ข้อมูล (Data) : มาตรฐานระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์คืออะไร? (What is GIS standard?)

มาตรฐานระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ หมายถึง มาตรฐานที่ใช้ได้กับข้อมูลภูมิศาสตร์หรือข้อมูลเชิงพื้นที่(Geographic data or Spatial data) คำนิยามที่ง่ายและได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางของข้อมูลภูมิศาสตร์ คือ ข้อมูลที่สามารถอ้างอิงเชิงพื้นที่ได้ (Spatially referenced data) ด้วยคำจำกัดความเช่นนี้ ข้อมูลภูมิศาสตร์จะต้องสามารถแสดงให้เห็นได้บนพื้นผิว (Surface) ของโลกโดยมีจุดพิกัดอ้างอิงได้ (เช่น เส้นรุ้ง เส้นแวง เป็นต้น)

โดยปกติแล้ว ข้อมูลภูมิศาสตร์ประกอบด้วยองค์ประกอบ 4 อย่าง คือ

– ตำแหน่งของสิ่งของ

– ความสัมพันธ์ของสิ่งของกับสิ่งที่อยู่ใกล้เคียง

– คำอรรถาธิบาย และ

– เวลาที่เกิดเหตุการณ์ต่างๆ ขึ้น

ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์เป็นระบบที่ได้รับการออกแบบมาเพื่อให้สามารถจัดการกับข้อมูลที่มีความซับซ้อนได้ เพราะฉะนั้นย่อมเป็นที่เข้าใจได้ว่าเกือบทุกระบบของระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ ใช้ข้อมูลเฉพาะอย่างรวมทั้งรูปแบบ (Format) เพื่อให้สามารถใช้ได้กับข้อมูลภูมิศาสตร์ที่มีความยุ่งยากและสลับซับซ้อนเป็นคุณสมบัติประจำตัวเสมอ ด้วยเหตุผลเช่นนี้เองการถ่ายทอดข้อมูลจากเครื่องมือชนิดหนึ่งไปสู่อีกชนิดหนึ่งจะทำได้โดยใช้ซอฟต์แวร์ที่พัฒนาขึ้นมาเป็นพิเศษ วิธีการเช่นนี้ทำให้ประสบปัญหามากมาย เช่น การสูญเสียค่าใช้จ่ายที่เป็นทั้งเงินและเวลาในการพัฒนาสิ่งเหล่านี้

ความพยายามในระยะแรกของการที่จะพัฒนามาตรฐานสารสนเทศภูมิศาสตร์เป็นทั้งสิ่งที่ท้าทายและได้รับการต่อต้านด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้

– การมีความเข้าใจที่ไม่เหมือนกันในการยอมรับเอาแบบจำลองข้อมูลชนิดที่เป็นของร่วมกัน และคำนิยามของแบบจำลองข้อมูลเชิงพื้นที่ที่ใช้โดยกลุ่มผู้ขายต่างๆ ก็แตกต่างกันออกไป ดังนั้น ข้อตกลงร่วมกันเรื่องโครงสร้างของข้อมูลเชิงพื้นที่ก็ไม่เกิด

– ไม่มีระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ ที่มีอยู่ในท้องตลาดใดๆ ที่จะสามารถประยุกต์ใช้ได้ในทุกกรณีในความเป็นจริงแล้วความเป็นไปได้ในการประยุกต์ใช้ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์เชิงสหสาขา (Multidisciplinary) นั้นมีมากมาย ทำให้มีข้อมูลและรูปแบบของการปฏิบัติการของระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์มากมาย ให้มีความยุ่งยากในการที่จะสร้างมาตรฐานอย่างหนึ่งขึ้นมาให้ใช้ได้กับระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ทุกรูปแบบ

– ส่วนใหญ่พบว่าเมื่อพูดถึงมาตรฐานสารสนเทศภูมิศาสตร์นั้น หมายถึง มาตรฐานของการประยุกต์ใช้งาน ตัวอย่างเช่น ปัญหาในการจัดทำฐานข้อมูลระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ ระดับภูมิภาคเป็นเรื่องของการจำแนก(Classification) ข้อมูล และเป็นการให้คำจำกัดความ (Definition fields) เป็นจำนวนไม่น้อยเลย เป็นต้นว่าการจำแนกดิน หรือการจำแนกการใช้ที่ดินก็มีรูปแบบที่ต่างกันออกไปในประเทศต่างๆ กัน เมื่อผนวกสิ่งเหล่านี้เข้ากับเรื่องของภาษาพูดและภาษาเขียนที่แตกต่างกันออกไปแล้ว มาตรฐานสารสนเทศภูมิศาสตร์จึงไม่มีปัญหา แต่ก่อนที่จะมีการริเริ่มก็ตามเพื่อให้เกิดความเข้าใจยิ่งขึ้น การพิจารณาลักษณะและธรรมชาติของสารสนเทศภูมิศาสตร์อาจให้ความกระจ่างขึ้นได้

1. สารสนเทศภูมิศาสตร์ (Geographic information)

ความหมายโดยกว้างๆ ของสารสนเทศภูมิศาสตร์ หมายถึง สารสนเทศใดๆ ที่สามารถจัดทำดัชนีโดยการแสดงเชิงภูมิศาสตร์ได้ (Indexed by geographic descriptor) ตัวแสดงเชิงภูมิศาสตร์ (Geographic descriptor)ที่ว่านี้ คือ ระบบจุดพิกัดซึ่งกำหนดค่าตำแหน่งของวัตถุต่างๆ บนโลกได้ ทั้งแบบสัมบูรณ์ (Absolute) และแบบสัมพันธ์ (Relative)

สารสนเทศภูมิศาสตร์ประกอบไปด้วยองค์ประกอบที่เกี่ยวข้องกัน 4 ประการ คือ

– ตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ (Geographic position)

– ความสัมพันธ์เชิงพื้นที่ (Spatial relationship)

– ข้อมูลอรรถาธิบาย (Attributes)

– เวลาที่เหตุการณ์เหล่านั้นเกิดขึ้น (Temporal representation)

ตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ หมายถึง ระบบจุดพิกัด (Coordinate system) เช่น ละติจูด หรือลองจิจูดตามที่ใช้กันอยู่ในภูมิภาคต่างๆ

ความสัมพันธ์เชิงพื้นที่นั้น หมายถึง ความสัมพันธ์ของข้อมูลเชิงพื้นที่ที่มีซึ่งกันและกันตามระบบทอพอโลยีที่ใช้กัน ตัวอย่างเช่น ความสัมพันธ์ระหว่างจุด เส้น และพื้นที่ หรือพื้นที่ต่างๆ ซึ่งเป็นรูปแบบของข้อมูลแผนที่ในระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์

ข้อมูลเชิงอรรถาธิบายจะสามารถบอกเกี่ยวกับข้อมูลภูมิศาสตร์หรือข้อมูลเชิงพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง ข้อมูล เชิงอรรถาธิบายและข้อมูลเชิงพื้นที่จะต้องมีการเชื่อมโยง (Link) กันอย่างเป็นระเบียบภายในฐานข้อมูลระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์

มาตรฐานสารสนเทศภูมิศาสตร์ จะต้องสามารถรองรับองค์ประกอบทั้ง 4 ที่กล่าวข้างต้นของข้อมูลภูมิศาสตร์ เพื่อความคงเส้นคงวาและคุณภาพของการแลกเปลี่ยนข้อมูล พร้อมด้วยการใช้งานร่วมกันได้ของระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์

2. องค์ประกอบของมาตรฐานสารสนเทศภูมิศาสตร์ (Components of a GIS standard)

แม้ว่าองค์ประกอบของมาตรฐานภูมิศาสตร์ที่แตกต่างกันจะแตกต่างกันก็ตาม แต่ก็ยังมีส่วนที่น่าจะพิจารณาร่วมกันซึ่งพบอยู่ในมาตรฐานที่มีอยู่แล้วและที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต เราจะใช้ตัวอย่างของกรณีของสหรัฐอเมริกาเป็นตัวอย่างเพื่อแสดงให้เห็นความเป็นมา นั่นคือในกรณีของ SDTS

SDTS ประกอบไปด้วย 3 ส่วนที่เห็นได้ชัด

– ข้อกำหนดตามแบบตรรกะ (Logical specifications)

– ลักษณะเด่นเชิงพื้นที่ (Spatial features)

– การนำไปปฏิบัติให้ได้ผล (Implementation)

แต่ละส่วนมีความเกี่ยวข้องกัน แต่ค่อนข้างจะเป็นอิสระซึ่งแต่ละส่วนจะดำเนินการไปเพื่อการถ่ายทอดข้อมูลที่ต้องการ

1) ข้อกำหนดตามแบบตรรกะ

ในส่วนที่หนึ่งของ SDTS ซึ่งเกี่ยวกับข้อกำหนดตามแบบตรรกะ ใช้ในการถ่ายทอดข้อมูลโดยตรง และข้อกำหนดตามแบบตรรกะนี้ จะประกอบไปด้วย 5 ส่วน คือ

– ส่วนที่ 1 : บทนำ ประกอบไปด้วยรายละเอียดและขอบเขตของมาตรฐานความสอดคล้อง(Conformance) ข้ออ้างอิง และคำนิยาม (Reference and Definitions)

– ส่วนที่ 2 : หลักการของข้อมูลเชิงพื้นที่ (Spatial data records) บ่งบอกถึงแบบจำลองแนวความคิดของข้อมูลเชิงพื้นที่ ซึ่งจะเป็นพื้นฐานของมาตรฐานการถ่ายทอดข้อมูลเชิงพื้นที่ แบบจำลองแนวความคิดนี้ จะกำหนดรูปแบบไว้แบบทั่วไปกว้างๆ เพื่อรองรับได้กับแบบจำลองต่างๆ ของผู้ใช้แบบจำลองแนวความคิดของมาตรฐานการถ่ายทอดข้อมูลเชิงพื้นที่ยังประกอบไปด้วยอีก 3 ส่วน คือ

  • แบบจำลองที่ใช้อธิบายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในโลกของความเป็นจริง ซึ่งประกอบไปด้วยส่วนที่เกี่ยวข้องเชิงพื้นที่ พร้อมด้วยส่วนอรรถาธิบาย
  • แบบจำลองของวัตถุเชิงพื้นที่ (Spatial objects) ที่มีมิติในลักษณะต่างๆ เช่น เป็น 0 1 และ2 มิติ (Two-dimensional) ซึ่งแสดงรูปร่างของวัตถุในโลกของความเป็นจริง
  • แบบจำลองของการอรรถาธิบายความสัมพันธ์ของวัตถุเชิงพื้นที่กับเหตุการณ์เชิงพื้นที่ (Spatial objects and Spatial phenomena)

– ส่วนที่ 3 : คุณภาพของข้อมูล บ่งชี้ให้เห็นลักษณะเป็นรายงานเกี่ยวกับคุณภาพของข้อมูล เพื่อให้ผู้ใช้ได้ประเมินความเหมาะสมในการนำมาใช้ในเรื่องของคุณภาพข้อมูลนั้น จะแบ่งย่อยออกไปได้อีกถึง 5 ส่วน คือ

  • แหล่งกำเนิด หรือแหล่งที่มา (Lineage)
  • ความถูกต้องเชิงตำแหน่ง (Positional accuracy)
  • ความถูกต้องเชิงอรรถาธิบาย (Attribute accuracy)
  • ความคงเส้นคงวาเชิงตรรกะ (Logical consistency)
  • ความครบถ้วนสมบูรณ์ (Completeness)

– ส่วนที่ 4 และส่วนที่ 5 : เป็นส่วนที่บ่งชี้ถึงการถ่ายทอดข้อมูลที่เป็นมาตรฐาน ของมาตรฐานการถ่ายทอดข้อมูลเชิงพื้นที่ ส่วนที่ 4 ประกอบด้วยหลักการทั่วไป และข้อกำหนดที่เกี่ยวกับมอดูล (Module) ต่างๆ ในส่วนที่ 5 มีการสร้างรูปแบบของการถ่ายทอดข้อมูล และมีการแสดงข้อกำหนดของชุดการถ่ายทอดข้อมูลด้วย การถ่ายทอดข้อมูลตามมาตรฐานการถ่ายทอดข้อมูลเชิงพื้นที่ ทำเป็นมอดูล ซึ่งประกอบด้วย ระเบียน เขตข้อมูลและเขตข้อมูลย่อยต่างๆ ในมาตรฐานการถ่ายทอดข้อมูลเชิงพื้นที่ มีทั้งหมด 34 มอดูล ซึ่งมีรายละเอียดของเขตข้อมูลและเขตข้อมูลย่อยซึ่งแสดงสารสนเทศหลากชนิด เป็นต้นว่า คุณภาพข้อมูลระดับโลก รูปลักษณ์ที่เด่น และพจนานุกรมข้อมูลเชิงพื้นที่ พิกัดอ้างอิง วัตถุเชิงพื้นที่ ข้อมูลเกี่ยวกับคำอรรถาธิบาย และสัญลักษณ์ต่างๆ

2) คำนิยามของลักษณะเด่นเชิงพื้นที่ (Definition of spatial features)

ส่วนนี้ของมาตรฐานมีวัตถุประสงค์เพื่อตอบสนองความต้องการของการที่จะต้องมีคำนิยามร่วมกันและสอดคล้องกันของลักษณะเด่นเชิงพื้นที่ (Spatial features) ในกระบวนการของการถ่ายทอดข้อมูล แบบจำลองที่เป็นพื้นฐานพร้อมด้วยคำนิยามจะใช้เป็นรากฐานของการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านแผนที่เชิงเลขที่มีอยู่ ลักษณะข้อมูลเชิงพื้นที่และคำอรรถาธิบายพร้อมด้วยคำนิยาม คำนิยามของลักษณะเชิงพื้นที่มีประมาณ 2,600 คำ ซึ่งแบ่งออกเป็นผู้ใช้ 200 ชนิด คำอรรถาธิบาย จำนวน 244 ชนิด และคำศัพท์ต่างๆ 1,200 ชนิด ส่วนนี้ของมาตรฐานประกอบด้วยคำนำ และส่วนที่รวมอยู่ในแบบจำลองแนวความคิด ขอบเขต และสาขาการประยุกต์ใช้ ความสัมพันธ์กับมาตรฐานอื่นๆ ข้ออ้างอิงความสอดคล้องและสถานภาพปัจจุบัน ฯลฯ

3) การเริ่มนำเอามาตรฐานไปใช้ (Implementation)

ในขณะที่ส่วนที่ 1 และส่วนที่ 2 ของมาตรฐานการถ่ายทอดข้อมูลเชิงพื้นที่ ได้เกี่ยวข้องกับมาตรฐานในระดับเชิงตรรกะและเชิงแนวความคิด และส่วนที่ 3 กล่าวถึงการนำมาตรฐานมาใช้จริงด้านกายภาพ โดยใช้มาตรฐาน ISO 8211 ที่มีอยู่ ส่วนที่ 3 นี้ จะบอกถึงการที่เขตข้อมูลและเขตข้อมูลย่อยในมาตรฐานการถ่ายทอดข้อมูลเชิงพื้นที่จะปรับเข้าสู่ ISO 8211 ได้อย่างไร

มาตรฐาน ISO 8211 (รู้จักกันในนามของ ANSI/ISO 8211 และ FIPS 123) เป็นรูปแบบทั่วไปของการแลกเปลี่ยนข้อมูลทุกชนิดไม่เฉพาะแต่ข้อมูลเชิงพื้นที่เท่านั้น ISO 8211 สามารถดำเนินการหรือหาวิธีดำเนินการในการถ่ายทอดข้อมูล และคำจำกัดความระหว่างระบบคอมพิวเตอร์ที่ไม่เหมือนกัน แต่ผู้ใช้จะต้องให้คำจำกัดความและความหมายของแต่ละรายการของข้อมูลที่ต้องการ มาตรฐานการแลกเปลี่ยนข้อมูลเชิงพื้นที่ ถือได้ว่าเป็นผู้ใช้มาตรฐาน ISO 8211 เนื่องจากมาตรฐานการแลกเปลี่ยนข้อมูลเชิงพื้นที่ออกแบบมาเพื่อให้ส่วนที่ 1 และส่วนที่ 2 เป็นอิสระจากส่วนที่ 3 ดังนั้น มาตรฐานการแลกเปลี่ยนข้อมูลเชิงพื้นที่ สามารถเปลี่ยนแปลงหรือดัดแปลงส่วนที่ 3 ให้ปรับใช้รูปแบบที่แตกต่างจากของ ISO 8211 ถ้าจำเป็น โดยไม่มีผลกระทบใดๆ กับส่วนที่ 1 และส่วนที่ 2

 

ที่มา : ตำราเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศศาสตร์

Copyright © 2018 LEARN : อาณาจักรภูมิสารสนเทศ อาณาเขตแห่งการเรียนรู้

LEARN

404 Not Found

404

Not Found

The resource requested could not be found on this server!


Proudly powered by LiteSpeed Web Server

Please be advised that LiteSpeed Technologies Inc. is not a web hosting company and, as such, has no control over content found on this site.