การอ่านแผนที่ : การอ่านและการใช้แผนที่ในภูมิประเทศ

  1. การจัดแผนที่ให้ถูกทาง (Map orientation)

ขั้นแรกของการนำแผนที่ไปใช้ในภูมิประเทศก็คือ การจัดแผนที่ให้ถูกทางซึ่งการจัดแผนที่นี้มีความสำคัญอย่างมาก ในการกำหนดทิศทางที่ถูกต้องสำหรับการอ่านแผนที่ และนำแผนที่ไปใช้เพื่อหาตำแหน่งต่างๆ บนภูมิประเทศได้อย่างถูกต้อง การจัดแผนที่ให้ถูกทางทำได้ง่ายโดยการใช้เข็มทิศวางบนเส้นกริดในแผนที่ ให้แนวเหนือ-ใต้ของเข็มทิศทาบกับเส้นกริดพอดี เมื่อลูกศรชี้ไปทางทิศเหนือจึงแปลว่าทิศที่แผนที่หันไปนั้นเป็นทิศเหนือในภูมิประเทศจริงเช่นกัน อย่างไรก็ตามถ้าหากต้องการความละเอียดของงานมากกว่านี้ ก็สามารถปรับแก้ทิศได้จากการเทียบทิศเหนือกริดกับทิศเหนือแม่เหล็กที่ระบุไว้นอกขอบระวางแผนที่ เนื่องจากทิศเหนือที่เราใช้จริงนั้นเป็นทิศเหนือแม่เหล็กแต่ทิศเหนือในแผนที่นั้นคือทิศเหนือกริด

  1. การหาตำแหน่งโดยวิธีสกัดกลับ (Resection)

การสกัดกลับเป็นวิธีการกำหนดตำแหน่งโดยต้องมีเป้าหมายเด่นๆ ของภูมิประเทศที่ทราบตำแหน่งแล้วอย่างน้อย 2 แห่งหรือมากกว่า การสกัดกลับสามารถทำได้หลายวิธี เช่น การสกัดกลับโดยใช้เข็มทิศและไม้โปรแทรกเตอร์ และการสกัดกลับด้วยวิธีกราฟิก

– การสกัดกลับโดยใช้เข็มทิศและไม้โปรแทรกเตอร์ วิธีนี้ทำได้โดยเลือกเป้าหมายเด่นๆของภูมิประเทศที่ปรากฏชัดเจนในแผนที่ และอยู่ห่างกันพอที่จะสร้างมุมได้ โดยมีผู้สังเกตเป็นจุดยอดของมุมนั้น แล้วใช้เข็มทิศเล็งไปยังเป้าหมายทั้งสองทำการบันทึกค่ามุมแอซิมัทแม่เหล็ก (Magnetic azimuth) แล้วใช้ไม้โปรแทรกเตอร์วัดค่ามุมแอซิมัทกลับ (Back azimuth) ณ เป้าหมายทั้งสอง ลากแขนของมุมทั้งสองมาตัดกัน จุดที่เส้นทั้งสองตัดกันคือตำแหน่งของผู้สังเกต

 

ภาพ การสกัดกลับโดยใช้เข็มทิศและไม้โปรแทรกเตอร์ ที่มา : สรรค์ใจ กลิ่นดาว (2531)
ภาพ การสกัดกลับโดยใช้เข็มทิศและไม้โปรแทรกเตอร์ ที่มา : สรรค์ใจ กลิ่นดาว (2531)

 

– การสกัดกลับโดยการแสดงด้วยวิธีกราฟิก วิธีนี้ไม่ต้องวัดมุม แต่ใช้การเล็งด้วยไม้บรรทัดหรือไม้เล็งอื่นๆ มีวิธีการปฏิบัติดังนี้โดย กางแผนที่ออกวางให้ถูกทิศทาง สังเกตหาเป้าหมายที่เด่นชัดอย่างน้อย 3 เป้าหมาย ในภูมิประเทศ และต้องเป็นเป้าหมายที่ปรากฏในแผนที่ด้วย สมมติให้ตำแหน่ง A B และ C ในภูมิประเทศซึ่งปรากฏอยู่ในแผนที่ a b และ c ตามลำดับ ตำแหน่งทั้งสองควรจะมีง่ามมุมไม่เกิน 90 องศา จากตำแหน่งผู้สังเกต

3. การหาตำแหน่งโดยวิธีสกัดตรง (Intersection)

การสกัดตรง เป็นวิธีการกำหนดตำแหน่งของที่หมายใดๆ ในภูมิประเทศลงในแผนที่ โดยต้องมีเป้าหมายที่ทราบตำแหน่งแล้วอย่างน้อย 2 แห่ง การสกัดตรงทำได้ดังนี้ การสกัดตรงโดยใช้เข็มทิศและไม้โปรแทรกเตอร์วิธีการปฏิบัติ ดังนี้

– เลือกตำแหน่งของผู้สังเกตที่เห็นเด่นชัด มีปรากฏตรงกันทั้งในแผนที่และในภูมิประเทศและเป็นตำแหน่งที่ลากเส้นตัดกันได้จากตำแหน่งที่ 1 เล็งเข็มทิศไปยังเป้าหมายแล้วบันทึกค่ามุมแอซิมัทที่วัดได้แล้วเดินไปยังตำแหน่งที่ 2 ทำเช่นเดียวกันกับครั้งแรก

– กางแผนที่ออก สร้างแนวทิศเหนือแม่เหล็กให้สัมผัสกับตำแหน่งที่ 1 แล้วใช้ไม้โปรแทรกเตอร์สร้างมุมแอซิมัท ทำเช่นเดียวกันกับตำแหน่งที่ 2 ลากแขนของมุมแอซิมัท จากตำแหน่งทั้งสองมาตัดกันก็จะได้ตำแหน่งเป้าหมายที่ต้องการ

– ส่วนการสกัดตรงโดยแสดงด้วยวิธีกราฟิก มีวิธีการปฏิบัติ ดังนี้

1) เลือกตำแหน่งของรายละเอียดในภูมิประเทศให้ตรงกับรายละเอียดตำแหน่งในแผนที่อย่างน้อย 2 แห่ง วางแผนที่ลงบนพื้นราบ จัดแผนที่ให้ถูกทิศทาง จากตำแหน่งที่ 1 ใช้ไม้บรรทัดเล็งให้ตรงไปยังเป้าหมาย ลากเส้นจากตำแหน่งสังเกตให้ตรงไปยังเป้าหมาย

2) จากตำแหน่งที่ 2 ใช้ไม้บรรทัดวางให้สัมผัสจุดที่ 2 เล็งให้ตรงไปยังเป้าหมายเดิมลากเส้นตรงจากจุดนี้ตรงไปยังเป้าหมาย ซึ่งจะไปตัดกับเส้นตรงที่ลากจากจุดแรก ณ จุดหนึ่งคือตำแหน่งของเป้าหมายนั่นเอง

ภาพการสกัดตรงโดยใช้เข็มทิศและไม้โปรแทรกเตอร์ ที่มา : สรรค์ใจ กลิ่นดาว (2531)
ภาพการสกัดตรงโดยใช้เข็มทิศและไม้โปรแทรกเตอร์
ที่มา : สรรค์ใจ กลิ่นดาว (2531)

 

ที่มา : ตำราเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศศาสตร์

Copyright © 2018 LEARN : อาณาจักรภูมิสารสนเทศ อาณาเขตแห่งการเรียนรู้

LEARN

404 Not Found

404

Not Found

The resource requested could not be found on this server!


Proudly powered by LiteSpeed Web Server

Please be advised that LiteSpeed Technologies Inc. is not a web hosting company and, as such, has no control over content found on this site.