ภาพเมื่อวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2560
มีหลายเหตุการณ์ได้เกิดขึ้น ณ คาบสมุทรแอนตาร์กติก (Antarctic Peninsula) ภายใต้คืนมืดที่ปกคลุมไปด้วยน้ำแข็งขั้วโลกในปี 2560 นั่นคือ “การหลุดตัว” (calving) ของภูเขาน้ำแข็งขนาดใหญ่ (iceberg) จากหิ้งน้ำแข็งลาร์เซน ซี (Larsen C ice shelf) ในเดือนกรกฎาคม นักวิทยาศาสตร์ต้องอาศัยข้อมูลที่พิจารณาทั้งจากด้านอุณหภูมิและจากเรดาร์ เพื่อสังเกตรอยแตกแยกและเพื่อเฝ้าดูการเคลื่อนตัวที่จะตามมาในภายหลังของก้อนน้ำแข็ง
กระทั่งในเดือนสิงหาคม นักวิทยาศาสตร์ได้รับภาพของภูเขาน้ำแข็งก้อนใหม่ที่แสงอาทิตย์ส่องถึงเป็นครั้งแรก ซึ่งศูนย์สังเกตการณ์สภาพน้ำแข็งแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา (US National Ice Center) ตั้งชื่อว่า A-68 เครื่องวัดความละเอียดในระดับปานกลาง (MODIS) บนดาวเทียม Terra ขององค์การนาซา ได้จับภาพมุมกว้างของภูเขาน้ำแข็งนี้ในวันที่ 11 กันยายน และอีกหลายวันต่อมาในวันที่ 16 กันยายน อุปกรณ์บันทึกข้อมูล Operational Land Imager (OLI) และ Thermal Infrared Sensor (TIRS) บนดาวเทียมสำรวจทรัพยากรธรรมชาติแลนด์แซท 8 (Landsat 8)ได้จับภาพรายละเอียดของภูเขานี้ได้อีก
ภาพด้านซ้ายมือ แสดงภูเขาน้ำแข็งในลักษณะที่เป็นภาพสีผสมจริงตามธรรมชาติของมัน จะเห็นร่องรอยการแตกแยกของก้อนภูเขาน้ำแข็งหลักและหิ้งน้ำแข็งขยายกว้างออก ในขณะที่ก้อนเมฆที่อยู่เหนือไปทางตะวันออกได้ฉายเงาลงบนภูเขาน้ำแข็ง ส่วนภาพด้านขาวมือ เมื่อพิจารณาจากข้อมูลด้านอุณหภูมิ แสดงพื้นที่เดียวกัน แต่ในลักษณะภาพสีผสมเท็จ สังเกตได้ว่าก้อนเมฆเหนือหิ้งน้ำแข็งไม่ได้แสดงอะไรเหมือนเช่นที่ภาพจากอุณหภูมิแสดงออกมา เป็นเพราะว่ามันมีอุณหภูมิเดียวกันกับหิ้งน้ำแข็งเลย ภาพที่พิจารณาจากอุณหภูมิจึงมีข้อดีคือ สามารถแสดงขอบเขตที่เป็นจุดสิ้นสุดของบริเวณน้ำแข็งที่เย็นกว่า กับจุดเริ่มต้นของน้ำที่อุ่นในทะเล Weddell (Weddell Sea) นอกจากนี้ยังสามารถบ่งชี้ความแตกต่างของความหนาของน้ำแข็งได้ด้วย ตัวอย่างเช่น “me’lange” มีความหนากว่า (ซึ่งแสดงสัญญาณที่เย็นกว่า) น้ำแข็งฟราซิล (frazil ice) แต่มีความบางกว่า (ซึ่งแสดงสัญญาณที่อุ่นกว่า) หิ้งน้ำแข็งและภูเขาน้ำแข็ง
ภาพข้างล่างต่อไปนี้ แสดงความบางของชิ้นน้ำแข็งฟราซิล (ซึ่งไม่สามารถต้านทานกระแสลม กระแสน้ำขึ้นน้ำลงได้มากนัก) และแสดงแนวโน้มการเคลื่อนที่ของภูเขาน้ำแข็งก้อนใหญ่นี้ ที่ห่างออกจากหิ้งน้ำแข็งลาร์เซน ซี (Larsen C)
ในช่วงหลายสัปดาห์ของการสังเกตการณ์ นักวิทยาศาสตร์ได้พบการขยายของรอยแตกระหว่างภูเขาน้ำแข็งกับหิ้งน้ำแข็งที่กว้างออกไปมากขึ้น การขยายตัวออกอย่างช้า ๆ นี้ เกิดขึ้นหลังจากการเริ่มเคลื่อนตัวไปมาในเดือนกรกฎาคม ส่งผลให้ภูเขาน้ำแข็งหลักนี้ แตกออกเป็น 2 ก้อนใหญ่ ๆ ซึ่งศูนย์สังเกตการณ์สภาพน้ำแข็งแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา (US National Ice Center) ตั้งชื่อให้ว่า A-68A และ A-68B ยังคงเกิดการแตกออกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยอีกมาก ที่เล็กเกินกว่าจะตั้งชื่อให้
ภาพเมื่อวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2560
หนึ่งในชิ้นภูเขาน้ำแข็งที่ไม่สามารถตั้งชื่อให้ได้นี้ (รายละเอียดตามที่แสดงรูปด้านบน) ได้เคยเคลื่อนตัวไปตามแนวแตกนี้ ขึ้นไปทางเหนือ จะสังเกตได้ว่าขอบของชิ้นภูเขาน้ำแข็งมีความแหลมคมกว่าขอบของ A-68A แต่ด้วยการปะทะกันของน้ำแข็งและด้วยแรงดึงดูดของโลก ทำให้ขอบแหลมเหล่านี้ ถูกลบจนเป็นกลมมน และสำหรับชิ้นที่เล็กกว่า เมื่อถูกปะทะติดต่อกันจะถูกเปลี่ยนรูปร่างเลย
ที่มาบทความ : บทความโดย Kathryn Hansen บันทึก : เมื่อวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2560 ภาพโดย : Joshua Stevens, ใช้ข้อมูลจากดาวเทียม Landsat
สืบค้นจาก : https://earthobservatory.nasa.gov/IOTD/view.php?id=91052&eocn=home&eoci=iotd_grid