหน่งบนพื้นโลกที่ถ่ายทอดลงสู่แผนที่ซึ่งมีลักษณะแบนราบ ระบบพิกัดทำให้เราสามารถทราบถึงจุดและตำแหน่งของวัตถุที่เราต้องการทราบบนพื้นโลกได้จากการสร้างเส้นสมมติแบ่งโลกออกเป็นส่วนๆ ตามค่าระยะเชิงมุมหรือองศาสมมติ ที่เรียกว่าพิกัดภูมิศาสตร์ พิกัดภูมิศาสตร์ถูกนำมาถ่ายทอดลงสู่แผนที่ด้วยระบบพิกัดฉากสองมิติและสามมิติ ส่วนเส้นโครงแผนที่ชนิดต่างๆ ที่นำมาใช้ มีการแสดงคุณสมบัติที่แตกต่างกันออกไป ได้แก่ คุณสมบัติด้านการรักษาเนื้อที่ รูปร่าง และทิศทางอันมีผลต่อการพิจารณาเลือกใช้เส้นโครงแผนที่ต่อการแสดงข้อมูลแผนที่แบบต่างๆ กันตามสถานที่และเนื้อหาที่ต้องการแสดง ซึ่งเส้นโครงแผนที่มีลักษณะแตกต่างกันตามเส้นโครงแผนที่ ได้แก่ พื้นระนาบ กรวย และทรงกระบอก ตลอดจนลักษณะของจุดกำเนิดแสง เป็นผลให้เส้นโครงแผนที่แสดงคุณสมบัติต่างกัน และมีความสำคัญในการนำมาใช้พิจารณาในการทำแผนที่ชนิดต่างๆ ให้มีความเหมาะสม แตกต่างกันด้วย เส้นโครงแผนที่ที่นิยมใช้กันนี้คือระบบยูทีเอ็ม หรือแบบยูนิเวอร์แซลทรานสเวิร์สเมอร์เคเตอร์ เป็นเส้นโครงแผนที่ที่เกิดจากการใช้ทรงกระบอกเป็นเส้นโครงแผนที่สัมผัสกับลูกโลกในแนวขวางเส้นเมริเดียน ซึ่งนำมาใช้แสดงพื้นที่ที่มีลักษณะยาว มีทิศทางตามระยะเหนือ-ใต้ถูกต้อง เส้นโครงแผนที่แบบนี้ถูกนำมาใช้เป็นระบบพิกัด UTM ในการสร้างแผนที่ภูมิประเทศ และแผนที่มูลฐานเกือบทั่วโลก

  1. ชนิดแผนที่และการสร้างสัญลักษณ์

แผนที่เป็นเครื่องมือที่สำคัญทางด้านการใช้งานและการวางแผนต่างๆ ที่ไม่จำกัดเฉพาะในสาขาวิชาใดการจำแนกชนิดของแผนที่จึงมีอยู่หลายประเภททั้งตามรูปลักษณ์ของแผนที่ และลักษณะการใช้งานของแผนที่นั้นหลักการใช้แผนที่โดยทั่วไปคือการทำความเข้าใจเกี่ยวกับองค์ประกอบและเนื้อหาในรูปแบบของสัญลักษณ์ที่ปรากฏบนแผนที่ เพื่อสื่อความหมายระหว่างผู้ใช้และผู้จัดทำให้เข้าใจตรงกัน การสร้างสัญลักษณ์ของแผนที่นั้นจึงจำเป็นต้องมีความเหมาะสม สามารถสื่อความหมายให้ผู้ใช้ที่ไม่มีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับแผนที่สามารถเข้าใจได้ง่ายโดยไม่ต้องอ่านคำอธิบายสัญลักษณ์ และยังต้องมีความเหมาะสมในเรื่องของขนาด สี รูปแบบ เพื่อก่อให้เกิดความสวยงามและความง่ายต่อการอ่านในการใช้งานจริง และนอกจากนี้ มาตราส่วนที่ใช้ในแผนที่ยังเป็นอีกตัวแปรหนึ่งที่ทำให้เกิดความแตกต่างของชนิดและการใช้งานของแผนที่ การคำนวณมาตราส่วนแผนที่สามารถทำได้จากการเทียบระยะทางของจุด 2 จุดในภูมิประเทศจริง กับระยะบนแผนที่ มาตราส่วนยังแบ่งออกเป็นมาตราส่วนตามแนวดิ่งและมาตราส่วนตามแนวราบซึ่งมีลักษณะการคำนวณที่ต่างกัน ตลอดจนมีรูปลักษณ์การแสดงที่แตกต่างกันไป เช่น มาตราส่วนคำพูด หรือมาตราส่วนบรรทัด เป็นต้น

  1. การอ่านแผนที่

การอ่านแผนที่นั้น นักแผนที่จำเป็นที่จะต้องรู้จักตีความสัญลักษณ์ที่ปรากฏอยู่บนแผนที่ โดยสัญลักษณ์จะเป็นตัวแทนลักษณะภูมิประเทศจริงที่มีความซับซ้อน สัญลักษณ์ที่ใช้แสดงลักษณะภูมิประเทศบนแผนที่ ก็คือ เส้นชั้นความสูง เส้นชั้นความสูงชนิดต่างๆ จะเป็นตัวบ่งบอกความสูงต่ำของภูมิประเทศ ตลอดจนลักษณะภูมิประเทศแบบต่างๆ โดยมองจากเนินเขา หน้าผา หรือโตรกธาร จากการมองถึงลักษณะการเรียงตัว ความคดโค้ง ความไม่สม่ำเสมอกันของเส้นชั้นความสูง จึงทำให้การอ่านแผนที่ จำเป็นต้องอาศัยการตีความจากเส้นชั้นความสูง เพื่อก่อให้เกิดการแปลความหมายลักษณะจริงของภูมิประเทศที่มีความถูกต้องยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ การประยุกต์ใช้แผนที่ในลักษณะอื่นยังจำเป็นมากขึ้นในยุคปัจจุบัน เนื่องจากแผนที่เป็นการแสดงข้อมูลเชิงพื้นที่ และกิจกรรมใดๆ ก็ตามที่มีการดำเนินการบนพื้นที่แล้ว สามารถที่จะแสดงลงบนแผนที่ เพื่อก่อให้เกิดการใช้งานที่ตรงตามลักษณะข้อมูล จึงทำให้การใช้แผนที่มีความกว้างขวาง กับการใช้งานที่มีลักษณะเป็นเฉพาะมากขึ้น ได้แก่ แผนที่การกระจายตัวของผู้ป่วยโรคมะเร็งปอด หรือแผนที่แสดงที่ตั้งและการประกอบธุรกิจการในพื้นที่ศึกษาริมถนนสุเทพ เป็นต้น จึงเห็นได้ว่าการใช้งานแผนที่มีความหลากหลาย และนำไปประยุกต์ใช้กับสาขาวิชาอื่นไม่เฉพาะแต่ทางภูมิศาสตร์ อุตุนิยมวิทยา หรือธรณีวิทยาเท่านั้น แต่รวมถึงการแพทย์ สิ่งแวดล้อม ตลอดจนสังคมสงเคราะห์

การอ่านและการใช้แผนที่ในภูมิประเทศนั้น มีอยู่สองลักษณะด้วยกัน คือแบบสกัดตรง และแบบสกัดกลับ การหาตำแหน่งแบบการสกัดตรงเป็นการใช้แผนที่เพื่อหาตำแหน่งที่ตั้งของจุดสังเกตการณ์ 2 แหล่ง ส่วนการสกัดกลับเป็นการหาตำแหน่งของผู้ใช้แผนที่เองตามการอ้างอิงจากจุดสังเกตการณ์ การสกัดตรงและสกัดกลับต่างมีวิธีอยู่ 2 แบบ คือการใช้เข็มทิศกับไม้โปรแทรกเตอร์ และแบบเส้น หรือแบบกราฟิก

  1. การทำแผนที่

การทำแผนที่ เป็นการแสดงข้อมูลภูมิศาสตร์โดยเลือกใช้สัญลักษณ์ที่เหมาะสมกับข้อมูล จึงต้องมีการออกแบบเพื่อสื่อสารข้อมูลเชิงพื้นที่ให้ตรงกับสภาพจริงมากที่สุด แผนที่จัดเป็นเอกสารที่มีความสำคัญทางวิชาการสามารถนำไปใช้เป็นเครื่องมือในการทำวิจัยแสดงผลการวิจัย และใช้สื่อสารข้อมูล การออกแบบแผนที่ที่ดีควรออกแบบให้ชัดเจน ไม่แสดงข้อมูลมากเกินความจำเป็น เพื่อให้สังเกตและดึงข้อมูลสำคัญได้อย่างรวดเร็ว และสามารถจดจำลักษณะของข้อมูลบนแผนที่ได้ง่าย

การออกแบบแผนที่ประกอบด้วยหลักการออกแบบ คือ ภาพ-พื้น ความสมดุลเชิงทัศน์ ความเปรียบต่างและลำดับศักดิ์เชิงทัศน์ ขั้นตอนเชิงปฏิบัติของการออกแบบแผนที่ เริ่มจากการกำหนดสื่อที่ใช้นำเสนอ เช่น แผนที่บนสื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือใช้สื่อสิ่งพิมพ์ เลือกมาตราส่วน ชนิดของเส้นโครงแผนที่ วิเคราะห์เนื้อหาแผนที่ และเลือกสัญลักษณ์ให้เหมาะสมกับวัตถุประสงค์แผนที่ จากนั้นจึงจัดวางองค์ประกอบแผนที่ เช่น เนื้อหาแผนที่ ชื่อหลัก ชื่อรอง สัญลักษณ์ทิศทาง โดยใช้หลักเกณฑ์ตามหลักการออกแบบแผนที่ เมื่อออกแบบเรียบร้อยแล้วให้จัดพิมพ์ต้นร่างเพื่อตรวจสอบความสมบูรณ์ในการออกแบบ และควรเสนอต่อผู้ใช้แผนที่ให้ร่วมตรวจสอบด้วย

 

ที่มา : ตำราเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศศาสตร์

Copyright © 2018 LEARN : อาณาจักรภูมิสารสนเทศ อาณาเขตแห่งการเรียนรู้

LEARN

404 Not Found

404

Not Found

The resource requested could not be found on this server!


Proudly powered by LiteSpeed Web Server

Please be advised that LiteSpeed Technologies Inc. is not a web hosting company and, as such, has no control over content found on this site.